ผู้ถือบัตรเครดิตลดใช้จ่าย-ยอมเป็นหนี้ วอนรัฐรอบคอบก่อนผลักสู่หนี้นอกระบบ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้ประกอบการเตือนยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตลด รัฐอย่างเพิ่งดีใจ เหตุยอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นแทน แถม NPL เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รับต้นทุนทำธุรกิจสูงขึ้นขณะที่รายได้ถูกคุม ส่งผล KTC กำไรหด วอนผ่อนชำระขั้นต่ำ 10% เหลือ 5% ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ดีกว่าไล่ให้ไปหาสินเชื่อนอกระบบ ที่ดอกเบี้ยและทวงหนี้โหด

ตัวเลขบัตรเครดิตครึ่งปีแรกที่ออกมา ธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าไม่มีอะไรน่ากังวล เนื่องจากการขยายตัวของบัตรเครดิตลดลง โดยในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2549 จำนวนบัตรเครดิตทั้งหมดเพิ่มขึ้น 4.71 แสนบัตรหรือ 4.7% แต่ปริมาณการใช้จ่ายรวมลดลง 8.4% นับเป็นการสะท้อนถึงความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน

นอกจากนี้ตัวเลขที่ไม่สร้างความกังวลให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อแยกลงไปจะพบว่ายอดเบิกเงินสดล่วงหน้าของบัตรเครดิตลดลง 7.9% และปริมาณการใช้จ่ายในประเทศลดลง 9.27% แต่อีกตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือยอดสินเชื่อคงค้างที่เพิ่มขึ้นถึง 9.7 พันล้านบาท หรือ 6.73% ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะต้องเหลียวมองถึงยอดที่เพิ่มขึ้นว่าสาเหตุนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

ใช้จ่ายลด-แต่หนี้เพิ่ม

การลดลงของยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้นเป็นผลมาจากภาวะทางเศรษฐกิจที่บีบรัดในขณะนี้ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้า และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างปรับเพิ่มขึ้น ผู้ถือบัตรก็ต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายเป็นธรรมดา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ถือบัตรเครดิตที่ออกโดยสถาบันการเงินในประเทศที่ใช้จ่ายลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น

ผู้ถือบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ของไทย มีการใช้จ่ายรวมลดลง 10.95% ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลง 15.7% และมีหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 2.2% เท่านั้น ขณะที่ผู้ถือบัตรเครดิตที่ออกโดยสาขาธนาคารต่างประเทศ ใช้จ่ายลดลง 5.89% แต่กลับมียอดเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นถึง 16.43% และมียอดสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้น 7.5%

ส่วนบัตรเครดิตที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือนอนแบงก์ ที่มีฐานลูกค้ารายใหญ่ที่สุด ยอดใช้จ่ายรวมลดลง 5.03% ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้น 12.23% และมีสินเชื่องคงค้างเพิ่มขึ้นถึง 9.76%

NPL เพิ่ม

สิ่งที่เกิดขึ้นจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ายอดใช้จ่ายโดยรวมลดลงก็จริง แต่ยอดสินเชื่อคงค้างกลับเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า ผู้ใช้บัตรเลือกที่จะถือครองเงินสดในมือมากขึ้น ยอมเสียดอกเบี้ยโดยจ่ายแบบผ่อนชำระหรือบางรายอาจไม่ผ่อนชำระเลย ส่วนผู้ประกอบการรายใดจะเจอปัญหาในลักษณะนี้มากน้อยเพียงใด ขึ้นกับความสามารถในการบริหารลูกหนี้ของแต่ละราย

"ตัวเลขที่เห็นนี้ชัดเจนว่าผู้ถือบัตรเลือกที่จะจ่ายน้อยลง ส่วนการยอมเป็นหนี้มากขึ้นนั้นตอบยากว่าเป็นเรื่องของความเต็มใจหรือไม่ แต่โดยทั่วไปไม่มีใครอยากเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น ยิ่งยอดสินเชื่อคงค้างมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น" ผู้ประกอบการรายหนึ่งกล่าว

หากพิจารณาจากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ของธนาคารซิตี้แบงก์ ที่เปิดเผยนั้น สิ้นปี 2548 มียอด NPL ที่ 5.17% และสิ้นเดือนมิถุนายน 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 5.61% หรือเพิ่มขึ้นมาเพียง 665 ล้านบาท แต่สิ่งที่เห็นนั่นก็คือ NPL ของผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลรายใหญ่รายหนึ่งเริ่มสูงขึ้นทุกขณะ

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอีกรายอย่างบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTC ที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ของปี 2549 ที่ออกมาลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจาก 160 ล้านบาทเหลือ 80 ล้านบาท เท่ากับกำไรหายไปกว่า 50% ส่วนกำไรสุทธิงวด 6 เดือนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 34.33%

ต้นทุนเพิ่ม

ปัญหาของผู้ประกอบการในเวลานี้คือเรื่องของต้นทุนในการดำเนินงาน เราได้เห็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ประมาณ 1% ปัจจุบันอยู่ที่ 4-5% ทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานของธุรกิจนี้พุ่งตามไปด้วย แต่รายได้เราถูกควบคุมไว้ที่ 18% สำหรับบัตรเครดิต และ 28% สำหรับสินเชื่อบุคคล แน่นอนว่าเมื่อส่วนต่างของรายได้ถูกจำกัดขณะที่ต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้นผลประกอบการย่อมต้องออกมาไม่ดีไม่ว่าจะเป็นรายใดก็ตาม

แม้ว่าขณะนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการยื่นแสดงต้นทุนในการประกอบธุรกิจไปให้พิจารณาแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอยู่ ไม่ทราบว่าจะได้รับการอนุญาตให้ปรับอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่

ขณะเดียวกันในเรื่องของการดำเนินงานของผู้ประกอบการระยะนี้ สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากขึ้นทุกขณะ เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ภาคประชาชนลดลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจกิจ ข้อเสนอเรื่องการลดภาระการผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% นั้นถูกเหมือนจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากทางการ

จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ทางการออกมาให้เหตุผลว่าเป็นการช่วยผู้ประกอบการมากกว่านั้น คงต้องมาพิจารณาว่าต้นทุนของผู้บริโภคย่อมเพิ่มขึ้นจริง แต่หากลดภาระการผ่อนชำระลงได้ครึ่งหนึ่ง เขาย่อมมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยได้มากกว่าเดิม ใช้ชีวิตได้ไม่เครียดจนเกินไป ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของมุมมองว่า เราจะมองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร

แน่นอนว่าผู้ประกอบการที่เรียกเก็บยอดชำระขั้นต่ำที่ 10% มาตั้งแต่แรกคงไม่มีปัญหาเท่าใด แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเห็นจะได้แก่กลุ่มที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เนื่องจากส่วนใหญ่ลูกค้าเดิมเปิดทางให้ผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 5% ได้ และในเดือนเมษายน 2550 ก็จะปรับยอดผ่อนชำระขั้นต่ำไปที่ 10% ทั้งหมด ตรงนี้แน่นอนว่ายอด NPL จะพุ่งขึ้นทันที ซึ่งตรงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบดี แต่ยังคงยึดเป้าหมายหลักคือการลดหนี้ภาคครัวเรือน

หากพิจารณาให้รอบด้านจะพบว่าหนี้ภาคครัวเรือนนั้นไม่ได้เกิดจากหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อบุคคลเพียงอย่างเดียว นโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนที่ทำให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ใช้บริการต้องทำตามเงื่อนไขใหม่ เช่น ผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 10% ท่ามกลางเศรษฐกิจเช่นนี้ เมื่อเขาไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็ต้องยอมผิดนัดชำระ

NPL ทั้งระบบจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หากผู้ประกอบการไม่สามารถอยู่ได้ ไม่ใช่แค่การปิดกิจการลงเท่านั้น เพราะที่มาของเงินที่ใช้ในการปล่อยสินเชื่อนั้นก็มาจากการกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินหรือออกหุ้นกู้ แล้วถามว่าปัญหานี้จะลามไปทั้งระบบหรือไม่

ที่สำคัญต้องเข้าใจพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ว่า เขาต้องใช้เงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยเพื่อการดำรงชีพ เมื่อในระบบไม่สามารถกู้ได้ เขาก็ต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ ซึ่งมีให้เลือกทั้งสินเชื่อใบปลิว ที่เสนอทางเลือกให้แลกกับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าผู้ให้บริการในระบบ หรืออาจต้องไปพึ่งพาผู้ให้กู้ที่เป็นบุคคล ซึ่งโหดทั้งดอกเบี้ยและวิธีการติดตามหนี้สิน แล้วเราจะเลือกให้คนไทยเดินไปในทางใด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.