|
ธปท.มั่นใจหนี้คงค้างบัตรเครดิตลด
ผู้จัดการรายวัน(15 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.เผยตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิตล่าสุดไตรมาส 2 ของปี 49 พบว่าปริมาณและยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมกลับลดลงมาอยู่ที่ 5.8 หมื่นล้านบาท จากในเดือนก่อนที่ 6.3 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 6.7% "ธาริษา" ระบุแบงก์พาณิชย์ระมัดระวังมากขึ้น แบงก์ชาติออกกฎดูแลอีกชั้นหนึ่ง มีแนวโน้มยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตจะลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าได้เห็นแน่
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขยอดคงค้างบัตรเครดิตโดยรวมในช่วงไตรมาส 2 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังมากขึ้นในการให้บริการลูกค้า ขณะเดียวกันธปท. ก็มีการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ มากำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง ทำให้ยอดคงค้างบัตรเครดิตจากเดิมสมัยก่อนอยู่ที่ 30-40% กลับมาลดลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันลดลงอยู่ที่ระดับ 16%
“เดิมทีสมัยก่อนประชาชนที่มีรายได้ประมาณ 7,000-8,000 บาท ก็สามารถมีบัตรเครดิตได้แล้ว แต่ขณะนี้ด้วยมาตรการต่างๆ ของแบงก์ชาติและแบงก์พาณิชย์เองก็มีความระมัดระวังมากขึ้น รวมไปถึงผู้บริโภคเองเมื่อมีรายได้น้อยลงจึงมีความระมัดระวังมากขึ้นเช่นกัน ทำให้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามที่แบงก์ชาติคาดการณ์ไว้แล้ว”
อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของบัตรเครดิตจะเร็วหรือช้า ขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน แต่ในฐานะผู้กำกับสถาบันการเงินต้องดูแลไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตทั้งระดับประเทศและส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจ อาทิ เมื่อภาคครัวเรือนมีการใช้จ่ายมากเกินไปอาจเกิดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นก็จะกระทบทั้งธนาคารพาณิชย์และผู้บริโภคเองด้วย ดังนั้นการขยายตัวของบัตรเครดิตในขณะนี้ไม่มีอะไรที่น่าห่วงและยังคงเติบโตต่อไปได้ จึงยืนยันว่าบัตรเครดิตจะลดลงเรื่อยๆ และเอ็นพีแอลจะสามารถลดลงได้ตามเป้าที่ 2% ในปี 2550 อย่างแน่นอน
ด้านนายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในช่วงปี 45 อยู่ที่ระดับ 39% ปี 46 ลดลงเหลือ 33% ปี 47 เหลือ 25% และปัจจุบันมาอยู่ที่ 16-17% และคาดว่าแนวโน้มในปีหน้าสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตจะลดลงเรื่อยๆ
ทั้งนี้ รายงานจากสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ธปท.ได้รายงานตัวเลขการให้บริการบัตรเครดิตของสถาบันการเงิน ล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 หรือสิ้นไตรมาส 2 พบว่า ปริมาณบัตรเครดิตยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยมีบัตรเครดิตให้บริการทั้งสิ้น 10,481,460 บัตร เทียบกับสิ้นไตรมาสแรก ที่มีบัตรเครดิตทั้งสิ้น10,156,382 บัตร หรือเพิ่มขึ้น 325,078 บัตร คิดเป็น 3.2%
โดยแบ่งเป็นบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทย 4,046,364 บัตร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 106,623 บัตร บัตรเครดิตของสาขาธนาคารต่างประเทศ 1,162,359 บัตร เพิ่มขึ้น 82,268 บัตร และบัตรเครดิตของบริษัทประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) 5,272,737 บัตร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 136,187 บัตร ทั้งนี้ จำนวนบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น เป็นเพราะธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์มีการแข่งขันสินเชื่อรายย่อยกันอย่างรุนแรง
สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้ มีทั้งสิ้น 153,848 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ที่มียอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบ 143,564 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10,284 ล้านบาท คิดเป็น 7.1% โดยแบ่งเป็นยอดคงค้างสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย 50,232 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 48,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,675 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 31,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้นไตรมาสก่อนหน้า 3,115 ล้านบาท และนอนแบงก์ 72,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,495 ล้านบาท ทั้งนี้ หากพิจาณาดูตัวเลขปริมาณบัตรและยอดสินเชื่อคงค้างจะเห็นตัวเลขของทั้งระบบ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทย สาขาธนาคารต่างชาติ และนอนแบงก์ ณ สิ้นไตรมาส 2 มียอดเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายรวมทั้งระบบมีทั้งสิ้น 58,944 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 63,184 ล้านบาท ลดลงถึง 4,240 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 6.7% โดยแบ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านบัตรภายในประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 42,312 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 1,906 ล้านบาท โดยเป็นปริมาณการใช้จ่ายบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ไทย 34,159 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 999 ล้านบาท เป็นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตธนาคารต่างประเทศ 8,153 ล้านบาท ลดลง 1,907 ล้านบาท สำหรับการใช้จ่ายในต่างประเทศ 2,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49 ล้านบาท และเป็นการเบิกเงินสดล่วงหน้า 14,387 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรก 1,383 ล้านบาท
ผู้สื่อข่ายรายงานว่า เมื่อดูภาพรวมของการให้บริการบัตรเครดิตของสถาบันการเงินทั้งระบบจะพบว่าปริมาณบัตรยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับยอดสินเชื่อคงค้างจะเห็นว่ายอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์ไทยและสาขาธนาคารต่างชาติในไตรมาสที่ 2 มีอัตราเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก แต่เมื่อดูตัวเลขปริมาณการใช้จ่ายรวมมียอดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ทางการเมือง ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากไม่มั่นใจกับรายได้ในอนาคต
ซึ่งในส่วนความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธปท.ที่ระบุว่าการกู้ยืมของครัวเรือน พบว่าการกู้ยืมเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรให้ติดตามการขยายตัวของยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตที่ออกโดยนอนแบงก์ต่อไป เพราะเกรงว่าความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวจะลดลง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|