ซิโน-ไทยติดบ่วง 'แอร์พอร์ตลิงค์' เจอต้นทุนพุ่งอัดสำรองอีก 900 ล.


ผู้จัดการรายวัน(18 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บิ๊กซิโน-ไทยฯ หน้ามึนโครงการเมกะโปรเจกต์ "แอร์พอร์ตลิงค์" ส่งผลกระทบต่อฐานบริษัทเต็มๆ หลังไม่คาดคิดจะเจอปัญหาทางด้านการเมือง ราคาน้ำมัน ส่งผลต้นทุนก่อสร้างพุ่งกระฉูด กัดฟันตั้งสำรองเผื่อขาดทุนสูงถึง 900 ล้านบาท หนักใจหากโครงการดีเลย์ไปถึงปี 2551 ต้องแบกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 200-240 ล้านบาท ช็อก!!!ทั้งปีตัวเลขขาดทุนสุทธิตัวแดงกว่า 1,500 ล้านบาท

ถึงแม้โครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลรักษาในช่วงนี้ จะมีเพียงแต่โครงการที่ได้อนุมัติก่อสร้างรถไฟ 3 สายที่ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการไปก่อนหน้านี้ แต่สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมืองหรือ "แอร์พอร์ตลิงค์" ระยะทาง 28 กิโลเมตร มูลค่า 25,900 ล้านบาท ซึ่งมีบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC รับผิดชอบโครงการ (มีตระกูลชาญวีรกูลถือหุ้นใหญ่)

นายวัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ เปิดเผยว่าสาเหตุที่ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 2 และงวดครึ่งปีแรกตกต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยกำไรสุทธิลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 48 เป็นจำนวนเงิน 1,979.02 ล้านบาท คิดเป็น 1,617.42 % และจำนวนเงิน 2,028.97 ล้านบาท คิดเป็น 906.92% ตามลำดับ เนื่องมาจากบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากโครงการแอร์พอร์ตลิงค์สะท้อนมายังงบถึง 80% เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งตัวแปรหลักเกิดจากต้นทุนทางด้านราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ค่าแรงและราคาวัสดุก่อสร้างประเภทเหล็ก สายไฟ ปูนซิเมนต์ และปัญหาทางการเมืองที่เป็นปัจจัยนอกเหนือการควบคุม

ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องทำการกันสำรองความสูญเสียจากโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ในไตรมาสนี้ในอัตราที่สูงถึง 900.65 ล้านบาท (ไตรมาสแรกสำรองไปแล้ว 48 ล้านบาท) ซึ่งเป็นการตั้งสำรองเต็มที่เพียงพอจะรองรับการต้นทุนต่างๆ ที่จะขยับขึ้นในอนาคต แต่หากต้นทุนการก่อสร้างสูงเกินกว่าระดับ 10% อาจต้องทบทวนตัวเลขการตั้งสำรองเพิ่ม โดยแม้บริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากโครงการนี้ไปแล้ว 3,600 ล้านบาท และยังเหลืออีก 8,600 ล้านบาท ที่จะรับรู้ให้ครบภายใน 24 เดือน แต่ประเมินว่าบริษัทฯ จะขาดทุนจากโครงการดังกล่าวรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท

"ตอนที่ตัดสินใจประมูลงานนี้ ต้องยอมรับว่าเรามีเวลาคิดสั้นๆ แต่ถ้าไม่เอางานนี้ และมองไปอนาคตแล้วเราคงลำบาก ยอมรับว่าโครงการนี้เราประเมินผิดไปจริงๆ ซึ่งเดิมทีคาดว่าโครงการนี้จะมีกำไรประมาณ 5-6% แต่วันนี้อย่าไปพูดถึงกำไรเลย ติดลบด้วยซ้ำ แต่ไม่คาดคิดว่าการเมืองจะเป็นอย่างนี้ ซึ่งการตั้งสำรองกับโครงการขนาดใหญ่ครั้งเดียวก็กระเทือนไปทั้งบริษัทแล้ว มีผลต่อกำไรขั้นต้นทันที ตอนที่มาดูข้อมูลกันให้ชัดยังช็อก จึงตัดสินใจว่าสำรองเต็มอัตรา" กรรมการผู้จัดการกล่าวและเชื่อมั่นว่า

โอกาสที่งานก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตลิงค์จะแล้วเสร็จทันกำหนดภายในเดือนพ.ย.2550 นั้น จำเป็นต้องมีการเลื่อนโครงการไปแล้วเสร็จออกไปอีก 1 ปี คาดว่างานจะก่อสร้างเสร็จปลายปี 2551 แม้ว่าปัจจุบันบริษัทได้เร่งการก่อสร้าง โดยในพื้นที่เส้นมักกะสันไปสนามบินสุวรรณภูมิไม่ค่อยมีปัญหา ยกเว้นพื้นที่เส้นมักกะสัน-พญาไท-รัชดา ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการส่งมอบพื้นที่ประมาณ 85% ของพื้นที่ทั้งหมด

"ประเด็นในตอนนี้ อย่างไรเสียโครงการต้องเลื่อนไปเสร็จประมาณ 1 ปี เรื่องค่าปรับทางบริษัทไม่ค่อยกังวลเท่ากับเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200-240 ล้านบาท หากต้องเลื่อนโครงการออกไปอีก ดังนั้นในการประมูลงานใหม่จะต้องมีการเพิ่มต้นทุนเข้าไป เพื่อรักษาอัตรากำไร โดยเฉพาะงานก่อสร้างที่มีมาร์จิ้นระดับที่น่าพอใจ เพื่อมาชดเชยโครงการแอร์พอร์ตลิงค์" นายวัลลภ กล่าว

สำหรับเป้าการสร้างรายได้ในปีนี้ ทางบริษัทได้วางไว้ที่ 14,000-15,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมามีรายได้ประมาณ 13,208 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะได้ตามเป้าที่วางไว้ ส่วนโอกาสที่จะตัวเลขทั้งปีจะมีกำไรนั้นคงยาก เพราะเจอผลจากโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ พิจารณาแนวโน้มทั้งปีจะขาดทุนสุทธิไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท อย่างไรก็ดี โดยขณะนี้ทางบริษัทได้ประมูลงานใหม่เข้ามาประมาณ 12,000 ล้านบาท จากเป้าทั้งปี 20,000 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือประมาณ 32,216 ล้านบาท และได้งานประมูลเข้ามารอเซ็นสัญญาประมาณ 2,500 ล้านบาท รวมมีงานในมือประมาณ 34,000-35,000 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.