ธุรกิจในเมืองไทยหลายแห่งเริ่มต้นจากกิจการในครอบครัว แต่การที่จะทำให้ธุรกิจนั้น
สามารถดำรงอยู่ได้ และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก็จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับรากฐานความแข็งแกร่งของคนในครอบครัวเป็นส่วนสำคัญ
สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หลังเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ ได้สลายโครงสร้างของสังคมธุรกิจของไทยไปอย่างมาก
ความคิด ที่ว่าธุรกิจของไทยในช่วง ที่ผ่านมา ตกอยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่ตระกูล
ได้เปลี่ยนแปลงไป หลายตระกูลไม่สามารถจะดำรงความเป็นเจ้าของในธุรกิจ ที่ก่อร่างสร้างตัวมาในรุ่นปู่
รุ่นพ่อเอาไว้ได้ ถ้าไม่ล้มหายตายจากไปเลย ก็ต้องถูกเปลี่ยนมือการเป็นเจ้าของไปสู่ผู้อื่น
แต่สำหรับตระกูล "จิราธิวัฒน์" วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น กลับไม่สามารถสั่นครอนรากฐานทางธุรกิจ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นแรกลงไปได้
ตรงกันข้าม กลับทำให้ตระกูลนี้มีเวลาในการวางรากฐานสำหรับรุ่นลูก รุ่นหลาน ที่กำลังจะเติบโตต่อไปให้เข้มแข็งขึ้น
โดยผ่านกลไกของครอบครัว ที่มีการตั้งเป็นสภาขึ้นมา เรียกว่า Family Council
"Family Council เป็นเรื่อง ที่เรามีความคิดกันมานานแล้ว แต่เพิ่งจะจริงจังตั้งแต่ช่วง ที่เกิดวิกฤติเป็นต้นมา
เพราะเรามีเวลามากขึ้น"สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ เลขาธิการ Family Council
ของตระกูลจิราธิวัฒน์ กล่าวกับ"ผู้จัดการ"
ตระกูลจิราธิวัฒน์ เป็นตระกูลใหญ่ ก่อกำเนิดขึ้นจากเตียง จิราธิวัฒน์ ชาวจีน ที่อพยพมาจากเกาะไหหลำ
เพื่อมาก่อร่างสร้างตัวในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2464 เริ่มจากธุรกิจร้านกาแฟเล็กย่านฝั่งธนบุรี
จนถึงทุกวันนี้ รุ่นลูก และหลานของเตียง ได้ขยายอาณาจักรธุรกิจมาเป็นเซ็นทรัลกรุ๊ป
เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกครบวงจร ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ปัจจุบันเซ็นทรัลกรุ๊ป ได้แตกแขนงธุรกิจออกไปถึง 5 สาขา ประกอบด้วยธุรกิจค้าปลีก
ธุรกิจผลิตและค้าส่ง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ท
และธุรกิจฟาสต์ฟู้ด
เช่นเดียวกับสมาชิกในครอบครัวที่ได้ขยายเพิ่มขึ้นมาจนถึงขณะนี้ เป็นรุ่นที่
4 และ ณ วันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา สมาชิกในตระกูลจิราธิวัฒน์ มีจำนวนสูงถึง
164 คน
แนวความคิดในการจัดตั้ง Family Council ได้เริ่มมาตั้งแต่ยุคของสัมฤทธิ์
จิราธิวัฒน์ ลูกชายคนโตของเตียง ที่รับรู้ความรู้สึกของผู้เป็นพ่อดีว่ามีความมุ่งมั่นจะสร้างครอบครัวให้ใหญ่
ตามความเชื่อของชาวจีนจากเกาะไหหลำ แต่แนวความคิดดังกล่าวเริ่มเป็นรูปธรรมขึ้นในยุคของ วันชัย
จิราธิวัฒน์ น้องชายคนรองจากสัมฤทธิ์
"คุณสัมฤทธิ์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก พยายามทำบทบาทตรงนี้อย่างเต็มที่
แต่อาจจะไม่มีบันทึกอะไรเป็นกิจจะลักษณะ แต่มีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง
และแยกกันชัด คือ วันนี้บอกว่าเราจะประชุมกันเรื่องครอบครัว วันนี้เราจะประชุมกันเรื่องธุรกิจ" สุทธิพันธ์เล่า
มีการวิเคราะห์กันว่า ในยุคที่สัมฤทธิ์ขึ้นเป็นผู้นำของตระกูล ภายหลังเตียงเสียชีวิตลงไปเมื่อปี
2512 รูปแบบการจัดตั้ง Family Council ยังไม่เด่นชัดนัก เพราะในยุคนั้น น้องๆ ของสัมฤทธิ์ ที่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจยังมีไม่มาก
จะมีเพียงวันชัยและสุทธิพร น้องคนที่ 2 และ 3 ซึ่งร่วมกันบุกเบิกธุรกิจมาด้วยกัน
แต่หลังจากปี 2515-2516 เป็นต้นมา น้องๆ หลายคนที่ได้ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ
ได้เริ่มเรียนจบ และเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจ ทำให้สัมฤทธิ์เริ่มตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น
"ช่วงนี้เป็นช่วง ที่คนในตระกูลจิราธิวัฒน์รุ่นที่ 2 ซึ่งผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ
และมีความสามารถ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีคนเก่งเข้ามาร่วมงานมากขึ้น
จึงต้องมีความพยายามวางระบบในครอบครัวให้ชัดเจนขึ้น "คนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของตระกูลนี้วิเคราะห์
แกนหลักของ Family Council ยังคงอยู่ในกลุ่มของจิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 2 หลังจากสัมฤทธิเสียชีวิตลงในปี
2535 วันชัยน้องคนรองจากเขาได้ขึ้นมาเป็นผู้นำแทน และเริ่มวางรากฐานในเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น
วันชัยมอบบทบาทในการประสานงานเรื่องการจัดตั้ง Family Council ให้กับสุทธิพันธ์
ซึ่งถือเป็นคนในตระกูลจิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 2 ที่เข้าไปมีบทบาทกับธุรกิจของครอบครัวน้อยที่สุด
สุทธิพันธ์ เป็นบุตรชายคนที่ 7 ของบุญศรี ภรรยาคนที่ 2 ของเตียง เป็นนักเรียนทุนของรัฐบาลไปเรียนจนจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์
จากประเทศฝรั่งเศส หลังจากเรียนจบ ได้เข้ามาเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นคณบดี ปัจจุบันได้โอนย้ายมาเป็นคณบดี
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถือเป็นคนกลางที่สุดของตระกูล ที่จะเขัามามีบทบาทในเรื่องของครอบครัว
นอกจากนี้ ยังได้มีการเชิญบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา ประกอบด้วยเอนก
สิทธิประศาสน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย วิโรจน์ ภู่ตระกูล อดีตกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ซึ่งปัจจุบันก็มีตำแหน่งเป็นกรรมการอยู่ใน Family Council ด้วย
ในการวางระบบของ Family Council ได้มีการศึกษาประวัติความเป็นมา และการจัดการคนในครอบครัว
ของตระกูลใหญ่ๆ ทั้งจากประเทศ และในประเทศ อย่างเคนเนดี้ ร๊อคกี้เฟลเลอร์
หรือหวั่งหลี เพื่อนำมาปรับใช้กับคนในตระกูลจิราธิวัฒน์
หลักการของ Family Council ของตระกูลจิราธิวัฒน์ คือ ต้องการแยกการจัดการออกจากกันให้ชัดเจนระหว่างเรื่องของครอบครัว
และธุรกิจ ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 2 ซีกได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น
"เราต้องแยกเป็น 2 วง วงหนึ่งว่ากันเรื่องของครอบครัว เป็นการคุยกันในเรื่องของครบครัวโดยตรง
ส่วนอีกวงเป็นเรื่องของธุรกิจ ก็ต้องเป็นเรื่อง ที่ต้องไปคุยกันในบริษัท ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น"
ในวงของ Family Council จะเป็นเรื่อง ที่ว่าด้วยบทบาทของของคนที่เกิดมาในตระกูลจิราธิวัฒน์ควรกระทำ
และสิทธิประโยชน์ ที่คนในตระกูลนี้จะได้รับจากครอบครัวเป็นหลัก โดยมีการร่างกฏระเบียบไว้อย่างชัดเจน
"เรามีการระบุไว้เลยว่าการเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวควรเป็นอย่างไร"สุทธิพันธ์กล่าว
ส่วนสิทธิประโยชน์นั้น จะเน้นในเรื่องของสวัสดิการเป็นหลัก
ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ ที่คนในตระกูลจิราธิวัฒน์ จะได้รับจาก Family Council
ประกอบด้วย
-เมื่อแรกเกิด ซึ่งจะมีเงินทุนให้จำนวนหนึ่ง ช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการทำคลอด
-มีทุนการศึกษา ที่จะให้กับสมาชิกในตระกูล ในการให้การศึกษากับบุตรหลานในครอบครัว
-มีค่ารักษาพยาบาล ที่สามารถเบิกได้จาก Family Council กรณีเจ็บป่วย
-เมื่อสมาชิกในตระกูลคนใดเสียชีวิต Family Council ก็มีงบประมาณช่วยเหลือสำหรับค่าทำศพ
และจัดงานศพ
-หากบุตรหลานในตระกูล มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ Family Council
อาจพิจารณาเป็นพิเศษ ที่จะส่งเสริมให้สมาชิกผู้นั้น ได้รับการศึกษาในด้านดังกล่าวถึงขั้นสูงสุด
-หากสมาชิกคนใดในตระกูล มีปัญหาทางด้านการเงิน ก็สามารถมาขอความช่วยเหลือจากตระกูลได้
โดยการพิจารณาจาก Family Council
-เนื่องจากตระกูลจิราธิวัฒน์ มีธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ต้องอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางของบ้าน Family Council จะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด
ฯลฯ
นอกจากนี้ Family Council ยังต้องพิจารณาให้ลึกลงไปถึงลำดับการให้ความช่วยเหลือคนในตระกูล
ในรุ่นถัดไป โดยเฉพาะที่เป็นฝ่ายหญิง ซึ่งเมื่อได้แต่งงานออกไปใช้นามสกุลอื่นแล้ว
จะได้รับความช่วยเหลือจากตระกูลได้ถึงระดับใด(รายละเอียด อ่าน"ผู้จัดการ"ฉบับเดือนตุลาคม
2543)
แม้นัยหนึ่งของการจัดตั้ง Family Council ของตระกูลขึ้นมา เพื่อให้เกิดความสมานสามัคคีในกลุ่มจิราธิวัฒน์ ที่นับวันจะทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว
อีกนัยหนึ่ง ยังมองถึงผลที่จะส่งไปถึงธุรกิจของครอบครัว ที่ต้องอาศัยกำลังและสมองของคนในตระกูลเป็นหลัก เนื่องจากขนาดของธุรกิจ ที่ใหญ่ขึ้น
"ทุกวันนี้คนในครอบครัวไปทำธุรกิจของครอบครัวก็มีจำนวนไม่น้อย ถ้าเขาได้เรียนหนังสือดีๆ
ได้รับโอกาสดีๆ พื้นฐานจิตใจเขาดี ครอบครัวเขาดี เขาก็มีสิทธิ ที่จะทำธุรกิจให้ดีขึ้น
ไม่ต้องมาเป็นห่วงเป็นใยว่าครอบครัวไม่ดี คิดแล้วปวดหัวทำงานไม่ได้"
ระบบ ที่ตระกูลจิราธิวัฒน์ ได้วางรากฐานไว้ให้กับคนในครอบครัว ได้สะท้อนออกมาให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจของเซ็นทรัลกรุ๊ป
ที่ปัจจุบันยังคงสามารถยืนอยู่ในระดับแนวหน้าของธุรกิจค้าปลีกของไทย อย่างมั่นคง
แม้ว่าจะมีกระแสการแข่งขัน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น จากการหลั่งไหลเข้ามาของทุนต่างชาติ
และถือเป็นบทเรียนในการดำรงอยู่ของธุรกิจครอบครัวที่คนในตระกูลอื่นน่าศึกษา