กฟผ.เร่งเครื่องเต็มที่ ผลักโรงไฟฟ้า 3 กลุ่มทยอยเข้าตลาดฯ ปี '41

โดย มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กำลังเร่งจัดโครงสร้างเพื่อส่งธุรกิจโรงไฟฟ้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2541 โรงไฟฟ้าทั้ง 3 กลุ่มรวมกันจะมีขนาดของกำลังการผลิตใหญ่กว่า EGCOMP ถึง 7 เท่า และการระดมทุนของ กฟผ.ในครั้งนี้จะมีมูลค่าโครงการใหญ่เป็นอันดับ 1 ใน 3 ของเอเซีย

นโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่นำมาใช้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งถือเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีของประเทศนั้น ไม่ได้หมายความว่า ยกหน่วยงานแห่งนี้ให้เอกชนไปดำเนินการแทนที่หน่วยงานของรัฐ แต่หมายความว่าให้มีการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนให้มากขึ้น การแปรรูป กฟผ.ที่ดำเนินการอยู่ในตอนนี้ คือ ให้บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินมาจัดโครงสร้างกิจการเพื่อนำธุรกิจบางส่วนเข้าจทดะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

มล.ชนะพันธ์ กฤดากร ผู้อำนวยการสำนักงานแผนวิสาหกิจของ กฟผ. อธิบายเรื่องนี้ว่า "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือ PRIVATIZATION ตามความหมายของนโยบายรัฐก็คือ การเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยจะพิจารราตามความเหมาะสมว่า จะให้เอกชนเข้ารับผิดชอบในส่วนใด ไม่ได้หมายความว่า จะนำเอากิจการของรัฐไปขายให้กับเอกชนทั้งหมด เนื่องจากกิจการบางส่วนซึ่งรัฐเห็นว่าสมควรที่จะสงวนไว้เพื่อความมั่นคง หรือเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย รัฐก็จะเป็นฝ่ายดำเนินกิจการนั้นเอง"

แนวความคิดในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้เริ่มมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 จากการที่ภาครัฐบาลต้องการลดภาระการลงทุน และต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดการ และบริหารงานบริการของรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กฟผ.ก็เป็นกิจการหนึ่งของภาครัฐที่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานให้มีลักษณะเป็นธุรกิจมากขึ้น โดยเริ่มจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงานระหว่างปี 2535-2539 ว่า ทั้ง 3 การไฟฟ้าคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะต้องมีการปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นบริษัทจำกัด

โดยในส่วนของ กฟผ.นั้น จะมีขั้นตอนในการปรับเปลี่ยน 4 ระยะ คือ ขั้นตอนที่ 1 (2535/2536) เริ่มจากการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี และมีการจัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในเชิงธุรกิจ รวมทั้งทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงในเชิงธุรกิจด้วย

นอกจากนี้ ยังต้องมีการดำเนินการเพื่อให้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริง และยกเลิกนโยบายกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเท่ากันทั่วประเทศ ในขั้นตอนแรกนี้รวมถึงการตั้งบริษัทผลิตไฟฟ้าจำกัด เพื่อรับซื้อโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมระยองจาก กฟผ.ด้วย จากนั้นก็นำบริษัทผลิตไฟฟ้าที่จัดตั้งขึ้นเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขั้นตอนที่ 2 (2536/2537) ให้บริษัทผลิตไฟฟ้าซื้อโรงไฟฟ้าขนอมจาก กฟผ.เชิญชวนให้เอกชนลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่ขาม และให้มีการกำหนดสัดส่วน และโครงการในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวที่จะให้เอกชนลงทุนและดำเนินการในรูปของโรงไฟฟ้าเอกชน และก็มีการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจด้วยการแบ่งเป็นหน่วยธุรกิจ เพื่อกระจายอำนาจในการบริหารงานออกจากส่วนกลาง

และในส่วนของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็แปลงเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี รวมทั้งปรับโครงสร้างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคออกเป็นหน่วยธุรกิจเพื่อรับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าในแต่ละภาค และในระยะนี้จะเริ่มปรับอัตราค่าไฟฟ้าในระดับขายปลีกในแต่ละภูมิภาคเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนส่วนเพิ่ม

ขั้นตอนที่ 3 (2537/2538) กำหนดให้แปลงการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นบริษัทจำกัด โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติ และแปลง กฟผ.ให้เป็นบริษัทมหาชน เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่จะมีการก่อสร้างในช่วงปี 2538-2544

ขั้นตอนสุดท้าย (2538/2539) ระบุให้แยกบริษัทการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จำกัด เป็นบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าในแต่ละภาคตามหน่วยธุรกิจที่ได้จัดตั้งแล้ว และท้ายที่สุด คือ การเพิ่มทุน โดยการกระจายหุ้นบริษัทการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จำกัด (มหาชน) เพื่อก้าวไปสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งรัฐก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน กฟผ. อยู่

นั่นคือดำริเริ่มแรกตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว แต่มาถึง ณ วันนี้ แผนงานที่วางไว้มีการเลื่อนระยะเวลาออกไปเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ กฟผ.ทำตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว กฟผ.ต้องมีการเตรียมตัวในการเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี ซึ่งประเด็นนี้เองที่ กฟผ.ใช้เวลาอย่างมากในการทำความเข้าใจ และตกลงกับกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเงื่อนไขการวัดและประเมินผลการดำเนินงานของกฟผ. หลังจากเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีแล้ว ทำให้การอนุมัติให้ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีล่าช้ากว่ากำหนดเดิมไปประมาณ 1 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2535/2536 ซึ่ง กฟผ.เพิ่งได้รับอนุมัติให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537

"การเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดี หมายถึง การที่รัฐยอมปล่อยให้รัฐวิสาหกิจมีอิสระในการดำเนินงานมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่ารัฐวิสาหกิจนั้น ๆ สามารถดูแลตัวเองได้ และสามารถสร้างผลประกอบการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐวางไว้ได้" มล.ชนะพันธุ์ อธิบาย

สำหรับเงื่อนไขในการได้รับเลื่อนฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจชั้นดีตามความหมายของทางการ รัฐวิสาหกิจนั้นจะต้องมีอัตรานำส่งรายได้เข้ารัฐจะต้องไม่น้อยกว่า 30% อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต้องไม่ต่ำกว่า 6% ของสินทรัพย์ อัตราค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือนและสวัสดิการต่อต้นทุนต้องไม่เกิน 20% ของค่าใช้จ่ายรวมทุกชนิด และอัตราเพิ่มของผลผลิตต้องไม่ต่ำกว่า 2% ต่อปี และที่สำคัญการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนต้องเป็นไปตามที่กระทรงการคลังกำหนด

"วิธีการตรวจสอบว่า รัฐวิสาหกิจใดเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดีนั้น จะต้องนำข้อมูลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีมาเป็นตัวพิจารณา ซึ่งถ้าเข้าเกณฑ์ที่กำหนด เขาก็จะอนุมัติให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี ซึ่ง กฟผ.ก็ได้รับอนุมัติตั้งแต่ ส.ค.ปี '37 จากนั้นทุก ๆ ปีก็จะมีการประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องว่า มีส่วนไหนที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์บ้าง ถ้ามีก็จะถูกปรับ ซึ่งปี '38 ที่ผ่านมา เราก็ผ่านข้อกำหนด ส่วนในปีนี้ยังไม่ได้ประเมินแต่คาดว่าไม่มีปัญหา" มล.ชนะพันธุ์ กล่าวและเล่าถึงการดำเนินการในระยะเวลาที่ผ่านมาของ กฟผ. ว่า

หลังจากที่ กฟผ.ได้รับการอนุมัติให้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดีแล้ว ก็ได้มีการพิจารณาเตรียมที่จะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นบริษัทจำกัดมหาชน โดยได้มีการปรับปรุงการบริหารงานภายในองค์กรไปบ้างแล้ว เช่น มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ การปรับปรุงข้อบังคับที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนการพัฒนาระบบบัญชีการเงินและงบประมาณ การจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ เป็นต้น

จากนั้น กฟผ.ก็ได้ทำการทบทวนเป้าหมายในการเป็นบริษัทมหาชนใหม่ เนื่องจากเล็งเห็นว่า กิจกรรมด้านปฏิบัติการระบบส่ง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นกิจกรรมที่รัฐจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ โดยการปฏิบัติการระบบส่งนั้น มีความสำคัญในเรื่องของการกำกับดูแลภาพรวมของระบบไฟฟ้าทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางแผนกำลังการผลิตและระบบส่ง การควบคุมการผลิตที่มีเอกภาพและมีความมั่นคง

ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำนั้น ก็ต้องพิจารณาการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งทางด้านชลประทาน คมนาคม การผลิตไฟฟ้า และอื่น ๆ ซึ่งการที่จะดำเนินการสิ่งเหล่านี้ได้จะต้องอาศัยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยเป็นผู้พิจารณาจัดสรรการใช้น้ำ นอกจากนั้นกิจกรรมสนับสนุนอื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นศูนย์กลางค่าใช้จ่ายก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจแข่งขันกับเอกชนได้ กฟผ.จึงเห็นว่าไม่สมควรแปรรูปกิจกรรมเหล่านี้เป็นบริษัทจำกัด แต่ยังคงให้เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่

ดังนั้น กฟผ.จึงได้เสนอขอทบทวนมติครม.ใหม่ โดยขอนำบริษัทย่อยไปจัดตั้งเป็นบริษัทมหาชนแทนการที่จะให้กฟผ.ทั้งองค์กรเข้าไปจดทะเบียนเอง

"ความเป็นไปได้ที่จะนำ กฟผ.เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นมีน้อยมาก เนื่องจาก กฟผ.เป็นองค์กรใหญ่ที่มีฐานของสินทรัพย์สูงถึง 200,000 ล้านบาท ดังนั้นการที่ตลาดฯจะสามารถรองรับองค์กรขนาดนี้มีความเป็นไปได้ยากและบางหน่วยงาน เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งมีเรื่องเขื่อนเข้ามาเกี่ยวข้อง และเขื่อนก็มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการชลประทานการเกษตรด้วย ซึ่ง 2 ประเด็นหลังเป็นวัตถุประสงค์หลักมากกว่า ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้ ดังนั้นจึงไม่เป็นการสมควรที่จะแปลงกฟผ.ทั้งองค์กรเป็นบริษัทมหาชน" ผู้อำนวยการสำนักงานแผนวิสาหกิจของ กฟผ.ชี้จง

แผนใหม่ กฟผ.ดันบริษัทลูก
เข้าจดทะเบียนฯ แทน

แนวทางการดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของ กฟผ.จึงได้ถูกกำหนดขึ้นใหม่ โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค. '38 กฟผ.ได้เสนอให้มีการทบทวนมติครม.ของวันที่ 12 ก.ย. '35 ใหม่ โดยในเบื้องแรกได้ขอเลื่อนระยะเวลาในการปรับเปลี่ยน กฟผ.เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) จากเดิมปีงบประมาณ 2539 เป็นปีงบประมาณ 2541 และล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา กฟผ.ได้ขอทบทวนมติอีกครั้ง โดย กฟผ.ได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงการปรับ กฟผ.เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) เป็นให้ กฟผ.จัดตั้งบริษัทย่อย และเปลี่ยนบริษัทย่อยเหล่านั้นที่มีความพร้อมแล้วให้เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ทยอยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2541 เป็นต้นไป

การดำเนินการแปรรูปของ กฟผ.ก็เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2539 นี้ กฟผ.ได้มีการจัดโครงสร้างการดำเนินงานออกเป็น 6 หน่วยธุรกิจ (BUSINESS UNIT : BU) คือ ธุรกิจระบบส่ง ธุรกิจโรงไฟฟ้า ธุรกิจบำรุงรักษา ธุรกิจเหมือง ธุรกิจวิศวกรรม และธุรกิจก่อสร้าง

พร้อมทั้งแยกหน่วยปฏิบัติการ (OPERATIVE UNIT : OU) ออกเป็น 5 หน่วย คือ หน่วยงานนโยบายและแผน หน่วยงานบัญชีและการเงิน หน่วยงานบริหาร หน่วยงานพัฒนาธุรกิจ และหน่วยงานโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ได้ดำเนนการไปเรียบร้อยแล้ว

ต่อจากนั้น ในปีงบประมาณ 2540 กฟผ.ก็จะเริ่มจัดตั้งหน่วยธุรกิจที่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจในลักษณะของบริษัทจำกัด (ยกเว้นธุรกิจระบบส่งที่จะไม่แยกออกเป็นบริษัทจำกัด แต่ยังคงอยู่ในความดูแลของ กฟผ. เนื่องจากระบบส่งเป็นเสมือนตัวกลางเชื่อมระหว่าง กฟผ.กับผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า) นำมาแปลงสภาพจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทจำกัดมหาชน และทยอยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

อย่างไรก็ดี มล.ชนะพันธ์ ได้เล่าต่ออีกว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กฟผ.ดำเนินการปรับโครงสร้าง และแปรรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. และได้เพิ่มเติมให้ กฟผ.ไปศึกษาต่อว่า "โรงไฟฟ้าควรเป็นหน่วยธุรกิจเดียวหรือหลายหน่วย"

ซึ่งผลการศึกษาในเบื้องต้นนั้น เขาได้ชี้แจงว่า กฟผ.ได้รับความร่วมมือจาก เอสซีบี ซีเคียวริตี้ส์, บล.เอกธำรง และมอร์แกน สแตนเลย์ ซึ่งทั้ง 3 บริษัทนี้ได้ทำการศึกษา และสรุปออกมาว่า กฟผงควรแยกธุรกิจผลิตไฟฟ้าออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อให้มีระดับการแข่งขันที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการ

ทั้งนี้ กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้าบางประกง และอื่น ๆ โดย เอสซีบี ซีเคียวริตี้ส์, บล.เอกธำรง และมอร์แกน สแตนเลย์ รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษา

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มไฟฟ้าราชบุรี และอื่น ๆ ซึ่งมีกลุ่มของ บงล.ทิสโก้ และเอสซีบี วอร์เบอร์กเป็นผู้ศึกษาในรายละเอียด

และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และอื่น ๆ ซึ่งมีกลุ่มของ บล.เจ.เอฟ.ธนาคม, บงล.ภัทรธนกิจ และโกลด์แมนซาคส์ร่วมกันศึกษาในรายละเอียด

ทั้งนี้ การศึกษาของกลุ่มที่ปรึกษาทั้ง 3 กลุ่มนี้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่สำหรับผลสรุปที่ได้นั้นก็เป็นเพียงแนวทางหนึ่งที่ กฟผ.รับไว้พิจารณาเท่านั้น หากยังมิได้มีการขออนุมัติเป็นทางการแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี มล.ชนะพันธุ์ได้ให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่ต้องแยกธุรกิจโรงไฟฟ้าออกเป็น 3 กลุ่มว่า

"สาเหตุที่ต้องแบ่งเป็น 3 กลุ่มก็คือ ทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่ กฟผ.มีก็มีมูลค่ามาก ที่ปรึกษาทั้ง 3 แห่งก็ได้ทำการศึกษาและนำผลการศึกษาเสนอ กฟผ.แล้วเห็นชอบให้แบ่งเป็น 3 กลุ่มเพื่อให้สินทรัพย์กระจายน้อยลง และยังคงอยู่ในความสามารถที่จะเข้าระดมทุนได้ ประกอบกับลักษณะการดำเนินกิจกรรมของแต่ละโรงไฟฟ้าก็ต่างกัน เช่น แม่เมาะก็ใช้ถ่านหิน บางปะกงก็ใช้แก๊สจากอ่าวไทย ส่วนที่ราชบุรีใช้แก๊สจากพม่า"

การดำเนินการต่าง ๆ เหล่านี้ กฟผ.ไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง หากต้องมีที่ปรึกษาผู้ชำนาญการในเรื่องต่าง ๆ เข้ามามีส่วนช่วยในการศึกษาความเป็นไปได้รวมถึงแนวทางการปฏิบัติจริง เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

ดังนั้นการศึกษาในส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้า กฟผ.ได้มีการคัดเลือกที่ปรึกษาส่วนกลาง ซึ่งจะเข้ามาศึกษาการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน เริ่มจากงานที่ปรึกษาด้านการบริหารงาน ทีมที่ปรึกษาที่ได้รับเลือก คือ ทีมของบริษัทแอนเดอร์สัน คอนซัลท์ติ้ง

ส่วนที่ปรึกษาทางด้านการเงิน กฟผ.ได้ทีมงานที่มีความรู้ในกิจการไฟฟ้าและประสบการณ์ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างดี นั่นคือ กลุ่มบง.เอกธนกิจ, ลีห์แมน บราเธอร์ และไคลน์เวิร์ท เบนสัน (KLEINWORT BENSON)

ที่ปรึกษาในเรื่องของการประเมินราคาสินทรัพย์ของ กฟผ. (FIXED ASSETS VALUER) บริษัทอเมริกัน แอพเพอรส์ซัล และบริษัทโจนส์ แลงน์ วูตตันรับหน้าที่นี้ไป

สำหรับที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำ TOR (TERM OF REFERENCE) ส่วนงานด้านวิศวกรรม กฟผ.จะพิจารราจ้างตามความจำเป็น ซึ่งที่ปรึกษาในส่วนกลางนั้นได้เริ่มทำการศึกษาตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.เป็นต้นมา

"ขั้นตอนในการศึกษานั้น คาดว่าจะเสร็จทันในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นก็จะมีการสรุปหลักการในการแปรรูปฯ ทั้งหมด รวมถึงทำแผนงานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการไฟฟ้าเพื่อพิจารณาปรับปรุงต่อไป และเมื่อผ่านขั้นตอนนี้ไปแล้วก็จะนำแผนงานที่สรุปได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป"

ธเนศ ภู่ตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการของ FIN1 กล่าวในฐานะหนึ่งในทีมที่ปรึกษาทางการเงิน พร้อมกันนั้นเขายังได้เผยถึงการนำบริษัทโรงไฟฟ้าทั้ง 3 บริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยว่า

"กลุ่มโรงไฟฟ้าทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงไฟฟ้าบางปะกง กลุ่มโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และกลุ่มโรงไฟฟ้าราชบุรีจะทยอยเข้าจดทะเบียนในตลาดทันทีที่มีความพร้อมหรือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2541 เป็นต้นไป ซึ่งมูลค่าตามราคาตลาดรวมของทั้ง 3 กลุ่มนี้จะมีขนาดใหญ่กว่า EGCOMP ประมาณ 7 เท่า โดยแต่ละกลุ่มโรงไฟฟ้าขณะนี้มีกำลังการผลิตประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ รวมเป็น 15,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ BGOMP มีกำลังการผลิตประมาณ 2,000 เมกะวัตต์เท่านั้น

นอกจากนั้น สินทรัพย์ของทั้ง 3 กลุ่มรวมกันมีมูลค่าประมาณ 1.2 แสนล้านบาท เฉลี่ยแต่ละกลุ่มจะมีสินทรัพย์ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท และถ้าหากการแปรรูปสำเร็จแล้ว บริษัทโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งก็จะมีขนาดสินทรัพย์เพิ่มเป็น 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งการระดมทุนของ กฟผ.ในครั้งนี้จะมีมูลค่าโครงการใหญ่เป็นอันดับ 1 ใน 3 ของเอเซียทีเดียว"

ทั้งนี้และทั้งนั้นยังไม่เกิดข้อสรุปใด ๆ ว่า กฟผ.ภายหลังการแปรรูปแล้วจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เรื่องราวทั้งหมดที่นำเสนอเป็นเพียงแนวทางที่ กฟผ.กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งผลการศึกษา จะสามารถสรุปออกมาได้ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.