บรรหาร ศิลปอาชาอดีตนายกฯ ที่ใช้มือการเงินเปลืองที่สุด


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 รับหน้าที่บริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2538 เวลาผ่านพ้นมาเป็นเพียงเวลาปีเศษเท่านั้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่บรรหารเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เขาได้ใช้มือดีทางการเงินมาแล้วถึง 4 คน ในระยะเวลาอันสั้นหลังจากที่ได้รับตำแหน่ง ที่คนเหล่านั้น ได้ถูกปลด บีบบังคับ และเก็บกดจนต้องลาออกไปเองและบทสรุปที่ทุกคนได้รับนั้นล้วนไม่สวยงาม

เริ่มจากเอกกมล คีรีวัฒน์ ถูกกดดันให้ออกจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. และถูกปลดกลางอากาศจากตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยบรรหาร 1 และขณะนี้ยังมีคดีความค้างคาอยู่ในศาล

รายที่สอง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลว่าผลงานไม่เป็นที่พอใจของพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ติดราชการอยู่ต่างประเทศ กลับมาเปิดแถลงข่าวการลาออกด้วยเสียงอันสั่นเครือ น้ำตาแทบนองหน้า แถมขณะนี้ไปเป็นกลุ่มที่ปรึกษาให้กับหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

รายต่อมาคือ วิจิตร สุพินิจ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ลาออกไปเพราะถูกกดดัน และไปร่วมเป็นทีมที่ปรึกษาให้กับพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เช่นเดียวกับ ดร.สุรเกียรติ์

รายล่าสุด บดี จุณณานนท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนที่ 2 ของรัฐบาลบรรหารประกาศลาออกแบบปุ๊บปั๊บ สร้างความประหลาดใจให้อย่างมาก เพราะว่าเหลือเวลาเป็นรัฐมนตรีรักษาการอีกแค่เพียง 1 เดือน ก็จะพ้นวาระหลังการเลือกตั้งในวันที่ 17 พ.ย.นี้ ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เหลืออยู่ถือว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดี
ที่บดีจะได้แสดงความรู้ความสามารถที่จะฝากผลงานไว้ให้เป็นที่ประจักษ์

แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น การชิงลาออกของบดีจุณณานนท์ ไม่ได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนไว้ บอกแต่เพียงว่าเป็นเหตุผลส่วนตัว แต่เท่าที่พอจะสามารถสรุปกันได้นั้นประเมินกันว่าแม้ว่าจะมีแนวทางการดำเนินงานเป็นของตนเองได้ แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากว่าความจริงแล้วความคิดเห็นของบดี ยังมีหลายเรื่องที่ตรงกันข้ามกับนายกรัฐมนตรีบรรหารโดยสิ้นเชิง

เรื่องแรกคือถูกกดดังเรื่องการจัดตั้งแบงก์ใหม่ ซึ่งบดีจุณณานนท์ ไม่ยอมเซ็นชื่อ ด้วยเหตุผลว่าเพื่อมารยาททางการเมือง ควรที่จะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งหลังวันที่ 17 พ.ย. เป็นคนมาทำแทน

เรื่องต่อมาคือ การตัดงบจัดซื้ออาวุธของทหารจำนวน 16,000 ล้านบาท เพราะกรมสรรพากรเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ อีกทั้งยังลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไปด้วย แต่นายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว

เรื่องที่สามคือการเข้าไปโอบอุ้มโครงการดอนเมืองโทลเวย์ ซึ่งกระทรวงการคลังถูกบีบบังคับให้หาเงินเป็นจำนวน 5,000 ล้านบาทเพื่อเข้าไปช่วยเหลือโครงการดังกล่าว ซึ่งบดีไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้มาตลอด เนื่องจากไม่มีเหตุผลดีเพียงพอที่กระทรวงการคลังจะต้องเข้าไปอุ้มโครงการของภาคเอกชนเช่นนั้น

เรื่องที่สี่ คือการนำเงินคงคลังมาชำระหนี้ต่างประเทศโดยให้นำเงิน 12,000 ล้านบาท ไปซื้อเงินตราต่างประเทศ เพื่อเก็บไว้ชำระหนี้ ซึ่งการนำเงินคงคลังไปใช้ จะส่งผลเสียต่อฐานะของประเทศในระยะยาวและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน

เรื่องสุดท้ายที่มีการประเมินกันไว้คือ การแก้ไขปัญหาตลาดหุ้นที่ตกต่ำ แนวทางที่บดี ต้องทำคือการลดสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติลง เพื่อลดอิทธิพลครอบงำตลาดหุ้นไทยของชาวต่างชาติ เนื่องจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นว่าการลงทุนของต่างชาติถือว่าเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ ทำให้ควบคุมได้ยาก จึงสมควรที่จะลดสัดส่วนลงให้เหลือน้อยที่สุด แต่ก็ถูกหลายฝ่ายคัดค้าน เพราะเห็นว่านโยบายดังกล่าวไปขัดกับนโยบายการเปิดเสรีทางการเงิน

ด้วยเหตุผลที่เกิดขึ้น ผู้คร่ำหวอดในวงการเงินหลายท่านเห็นว่า ความจริงแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอยู่เหมือนกัน

"เพราะถ้าพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้วจะเห็นว่าคุณบดีไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก การตัดสินใจทุกอย่างยังขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวท่านั้น ดูไปก็เหมือนร่างทรงคุณบรรหาร คงกดดันลาออกเสียดีกว่า" นักวิเคราะห์ทางการเงินรายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

"นักการเงินทั้ง 4 คนที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมีชะตากรรมที่ไม่แตกต่างกัน คือจากไปด้วยความเจ็บปวด พร้อม ๆ กับที่เศรษฐกิจของประเทศไทยก็ถูกย่ำยีจนเสียหายไปไม่น้อยทีเดียว ตอนนี้คงได้แต่ฝากความหวังไว้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังคนใหม่จะมาช่วยเยียวยาได้หรือไม่" นักวิเคราะห์คนเดิมกล่าว

จะเห็นได้ว่าวิบากกรรมของมือการเงินและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทั้ง 4 หาใช่ตำแหน่งที่หอมหวนและอยู่กันได้ง่าย ๆ จำเป็นต้องใช้ความสามารถทางเงินและการคลังยิ่งในยุคที่ภาวะวิกฤติในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่มีปัญหา ล้วนต้องอาศัยมืออาชีพทั้งสิ้น

หากนักการเมืองอาชีพอย่างบรรหาร ศิลปอาชา หรือว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะมาเถลิงอำนาจต่อ ๆ ไปยังคงดำเนินการเชือดอาสาสมัครเหล่านี้ ต่อไปคงไม่มีมืออาชีพหรือคนดี ๆ เข้ามาอาสาทำงานในตำแหน่งสำคัญ ๆ ทางการเงินอีกต่อไป

แม้จะมีระบบการคัดเลือกแต่งตั้งการดำรงตำแหน่งกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่บทจะล้มกันง่าย ๆ ก็ทำได้ราวกับไม่มีระบบอยู่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.