โลว์คอสแอร์ครึ่งปีหลังแข่งดุ...ปรับแบรนด์แปลงโฉมกลยุทธ์เพียบ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ปฏิบัติการครึ่งปีหลังของการแข่งขันธุรกิจแอร์ไลน์ ด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลายออกมากระตุ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายสำหรับลูกค้าโดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่เริ่มปรับตัวสร้างแบรนด์เฉพาะขึ้นมาในภาวการณ์แข่งขันที่ร้อนแรง ก่อนที่จะเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในเชิงพาณิชย์ประมาณปลายเดือนกันยายนศกนี้

สถานการณ์การแข่งขันของสายการบินต้นทุนต่ำช่วงครึ่งปีหลังกลับมาเริ่มฮอตขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่สายการบินไทยแอร์ เอเชีย ประสบความสำเร็จในการจัดอีเว้นท์ของตัวเองขึ้นมาจนทำให้ยอดจองตั๋วของผู้โดยสารเต็มแบบถล่มทลายในช่วงโลว์ซีซัน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ซีอีโออย่าง ทัศพล แบเลเว็ลด์ ยอมรับว่าลูกค้าให้ความสนใจเป็นจำนวนมากจริงๆ

และเพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของสายการบินแห่งเอนเตอร์เทนเม้นท์ทำให้ ทัศพล กล้าประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าจะเป็นสายการบินแรกที่ให้บริการครอบคลุมในราคาโลว์คอสสำหรับคนเอเชียและแฟนคลับทั่วโลก

โดยล่าสุดกระโดดจับมือกับสถานีโทรทัศน์ AXN Asia ยูบีซีช่อง 19 จัดกิจกรรมร่วมสนุก เพียงเพื่อหวังตอกย้ำแบรนด์ และเรียกเก็บคะแนนความพอใจจากชาวเอเชีย โดยแพร่ภาพผ่านสื่อทั้งในประเทศไทย กรุงโซล สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ มะนิลา และกรุงเดลฮี

นอกจากนี้ยังมีโครงการ The Amazing Race Asia ที่มีกำหนดออกฉายใน 50 ประเทศทั่วเอเชีย ละตินอเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง และเครือข่ายทั่วโลก ว่ากันว่างานนี้ไทยแอร์เอเชีย หวังผลมากที่สุด

บางกอกแอร์เวย์ สานฝันเป็น “เอเชีย บูทิค แอร์ไลน์”

ขณะเดียวกัน การมีสนามบินเป็นของตัวเองภายในประเทศถึง 3 แห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สมุย สุโขทัย และ ตราดของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ นับเป็นจุดแข็งสำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาดที่คู่แข่งขันยากนักที่จะเข้าถึงเนื่องจากแต่ละแห่งของสนามบินจะตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างกันและมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ทำให้ผู้บริหารอย่างนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ บิ๊กบอสของค่ายบางกอกแอร์เวย์ ต้องกำหนดตัวเองวางไว้เสมือนว่าเป็น “เอเชีย บูทิค แอร์ไลน์”ขึ้นมา หวังเพียงว่าจะสามารถสร้างแบรนด์ให้นักท่องเที่ยวจดจำว่าถ้าคิดจะเดินทางท่องเที่ยวเส้นทางภายในประเทศโดยเฉพาะภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคเหนือตอนล่างก็จะนึกถึงทันทีซึ่งในช่วงโลว์ซีซันก็มีโปรโมชั่นออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกันทั้งเส้นทางบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ล่าสุดเริ่มแล้วมีการจัดโปรโมชั่นพิเศษวันแม่สู่เมืองเพื่อนบ้านราคาต่อสองท่านเริ่มต้นที่ 15,900 บาทภายใต้ชื่อ “ไหว้พระพร้อมแม่”สามวันสองคืนสู่สามเมืองมรดกโลก ได้แก่เสียมราฐ หลวงพระบาง และย่างกุ้ง และจะมีไปจนถึง 30 กันยายนศกนี้

“โอเรียท์ไทย” ปรับทัพรับศึกแอร์ไลน์

มนัสนันท์ ตันติประสงค์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของสายการบิน โอเรียนท์ ไทย กล่าวว่า สำหรับในส่วนของแผนการตลาดครึ่งปีหลังจากนี้ไป บริษัทฯจะเน้นให้ความสำคัญกับการทำตลาดเส้นทางในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเปิดให้บริการในเส้นทางบินใหม่ กรุงเทพฯ-ขอนแก่น-กรุงเทพฯแล้ว และตั้งเป้าใช้งบประมาณส่วนนี้ไว้ประมาณ 8-10% ของรายได้ จากปีก่อนจะใช้งบการตลาดเพียง 5-6% ของรายได้เท่านั้น โดยจะใช้ทำกิจกรรม บีโลว์เดอะไลน์ เน้นเข้าตรงถึงตัวลูกค้าเป้าหมาย และการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ๆที่เล็งไว้และเตรียมที่จะเปิด ได้แก่ พิษณุโลก กระบี่ และ นครศรีธรรมราช

นอกจากนั้นยังขยายช่องทางจำหน่ายตั๋วและนำเสนอสินค้าใหม่ ให้ครอบคลุม แต่ละกลุ่มเป้าหมาย เป็นการขยายฐานลูกค้า ล่าสุด บริษัทเตรียมเปิดตัว บัตร CFU การ์ด โดยบัตรนี้จะจับ 3 กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ คอร์ปอเรท ครอบครัว และกลุ่มมหาลัย ซึ่งในที่นี้ จะรวมทั้งอาจารย์ นิสิต นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ของสถาบันการศึกษา

“CFU การ์ด เป็น บัตรสมาชิก ที่ไม่ระบุชื่อผู้ถือ เพียงแต่แสดงบัตรประจำตัวขององค์กรที่สังกัดอยู่ก็สามารถมีสิทธิ์ใช้บริการได้ ส่วนราคาสมาชิก CFU การ์ด จะอยู่ที่ ใบละ 17,000-19,500 บาท แล้วแต่จังหวัดที่จะเดินทางไป บัตรมีอายุ 1 ปี โดยบัตรหนึ่งใบจะเป็นราคาสำหรับ 10 เที่ยว แต่สามารถเดินทางได้ 11 เที่ยว ตรงนี้จึงถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่ง ของการมอบความสะดวกให้ลูกค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาสะสมไมล์ ตั้งเป้ายอดจำหน่ายเดือนแรกไว้ที่ 500-1,000 ใบ”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เปิดตัว “Ticket to Go” ตั๋วโดยสารสะดวกซื้อ มีจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น , บลิสเทลชอป ,ไทยทิกเก็ต มาสเตอร์ ,เจมาร์ท และเตรียมขยายไปที่ร้าน ไอโมบาย ส่วนอนาคตเตรียมเจรจาเปิดจำหน่ายที่ธนาคาร ซึ่งตรงนี้ ช่วยให้ วัน-ทู-โก มียอดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 10-20% จากเดิมที่ยอดจองล่วงหน้าของ วัน-ทู-โก จะมีไม่ถึง 5% ทั้งนี้เพราะ เราเป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่ขายตั๋วโดยสารราคาเดียวทุกที่นั่ง และไม่คิดค่าบริการกรณีเปลี่ยนแปลงวันเดินทาง จึงไม่ค่อยมีลูกค้าจองล่วงหน้า

ดันวัน-ทู-โก สร้างรายได้หลัก

มนัสนันท์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 1 ปีนับจากนี้ไป บริษัทฯจะสร้างฐานตลาดเส้นทางในประเทศให้แข็งแกร่งก่อน เพราะเห็นว่ากำลังซื้อตลาดในประเทศยังมีอยู่สูง และมีอีกหลายเดสสิเนชั่นที่น่าสนใจไปเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ โดยครึ่งปีหลังคาดผลประกอบการจะโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 40% ขณะที่ผลประกอบการรวมทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ 4,200 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยแบ่งเป็น 40% เป็นรายได้จาก วัน-ทู-โก อีก 60% เป็นรายได้จากโอเรียนท์ไทย ซึ่งบินในเส้นทางต่างประเทศ

แต่ปีหน้า คาดว่า รายได้จาก วัน-ทู-โก จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 60% และโอเรียนท์ไทยจะเป็น 40% เพราะบริษัทมีแผนขยายเส้นทางบินในประเทศอีกหลายเส้นทาง ล่าสุด เมื่อ กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เปิดเส้นทางบิน กรุงเทพ-ขอนแก่น ซึ่งตลาดตอบรับดี ซึ่งเราขอเป็นสายการบินที่เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสาร เพราะเส้นทางดังกล่าวมีการบินไทยเพียงรายเดียวที่บินอยู่ โดยราคา วัน-ทู-โกจะถูกกว่า การบินไทยประมาณ 400-500 บาทต่อเที่ยว

ปัจจุบัน โอเรียท์ไทย บินใน 2 ประเทศคือเกาหลีใต้ และ ฮ่องกง ส่วนการขยายเส้นทางไปประเทศอื่นอยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะต้องรอความพร้อมของฝูงบิน ที่จะเริ่มทยอยเข้ามาในสิ้นปีนี้ตามคำสั่งซื้อ และเช่าซื้อ อีกทั้งต้องมั่นใจในพันธมิตรทางการค้าก่อนลงทุน ส่วนเส้นทางในประเทศ บริษัทค่อนข้างมั่นใจจากผลตอบรับของลูกค้า ปัจจุบัน วัน-ทู-โก มีอัตราผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยว ราว 85% จาก 5 เดสติเนชั่น รวม 13 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งบินออกจากกรุงเทพ ไปยัง เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น หาดใหญ่ เชียงราย และสุราษฎร์ธานี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.