สื่อทีวีคึก ธุรกิจโตสวนกระแสเห็นช่องสร้างกำไรระยะยาว


ผู้จัดการรายสัปดาห์(21 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

อุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ไตรมาส 2 กลับมาคึกคัก เอจีบี นีลสัน มีเดีย รายงานการเติบโตเพิ่มส่วนแบ่งเม็ดเงินในธุรกิจสื่อโดยรวม สูงถึง 61.2% เพิ่มจากส่วนแบ่งในไตรมาสแรกที่มีอยู่ 59.1% มีอัตราการเติบโต 13.6% จากไตรมาสแรก และเติบโต 9.7% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีก่อน ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์แจงตัวเลขเติบโตกันถ้วนหน้า โดยก่อนหน้า สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 โชว์อัตราการเติบโต 10% ยึดแชมป์ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของสื่อทีวี ล่าสุดช่อง 3 โมเดิร์น ไนน์ เผยกำไรครึ่งปีสวยหรู พร้อมปั้นแผนงานดันกำไรยาวตลอดปี ปล่อยให้ไอทีวี เดินเข้าสู่วิกฤติ หลังกำไรทรุดตั้งแต่ยังไม่ได้จ่ายค่าปรับ 7.6 หมื่นล้าน

ช่อง 3 ยิ้มแก้มปริ ตัวเลขกำไรครึ่งปีแรกพุ่งกระฉูด

แม้ปัจจัยลบรอด้านคอยฉุดอัตราการเติบโตและกำไรของทุกอุตสาหกรรมจนเก็บปากร้องจ๊ากกันไม่ไหว แต่ทว่า บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน)โชว์ผลกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสองของปี 2549ที่สูงถึง 465 ล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนประมาณ 29 ล้านบาทให้ช่องอื่น ๆ ให้น้ำลายหก สาเหตุหลักที่รายได้พุ่งทยานขนาดนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายได้จากการขายโฆษณาที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ผนวกกับต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานคงที่ไม่มีการปรับสูงขึ้นแต่อย่างใด ทำให้กลุ่มบีอีซี เวิลด์มีอัตรากำไรสูงขึ้น

"ตัวเลขที่เราได้สูงถึงขนาดนี้อาจเป็นเพราะผู้บริโภคประหยัดและไม่ค่อยออกไปที่ยวนอกบ้านกัน เพราะฉะนั้นจึงหันมาบริโภคสื่อราคาถูกแทน เช่น ทีวี วิทยุ และสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงบรรดาเจ้าของสินค้าโดยเฉพาะคอนซูมเมอร์ โพรดัคส์ยังเป็นสินค้าในระดับแมสที่ต้องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าเม็ดเงินโฆษณาจะไม่น่าจะลดลงแน่นอน" ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ชี้ถึงภาวะตลาดที่เอื้อประโยชน์แก่ช่อง3

แน่นอนว่าในช่วงไพรมไทม์ของช่อง 3 คือ ตั้งแต่ช่วง 18.00-22.30 เติบโตถึง 34.5% ถือได้ว่าโตที่สุดในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อเทียบกับช่องอื่น ๆ ในขณะที่ช่วงเวลานอน-ไพรมไทม์ของช่อง 3 เองก็มีอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับ 2 รองจากช่อง 11 แต่ถ้าเทียบทางเม็ดเงินที่ได้ ช่อง 3 เป็นช่องที่มีอัตราการเติบโตช่วงนอน-ไพรมไทม์สูงสุด

สิ่งหนึ่งที่ทางกลุ่มบีอีซี เวิลด์ได้เริ่มกระจายความเสี่ยงจากการโฟกัสการขายเวลาโฆษณาทั้งหมดไปที่ละครในช่วงไพรมไทม์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเสาหลักรายได้ของทางช่อง 3 แต่หลังจากมีการปรับนโยบายการดำเนินธุรกิจใหม่ โดยจะเพิ่มรายได้ที่สำคัญขึ้นอีก 3 ขา คือ เร่งพัฒนารายการเพื่อจับกลุ่มคนดูที่เป็นผู้หญิงให้มากขึ้น พร้อมดันรายการและความบันเทิงสำหรับเด็กเพื่อดึงคนดูที่เป็นเด็กหันมาชมรายการของสถานีมากขึ้น ตลอดจนตอกย้ำความเป็น "ครอบครัวข่าว" ของช่อง 3 เพื่อแข่งรายการข่าวกับช่องอื่น ๆ โดยนับจากนี้ต่อไปรายได้หลักของการขายโฆษณาของช่อง 3 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4 สายหลักเพื่อโกยเม็ดเงินจากการขายเวลาโฆษณาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับช่อง 7 ที่เป็นคู่แข่งตลอดการเพื่อชิงความเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งสูงสุดของเมืองไทย

"ในช่วงไตรมาส 3 นี้ ช่อง 3 จะมีการปรับผังรายการช่วงเย็นใหม่ โดยจะพัฒนาให้เป็นช่วงเวลาสำหรับเยาวชน โดยจะเพิ่ม 3 รายการเด็กในผังรายการ คือ รายการ CSA เรียลลิตี้ ประกวดร้องเพลงของกลุ่มเด็ก, รายการสตรอว์เบอร์รี ชีสเค้ก และรายการการ์ตูนผู้หญิงถึงผู้หญิง สำหรับกลุ่มเด็กนี้ เราถือว่าเป็นกลุ่มคนดูที่มีศักยภาพทางตลาดพอสมควร" ประวิทย์ มาลีนนท์ กรรมการบริหาร บริษัท บีอีซี เวิล์ด จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปรับผังรายการในไตรมาสที่ 3

ที่ผ่านมาหากสำรวจตรวจสอบผังรายการโทรทัศน์ของช่อง 3 แล้วจะพบว่า รายการเด็ก คือจุดอ่อนของช่อง 3 แต่นับจากนี้ต่อไปทางสถานีจะให้ความสำคัญกับการกำจัดจุดอ่อนนี้มากขึ้น เพื่ออุดช่องว่างฐานผู้ชมกลุ่มนี้ ทำให้สถานีช่อง 3 กลายเป็นสถานีที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี ตรงคอนเซปต์ "สถานีของครอบครัว"

อสมท.โชว์กำไรสวนทางตลาด

ผลงานสุดท้ายของ อสมท. ในยุคมิ่งขวัญ 1 การบริหารงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 ก็สามารถนำสถานีโทรทัศน์อุดมปัญญาอย่าง โมเดิร์น ไนน์ ทีวี สร้างผลกำไรงดงามไม่แพ้สถานีโทรทัศน์ที่อุดมไปด้วยรายการบันเทิงช่องอื่น ๆ

ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรก อสมท. มีรายได้ทะลุหลัก 2 พันล้าน ไปหยุดอยู่ที่ 2,080 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ประมาณ 1,134 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2548 ที่ทำได้ 893 ล้านบาท ถึง 27% ซึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้เติบโตอย่างรวดเร็วนี้คือการเติบโตของรายได้จากโทรทัศน์ ที่เพิ่มขึ้นกว่า 30% ทั้งที่อุตสาหกรรมโทรทัศน์โดยรวมมีรายได้ลดลงประมาณ 3.8%

มิ่งขวัญ แจงเหตุผลว่า เป็นเพราะนโยบายการปรับลดการให้เอกชนเข้ามาเช่าเวลาสถานีไปดำเนินการเอง มาเป็นการที่ อสมท. เข้าไปเป็นผู้ร่วมผลิตรายการ หรือการเป็นผู้ผลิตรายการทั้งหมดเอง ทำให้สามารถผลิตรายการที่สอดคล้องกับคอนเซปต์ของโมเดิร์น ไนน์ ทีวี ที่ผู้ชมให้การยอมรับ ทำให้รายการต่าง ๆ ของสถานีได้รับความนิยมมากขึ้น และสามารถปรับเพิ่มพื้นที่การขายโฆษณา อีกทั้งสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างต่อเนื่องด้วย

ส่วนครึ่งปีหลังของปีนี้ อันเป็นช่วงเปิดตัวของการบริหารยุคมิ่งขวัญ สมัยที่ 2 คาดการณ์ว่า ตัวเลขผลประกอบการของ อสมท. จะยิ่งเติบโตสวยหรูกว่านี้ เพราะรายได้จากเรียลลิตี้โชว์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศ อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย จะแสดงอยู่ในช่วงเวลานี้ อีกทั้งการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม จะมีเงินไหลเข้ามาจากการโฆษณาพรรคการเมือง และการรณรงค์เลือกตั้ง รวมถึงช่วงปลายปี ก็คือช่วงที่อุตสาหกรรมโฆษณาจะเติบโตสูงสุด มิ่งขวัญ ตั้งเป้าหมายด้านการบริหารสื่อของ อสมท. ซึ่งจะมีส่วนของรายได้จากการบริหารคลื่นวิทยุ เป็นรายได้หลักอีกทาง เมื่อผนวกกับผลประกอบการของโมเดิร์น ไนน์ ทีวี จะทำรายได้สิ้นปีได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท อย่างแน่นอน

คำสั่งศาลฯ ยังไม่ส่งผล แต่ไอทีวีเริ่มทรุด

แม้มติจากสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ไอทีวีต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนที่ค้างชำระต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเงินค่าปรับในกรณีการผิดสัญญาสัมปทาน รวมเป็นจำนวนเงินราว 7.6 หมื่นล้านบาท ยังอยู่ระหว่างที่รอผลวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดนั้น แต่ผลกระทบกับอนาคตที่ไม่แน่นอน และทิศทางของสถานีที่ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนเหมือนช่องอื่น ๆ ทำให้ผลประกอบการของไอทีวี เริ่มเห็นสัญญาณอันตรายปรากฏขึ้น

เพราะแม้ตัวเลขรายได้ที่นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ผู้บริหารในไอทีวี จะชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ถึงการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ว่ามีรายได้รวม 579 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสแรก 16.6% ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ ที่เพิ่มขึ้น 13.6% แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบไปถึงช่วงเวลาไตรมาส 2 ของปี 2548 จะพบว่า รายได้ในปีนี้ ถดถอยลงจากปีก่อนถึง 8.3% ผลกำไรที่ไตรมาส 2 ของปีนี้ ทำได้ 172 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ถดถอยจากกำไรของไตรมาส 2 เมื่อปีก่อน มากกว่า 29%

เอจีบี นีลสัน มีเดีย วิเคราะห์การเติบโตในรายได้ของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี รวมถึงสถานีช่องอื่น ๆว่า มีปัจจัยหลักจากการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกในระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม รวมถึงปกติเม็ดเงินการใช้จ่ายโฆษณาในไตรมาสที่ 2 จะสูงกว่าไตรมาสแรก แต่กรณีที่รายได้ของไอทีวีในปีนี้ ถดถอยลงไปจากปีก่อน นิวัฒน์ธำรง ชี้แจงว่า มาจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นของอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ ตลอดจนปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ภาวะราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้การใช้จ่ายงบโฆษณาของลูกค้าเป็นไปด้วยความระมัดระวังมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่ไอทีวียังไม่มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สินซึ่งอาจเกิดขึ้นไว้ในงบการเงินระหว่างกาล ก็ยิ่งทวีความน่าเป็นห่วงสำหรับผลประกอบการในอนาคตของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ว่า หากคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดออกมาเมื่อไร ทีวีเสรีแห่งแรกของประเทศไทยอาจถึงเวลาเปลี่ยนโฉมครั้งใหญ่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.