"เราอยากเรียกตัวเองว่าเป็นธุรกิจประกันคุณภาพชีวิต เพราะเป็นทั้งบริการพักผ่อนท่องเที่ยวและประกันชีวิตควบคู่กันไป"
นเรนทร์ เตชะวรวงศา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ให้คำจำกัดความสั้น ๆ เกี่ยวกับธุรกิจของฮอลิเดย์
อินเตอร์เนชั่นแนล
แนวคิดของธุรกิจนี้มองว่าคนในสังคมเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ ๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ
ต่างมีความเครียดขึ้นทุกวันจากการทำงาน การดำเนินชีวิตประจำวัน สิ่งแวดล้อมที่เริ่มเสื่อมถอย
อากาศเสียและรถติด สิ่งเหล่านี้ทำให้คนต้องการการพักผ่อนประจำปี "อย่างน้อยเป็นการชาร์ตไฟหรือเปลี่ยนบรรยากาศให้สดใส
เพื่อกลับมาลุยงานกันใหม่" นเรนทร์กล่าว
"เมืองไทยถึงเวลาแล้วเพราะคนทานฟาสต์ฟูด อยู่คอนโดฯ จองตั๋วเครื่องบินเป็น
เพราะฉะนั้นคนเริ่มที่จะรู้จักไลฟ์สไตล์ใหม่ว่า ทุกปีต้องจัดโปรแกรมพักผ่อนประจำปี"
นั่นเป็นสิ่งที่ Interval International ได้พูดกับนเรนทร์เมื่อปี '33 โดยยกตัวอย่างประเทศแถบยุโรป
อเมริกา และออสเตรเลีย
หลังจากเดินทางไปดูงานต่างประเทศเพื่อเพิ่มความมั่นใจ นเรนทร์ก็กลับมาจับธุรกิจนี้อย่างจริงจังโดยเริ่มบริการในปี
'34 "ยอมรับว่าในระยะแรกที่เราดำเนินงานประสบปัญหาอย่างมาก คนไม่คุ้นกับบริการอย่างนี้
และยังเจอของที่ทำเทียมมาทำให้เราเสียภาพพจน์ไปด้วย"
จากการปรับกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจใหม่ มาถึงวันนี้ฮอลิเดย์ฯ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจใหม่รายแรกของโลก
"เพราะไม่ใช่เป็นการพักผ่อนท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่เราให้หลักประกันด้วยว่าในแต่ละปีลูกค้าของเราต้องมีรีสอร์ตให้เลือกใช้ได้ทั่วโลก
ที่สำคัญถ้าสมาชิกเจ็บป่วยหรือ
ประสบอุบัติเหตุก็สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้หรือแม้กระทั่งมีภัยถึงแก่ชีวิตเราก็มีการคุ้มครองชีวิตให้ด้วย"
นเรนทร์กล่าวถึงลักษณะพิเศษของบริการที่เขาและทีมงานฮอลิเดย์ฯ คิดค้น
ขึ้น
บริการที่ฮอลิเดย์ฯ จัดให้มีตั้งแต่การเข้าพักฟรีในสถานที่ท่องเที่ยวที้งในและต่างประเทศปีละ
7-30 วัน บริการเรือยอตซ์ รถเชฟโรเลต สนามกอล์ฟ สโมสรกีฬา ศูนย์สุขภาพ นอกจากนี้ยังมีบริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยที่นเรนทร์ยืนยันว่าต่ำที่สุดคือ
12.75% ในวงเงินตั้งแต่ 5 แสนถึง 5 ล้านบาท ต่อ 1 ราย โดยเริ่มเมื่อเดือนกรกฎาคม
มีสมาชิกมาใช้บริการร่วม 100 ราย
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฮอลิเดย์ฯ ต่างจากการบริการพักผ่อนท่องเที่ยวทั่วไปคือ
มีคุ้มครองชีวิตทุกกรณีตลอด 24 ชั่วโมง สมาชิกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ตลอดปีโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
แต่จะจำกัดในเรื่องอัตราค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ห้องพัก ค่ารักษาพยาบาล โดยให้วงเงินประกัน
1 แสนบาทสำหรับสมาชิกคู่ สมาชิกครอบครัว 2 แสนบาท และ 5 แสนบาทสำหรับองค์กร
ซึ่งในอนาคตคาดว่าธุรกิจนี้น่าจะเป็นคู่แข่งที่สำคัญของบริษัทประกันทั้งหลายเพราะเสมือนหนึ่งสมาชิก
ซื้อประกันและได้บริการเสริมในรูปแบบของการพักผ่อน
ฮอลิเดย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นบริษัทมหาชนที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
แต่ก็มีโครงการในอนาคตไว้ ทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วประมาณ 64 ล้านบาท
ผู้ถือหุ้น 89 คน มีบ.ภัทรเรียลเอสเตทร่วมถือหุ้น 7 แสนหุ้นเศษ (10%) และบ.เมืองไทยประกันชีวิตอีก
5 แสนกว่าหุ้น ทำธุรกิจสังกัด Interval International ซึ่งควบคุมการให้บริการระบบ
Net Work แบบเครือข่ายร่วม (Chain) และการเข้าร่วมต้องมีที่พัก เช่น คอนโดมิเนียม
รีสอร์ต หรือ โรงแรม ที่ได้มาตรฐานกำหนด และเมื่อเดือนสิงหาคมฮอลิเดย์ฯ ยังได้รับสิทธิในการจัดเลือกหาสถานที่พักผ่อนในประเทศไทยเข้าร่วมเครือข่ายอีกด้วย
ฮอลิเดย์ฯ จึงมีโอกาสชักชวนเครือข่ายโรงแรมในประเทศเข้าร่วมด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นเครือดุสิตธานี
ซึ่งคุณหญิงชนัตถ์ ปิยะอุยได้เข้ามาเป็นคณะที่ปรึกษาของฮอลิเดย์ฯ ด้วย นอกจานี้ยังมีเครือพริ้นเซส
อิมพีเรียล ยูเรเซีย และเฟลิกซ์ ทำให้ฮอลิเดย์ฯ มีสถานที่พักผ่อนให้สมาชิกเลือกมากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่กว่า
1,400 แห่งทั่วโลก ใน 60 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย
ปัจจุบันสมาชิกของเครือข่ายทั่วโลกมีประมาณ 7 แสนราย ซึ่งถือเป็นจุดขายในการเชิญชวนสถานทีพักต่าง
ๆ เข้าร่วมเครือข่ายได้ง่ายขึ้น "ขณะนี้เรากำลังอยู่ในแนวทางขยายเครือข่าย
แทนที่เราจะรอซื้อ หรือสร้างทรัพย์สินเองซึ่งต้องใช้เวลาเราจึงหาทางร่วมมือกับธุรกิจคอนโดรีสอร์ตและโรงแรมที่มีอยู่แล้ว"
นเรนทร์กล่าว
โดยนเรนทร์ได้กล่าวถึงระบบของ Interval เพิ่มเติมว่า "เมื่อสถานที่พักนั้น
ๆ ผ่านมาตรฐานที่กำหนดแล้ว มีข้อตกบลว่าเราจะโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้โดยผ่าน
Resort Directory ของเราซึ่งพิมพ์ครั้งละล้านฉบับส่งไปยังสมาชิกทั่วโลกที่มีจำนวน
7 แสนครอบครัว เพื่อให้ข้อมูลว่าที่พักของเรามีจุดเด่นอะไร และมีสถานที่น่าสนใจอย่างไร
โดยมีเบอร์โทรศัพท์สายตรงของสถานที่นั้น หากสมาชิกสนใจสามารถโทร.ติดต่อมาขอจอง
หรือซื้อห้องพักได้โดยตรงไม่ต้องผ่านระบบเครือข่ายอันนี้ก็เป็นประโยชน์โดยตรงของแต่ละที่
แต่ถ้าใช้บริการผ่าน Interval และ Holiday เราก็จะช่วยจัดประสานให้"
เพราะมีแนวคิดว่าสถานที่พักแต่ละแห่งปกติจะมีห้องพักว่างอยู่แล้ว จึงมีข้อตกลงกันไว้ว่าในการลงโฆษณาเจาของสถานที่พักไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
เพียงแต่กันห้องว่างให้ 1 ห้องสำหรับอินเตอร์เนชั่นแนลและ 1 ห้องสำหรับฮอลิเดย์ฯ
เป็นห้อง complementary และกรณีที่สมาชิกต่างชาติที่เข้ามาพักมีห้องหนึ่งเท่านั้นที่ฟรี
(complementary) แต่ส่วนที่เกินกว่า 1 ห้อง ทางฮอลิเดย์ฯ จะเป็นผู้จ่ายให้
ส่วนรายได้ที่เจ้าของสถานที่พักจะได้นั้นมาจากการขายอาหารเช้า การขายบริการซักรีด
ขายมินิบาร์ หรือของที่ระลึกต่าง ๆ เพราะแขกที่เข้ามาพักแต่ละครั้งอย่างน้อย
1 สัปดาห์
"ขณะนี้มีหลายแห่งตอบรับเรามามากขึ้นซึ่งเราก็ต้องคัดเลือกในสิ่งที่ได้มาตรฐาน
โดยสัญญาจะมีผลตลอดไปจนกว่าฝ่ายใดจะบอกเลิกซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย
6 เดือน เพราะหนังสือจะมีการ up date ทุก ๆ 1 ปี" นเรนทร์กล่าว
สำหรับสมาชิกในประเทศมีประมาณ 1,700 รายเศษ แบ่งสมาชิกแบบคู่แบบครอบครัว
และแบบองค์กร โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 6070%, 20%, และ 10% ตามลำดับ
"สมาชิกองค์เพิ่งเริ่มต้นในปี '39 แต่เรากำลังเพิ่มกลยุทธ์ส่งเสริมฝ่ายขายมากขึ้น
เพราะตอนนี้จะเห็นว่าองค์กรต่าง ๆ จะมีสวัสดิการที่ดีขึ้นให้กับพนักงานสิ่งหนึ่งก็เพื่อป้องกันปัญหาสมองไหลแทนที่จะให้โบนัสพนักงานในรูปเงินอย่างเดียว
ก็ให้เป็นลักษณะไปพักผ่อนฟรีโดยบริษัทออกค่าที่พักให้ เป็นต้น" นเรนทร์กล่าวถึงกลุ่มลูกค้าใหม่
การเข้าเป็นสมาชิกนั้นลูกค้าสามารถซื้อบริการได้ในอัตราต่อ 10 ปี และใช้บริการด้วยวิธีหักคะแนน
(ดูตารางประกอบ) และนอกจากระบบสมาชิกแบบปกติแล้วฮอลิเดย์ฯ ยังได้ริเริ่มระบบสมาชิกอีกประเภทเรียกว่า
Q-Life Member (Quality of life member) เริ่มออกในเดือนพฤศจิกายน โดยเป็นสมาชิกแบบเบ็ดเสร็จ
ไม่ต้องเสียค่าบำรุงรายปีสมาชิกมีสิทธิใช้บริการ 5 ปี ได้รับคะแนนใช้บริการ
5,000 คะแนน โดยสมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เหมือนสมาชิกทั่วไป และหากลูกค้าไม่พร้อมในเรื่องการเงินสามารถใช้บริการเป็นปีต่อปี
ค่าสมาชิกปีละ 9,900 บาท
นเรนทร์คาดว่าสิ้นปี '39 จำนวนสมาชิกน่าจะอยู่ที่ 1,800-1,900 รายเท่านั้น
และพื้นฐานของบริษัทต้องการสมาชิกซึ่งเป็นกลุ่ม C+B เพิ่มปีละ 1,000 ราย
แต่เนื่องจากที่ผ่านมาผลจากเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ยอดเพิ่มของสมาชิกลดลง 30-40%
จึงขายสมาชิกได้เพียงเดือนละ 50-60 รายเท่านั้น
ส่วนรายได้ในปี '38 ประมาณ 20 ล้านบาทเศษ ซึ่งนเรนทร์คาดว่าจากจำนวนสมาชิกที่เพิ่มไม่มากนักตัวเลขรายได้ปี
'39 ก็คงเท่าเดิม แต่โดยปกติธุรกิจนี้จะมีอัตราเติบโตของรายได้เฉลี่ยปีละ
20% ซึ่งถึงตรงนี้นเรนทร์กล่าวว่ายังไม่ถึงจุดคุ้มทุน "คาดว่าอย่างน้อยที่สุดในปี
2000 ทุกอย่างคงตั้งฐานได้หมด ถึงตอนนั้นเราคงมีความเข้มแข็งขึ้น จำนวนสมาชิกคงเป็นระดับหมื่นรายและรายได้คงเป็นตัวเลขระดับร้อยล้านขึ้นไป"
แต่การดำเนินธุรกิจในช่วงนี้เขายอมรับว่า "เรายังทำธุรกิจแบบเงียบ
ๆ ค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะซุ่มสร้างเพราะเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่และเป็นแบบ
conservative อยู่" นเรนทร์กล่าว