TT&T ขุนธุรกิจบรอดแบนด์ สร้างรายได้หลักแทนโทร.พื้นฐาน


ผู้จัดการรายวัน(17 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ทีทีแอนด์ทีประกาศรุกหนักธุรกิจบรอดแบนด์ หลังได้ใบอนุญาตบริการแบบที่ 3 จาก กทช. ที่สามารถรุกเจาะหม้อข้าวทรูในพื้นที่ กทม. ได้ เผยขณะนี้เริ่มให้บริการบางส่วน หมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นตัวสร้างรายหลักแทนโทรศัพท์พื้นฐาน ส่วน 3 ข้อพิพาทกับทีโอทียังรออนุญาโตฯชี้ขาด

นายประจวบ ตันตินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีแอนด์ที กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลังว่า หลักๆ ยังเน้นการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการวางโครงข่ายในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล หลังได้ใบอนุญาตประกอบกิจการประเภทที่ 3 คือมีเครือข่ายเป็นของตนเองจากคณะกิจการโทรคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท ทริปเปิล ที บรอดแบนด์

เหตุผลที่ทีทีแอนด์ทีมุ่งเน้นในเรื่องของบรอดแบนด์ เพราะเห็นว่าเป็นแนวโน้มของธุรกิจที่กำลังเติบโต และน่าจะเป็นรายได้หลักแทนบริการโทรศัพท์พื้นฐานที่ถูกโปรโมชันมือถือที่แข่งดุเดือดทุบจนต้องปรับตัวหาบริการใหม่มาเสริม

“บรอดแบนด์ในไทยโตแบบก้าวกระโดด หรือประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งธุรกิจตรงนี้เราจะทำให้เป็นธุรกิจหลัก สร้างรายได้แทนโทรศัพท์พื้นฐาน เพราะรายได้จากส่วนนี้อาจไม่โตเท่าบรอดแบนด์”

นอกจากทีทีแอนด์ทีจะโฟกัสที่บรอดแบนด์แล้ว ยังให้ความสำคัญกับบริการอินเทอร์เน็ตไฮสปีดที่ดำเนินการภายใต้บริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไคเบอร์ ที่ได้ใบอนุญาตมาแล้ว ส่วนที่ยังรอใบอนุญาตอีกบริการคือ การเป็นผู้ให้บริการเกตเวย์ที่ทาง กทช. อยู่ระหว่างการพิจารณา

ด้านการลงทุนทีทีแอนด์ทีได้ลงทุนเกี่ยวกับบรอดแบนด์ประมาณ 1,500 ล้านบาท จากเอ็กซิมแบงก์จีนที่เป็นซัปพลายเออร์ ส่วนรายได้ที่จะคืนกลับมาขึ้นอยู่กับปริมาณลูกค้า ซึ่งขณะนี้โครงข่ายมีขีดความสามารถในการรองรับอยู่ที่ 3 แสนราย หากมีความต้องการเพิ่มจึงจะมีการขยายเครือข่าย ทั้งนี้หากพิจารณาในเรื่องของเม็ดเงินคาดว่าจะคืนทุนได้ประมาณ 2-3 ปี

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาดบรอดแบนด์ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่กลุ่มทรูเป็นผู้นำตลาด ทีทีแอนด์ทีจะเน้นเจาะไปที่ฐานลูกค้าเก่าเป็นหลัก จะไม่ลงไปแข่งราคา และเชื่อว่าโดยภาพรวมแล้วมีศักยภาพมากกว่ากลุ่มทรู เพราะทรูยังไม่มีบริการบรอดแบนด์ในต่างจังหวัด

“ในพื้นที่ที่ทรูเป็นผู้นำตลาดเราจะทำตลาดแบบนิช มาร์เก็ต”

นายประจวบกล่าวถึงข้อพิพาทระหว่างทีทีแอนด์ทีกับทีโอทีว่า ขณะนี้มี 3 เรื่องหลักคือ 1.เรื่องการนำบริการพิเศษเข้ามาใช้ ซึ่งทีทีแอนด์ทียื่นฟ้องทีโอทีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท 2.เรื่องการปรับค่าบริการโทรศัพท์ทางไกลมูลค่า 700 ล้านบาท 3.เรื่องโทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ติดโลโก้ทีโอที ที่ฝ่ายทีโอทีเป็นโจทย์ยื่นฟ้องมูลค่า 200 ล้านบาท ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการพิจารณา

พร้อมกันนี้ ทีทีแอนด์ทีร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย ที่ร่วมมือกันในโครงการ “อยากได้ทองจากทีทีแอนด์ที ไปจ่ายค่าโทร.ที่ไปรษณีย์” ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเม.ย.-สิ้นก.ค. จนทำให้ยอดผู้ชำระค่าโทรศัพท์พื้นฐานที่จ่ายผ่านที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ 1,001 แห่ง เพิ่มจาก 6 หมื่นรายต่อเดือน เป็น 9.5 หมื่นรายต่อเดือน และได้มีการจับรางวัลผู้โชคดีรวมมูลค่า 6,011,640 บาทไปวานนี้ (16 ส.ค.) จากความสำเร็จดังกล่าว ทีทีแอนด์ทีและไปรษณีย์ยังมีแผนจะร่วมมือในรูปแบบอื่นๆ อีกต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.