แนวทางในการปรับโครงสร้างและการแปรรูปกิจการไฟฟ้า

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2539 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เกี่ยวกับแนวทางในการปรับโครงสร้างและการแปรรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยดังต่อไปนี้

รูปแบบโครงสร้างกิจการไฟฟ้าในระยะยาว (2543-2548 เป็นต้นไป) จะมีลักษณะการแยกออกเป็น 3 กิจการ คือ กิจการผลิตไฟฟ้า (GENERATION) กิจการสายส่งไฟฟ้า (TRANSMISSION) และกิจการจำหน่ายไฟฟ้า (DISTRIBUTION) ซึ่งในแต่ละกิจการจะถูกแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด และรัฐบาลจะลดบทบาทของตนเองลง โดยเอกชนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น และ/หรือกระจายหุ้นให้แก่ประชาชนด้วยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โครงสร้างกิจการไฟฟ้าในระยะปานกลาง (2539-2542)

การดำเนินกิจการของการไฟฟ้าในช่วงนี้ จะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่โครงสร้างกิจการไฟฟ้าในระยะยาว ดังนั้นจึงต้องมีการปรับโครงสร้าง และมีการแปรรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศ จากกิจการที่ผูกขาดโดยรัฐมาสู่การส่งเสริมบทบาทของเอกชนให้มีมากขึ้น รวมทั้งมีการส่งเสริมการบริหารงานในเชิงพาณิชย์

รูปแบบโครงสร้างของกิจการไฟฟ้าในระยะปานกลางจะมีลักษณะดังนี้

กิจการผลิตไฟฟ้า : ส่งเสริมให้มีผู้ผลิตหลายราย โดยยังคงส่งเสริมผู้ผลิตเอกชนรายเล็กที่ผลิตไฟฟ้าโดยระบบ COGENERATION และพลังงานนอกรูปแบบ (SMALL POWER PRODUCER : SPP) รวมทั้งยังคงส่งเสริมผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (INDEPENDENT POWER PRODUCER : IPP)

นอกจากนั้น ยังมีการแปรรูปโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ให้เป็นบริษัทจำกัด เพื่อเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า

กิจการสายส่ง : จะแยกกิจการสายส่งไฟฟ้าออกเป็นหน่วยธุรกิจภายใต้การดูแลของ กฟผ. โดยในระยะนี้ กฟผ.ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ แต่ทั้งนี้กิจการสายส่งดังกล่าวจะต้องมีความเป็นกลางในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่าง ๆ ทั้งจาก SPP และ IPP รวมทั้งผู้ผลิตที่จะเกิดจากบริษัทย่อยของ กฟผ.เดิม

กิจการจำหน่ายไฟฟ้า : ในช่วงระยะเวลาปานกลางนี้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะปรับตัวให้มีการบริหารเชิงธุรกิจ แต่ก็ยังคงมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ และยังคงทำหน้าที่ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ของตนดังเดิม

สำหรับลักษณะของการกำกับดูแล กพช. และ สพช. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าในระยะปานกลางนี้ แต่จะต้องมีการปรับปรุงแนวทางในการกำกับดูแล โดยเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพของกิจการไฟฟ้าและคุณภาพของการบริการควบคู่ไปด้วย

โครงสร้างกิจการไฟฟ้าในระยะยาว (2543-2548 เป็นต้นไป)

กิจการผลิตไฟฟ้า : ส่งเสริมให้มีผู้ผลิตหลายราย เพื่อเพิ่มการแข่งขันในระบบผลิตไฟฟ้า และเพิ่มบทบาทของเอกชนอันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้า

กิจการสายส่ง : ในที่สุดแล้วจะมีลักษณะเป็น COMMON CARRIER ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าได้โดยตรงแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า โดยใช้บริการสายส่งภายใต้หลักเกรฑ์การกำหนดค่าใช้บริการสายส่งที่เป็นธรรม

กิจการจำหน่ายไฟฟ้า : ในแต่ละเขตจะยังคงมีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว เพราะเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพเชิงเศรษฐศาสตร์มากที่สุด แต่ระบบสายจำหน่ายจะมีลักษณะเป็น COMMON CARRIER ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถซื้อไฟฟ้าโดยตรงได้จากผู้ผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ ในส่วนของการกำกับดูแลจะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลที่เป็นอิสระ (INDEPENDENT REGULATORY BODY) ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าให้มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์และเป็นไปตามกลไกตลาด พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจและเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ลงทุนและผู้ใช้ไฟฟ้า อันจะส่งผลให้ระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงและให้ประดยชน์แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าได้มากที่สุด

ซึ่งการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระนี้จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้อำนาจกำกับดูแลอยู่ที่องค์กรอิสระดังกล่าวเพียงแห่งเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.