บางกอกแลนด์กับสมประสงค์กรุ๊ปต้องเร่งสร้างศรัทธาครั้งใหม่


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ประสงค์ พานิชภักดี กรรมการผู้จัดการบริษัทสมประสงค์แลนด์จำกัด (มหาชน) กับอนันต์ กาญจนพาสน์ กรรมการผู้จัดการบริษัทบางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) มีอะไรที่เหมือน ๆ กันหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่เกิดในไทย แต่ไปโตและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ฮ่องกงเมื่อลอดลายมักรจากเกาะฮ่องกงมาลงทุนที่เมืองไทยทั้งคู่จะมีสไตล์ และลีลาในการทำธุรกิจที่ค่อนข้างหวือหวาเปิดโครงการใหญ่ ใช้เงินลงทุนมาก กล้าเสี่ยงในการลงทุน และเป็นคนใจร้อย

อนันต์ปูพรมขึ้นโครงการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องหลายสิบโครงการ ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา โดยยึดโครงการในเมืองทองธานีบนถนนแจ้งวัฒนะเป็นจุดยุทธศาสตร์โครงการครูเมืองทอง โครงการคอนโดฯ เพื่อข้าราชการโครงการคอนโดอุตสาหกรรมและออฟฟิศคอนโดราคาแพงผุดขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อม ๆ กับการรุกคืบไปทำโครงการที่อยู่อาศัยในโครงการอื่น ๆ นอกหัวหากเดิมอีกด้วย เช่น บนถนนบางนาตราด ย่านประตูน้ำ และที่ศรีนครินทร์

ส่วนประสงค์เองก็เริ่มตะลุยโครงการที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2534 มีทั้งคอนโตมิเนียมและบ้านจัดสรร รวมทั้งรุกไปทำโครงการที่ประเทศจีนตอนใต้ด้วย ในปี 2535 ประสงค์ประกาศร่วมจะทำโครงการบ้านจัดสรรกับรัฐบาลจีนที่เมืองจุงซาน และเซินเจิ้นถึง 9 โครงการ

ไม่มีใครคาดคิดว่าโครงการที่ขายได้อย่างรวดเร็วกลับสร้างปัญหาให้ทั้ง 2 คนนี้อย่างมากมายในภายหลังภาพของตึกใหญ่น้อย ที่เรียงรายสลอนในโครงการเมืองทองธานีแจ้งวัฒนะหลายร้อยตึกกว่า 20,000 ยูนิต เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าอนันต์ทำได้ และทำจริง แต่เมือ่ถึงเวลาโอนกลับไม่มีคนมายอมโอน ทำให้ระบบทางการของบริษัทผิดพลาดส่งผลให้เงินหมุนเวียนที่จะไปทำโครงการอื่นล่าช้าไปด้วย ประกอบกับการเจอกับภาวะขาดแคลนผู้รับเหมา รวมทั้งการตัดสินใจขายโครงการเมืองทองธานี ศรีนครินทร์เร็วเกินไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทำให้หลายโครงการของอนันต์ที่เคยเปิดตัวอย่างอหังการ จึงได้หยุดสร้างไปแล้วอย่างเงียบ ๆ เช่น โครงการแกรนด์เมโทรคอนโดมิเนียมที่ประตูน้ำ โครงการเมืองทองธานีศรนครินทร์

เช่นเดียวกับประสงค์นอกจากประกาศขายโครงเทียนเชี๊ยง สมประสงค์พลาซ่าที่ดินเปล่าอีกหลายแปลงเพื่อพยุงฐานะบริษัท ยังล้มเลิกโครงการที่เมืองจีนหมดแล้วทุกโครงการ

ทั้งประสงค์และอนันต์มองการตลาดผิดพลาด เช่น เดียวกับนักลงทุนของธุรกิจนี้อีกหลาย ๆ คน ที่ไม่มีตัวเลขความต้องการที่อยู่อาศัยที่ถูกต้องมายืนยันการตัดสินใจในการลงทุนครั้งแรก การต่อลมหายใจของบริษัทด้วยการขายโครงการบางโครงการทิ้งเพื่อเอาเงินมาหมุนเวียน หรือการชะลอโครงการใหม่ รีบสร้างรีบโอนโครงการเก่า จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ เช่นเดียวกับบริษัทอื่น ๆ ที่กำลังจัดการอยู่ในขณะนี้

แต่ทั้ง 2 คนยังมีปัญหาหนักร่วมกันอีกเรื่อง คือปัญหาข้อร้องเรียนจากลูกค้าที๋ซื้อโครงการไปกับทางกองบังคับการสืบสวนและสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) และทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ทั้ง 2 มีแนวทางแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน

ดูเหมือนว่าอนันต์พร้อมที่จะเผชิญปัญหามากกว่าประสงค์ เมื่อต้นปี 2539 นั้น อนันต์เคยออกมายอมรับผิดกับลูกค้าว่าทั้งหมดเป็นความผิดของบริษัท และได้เสนอทางออกให้ลูกค้า 3 ทาง คือ 1. สามารถเลือกซื้อโครงการอื่น ๆ ของบริษัทได้โดยลดราคาให้ 5% หรือ 2. หากไม่ต้องการย้ายแปลงที่ดินแต่ต้อง การเงินผ่อนชำระคืนบริษัทก็ยินดีใช้เงินคืนให้ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยตามความเหมาะสม สุดท้าย 3.หากลูกค้าต้องการอาศัยในแปลงที่ดินเดิม ก็เปิดโอกาสให้เข้าไปอาศัยในโครงการเลควิลล์ ในเมืองทองธานีแจ้งวัฒนะแทนชั่วคราวจนกว่าโครงการเสร็จ แม้จะยังมีลูกค้าที่ไม่พอใจต่อข้อเสนอทั้ง 3 ข้อนี้แต่ก็ยังลดกระแสความรุนแรงของความรู้สึกได้ระดับหนึ่ง

และในเดือนเดียวกันนั้นอนันต์ก็ได้นัดให้ลูกค้าที่เลือกเอาเงินคืนมารับเช็คอย่างเป็นทางการที่โรงแรมเมอร์ริเคียว กรุงเทพฯ

ส่วนประสงค์ ถูกข้อกล่าวหาว่า 1. ทำหลักฐานทางบัญชีเท็จ และผู้บริหารมีพฤติกรรมเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ 2. ดำเนินโครงการแต่ไม่ได้รับอนุญาตจากรมที่ดิน และไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่แจ้งไว้ ข้อแรกนั้นประสงค์อาจจะโดนกลั่นแกล้งหรือมีความผิดจริง เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน แต่เรื่องที่ลูกค้าซื้อบ้านโดยผ่อนดาวน์หมดไปเป็นปีแล้วบ้านยังสร้างไม่เสร็จ หรือบางหลังสร้างเสร็จแล้วแต่โอนไม่ได้เพราะไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ประสงค์คอยหลบไปหลบมาไม่ยอมชี้แจงอย่างชัดเจนมานานแล้ว จนเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมาจนได้

วันนี้ทั้งประสงค์ และอนันต์ จึงเป็นบุคคลที่ล้มละลายไปแล้วในความรู้สึกของคนทั่วไป เพียงแต่ว่าวันเวลาที่เหลืออยู่เขาจะมีวิธีการที่จะกอบกู้ "ศรัทธา" กลับคืนมาได้อย่างไร



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.