กรุงเทพฯเมืองแฟชั่นลุยเฟส 2ระดมสมองต่อยอด 3 แผนงาน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(14 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กรุงเทพเมืองแฟชั่นลุยเฟส 2 เพิ่มการพัฒนาขีดความสามารถของแต่ละสาขา พร้อมนำศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านแฟชั่นต่อยอดเขียนเป็นหลักสูตรนานาชาติโดยจุฬาฯขณะเดียวกันนำผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายเปิดโรดโชว์หวังเจาะตลาดเป้าหมาย

ปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"ว่าหลังจากจบโครงการในระยะแรกแล้ว โครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่นกำพลังเตรียมการที่จะทำเวิร์คช้อปเพื่อเตรียมขยายโครงการสู่ระยะที่สอง โดยในปลายเดือนสิงหาคมนี้จะเริ่มระดมสมอง โดยเน้นการเสนอแนวทางการต่อยอดของ 3 แผนงานคือ แผนงานแรก เพิ่มขีดความสามารถของแต่ละสาขาที่มีแนวโน้มดี เช่น สาขาเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า แผนงานที่สอง ให้ความรู้กับผู้ประกอบการโดยการเปิดห้องสมุดแฟชั่นเพื่อรวบรวมความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่นทั้งหมดที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแฟชั่นของไทย ประการที่สามเป็นแนวทางในการต่อยอดด้านการศึกษาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังจัดทำหลักสูตรการศึกษาในระดับปริญญาโท ในการพัฒนาบุคลากรด้านแฟชั่นซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดหลักสูตรดังกล่าวนี้ในการศึกษาในปี 2550

อย่างไรก็ดีในโครงการระยะที่หนึ่งเราได้มีการเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายทั่วโลกซึ่งได้รับความสนใจทั้งจากนักลงทุนชาวไทยและนักลงทุนในต่างประเทศมาก ดังนั้นโครงการในระยะที่สองยังคงเดินหน้าเจาะกลุ่มตลาดเป้าหมายต่อไป โดยในราวปลายเดือนสิงหาคมนี้จะไป "โรดโชว์"ที่ประเทศดูไบและสหรัฐอเมริกาเน้นสินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าและเครื่องหนัง มีทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องหนัง รองเท้า

"โครงการเจาะตลาดเป้าหมาย (Bangkok Fashion City Roadshow 2005/6) เป็นหนึ่งใน 11 โครงการของกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น วัตถุประสงค์ เพื่อลดอุปสรรคในการทำตลาดสินค้าแฟชั่นในต่างประเทศ ให้สามารถนำตราสินค้าไทยเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง และเพื่อเป็นการเผยแพร่ภาพลักษณ์ของการเป็นศูนย์กลางแฟชั่นในภูมิภาคสู่ตลาดโลกเป้าหมายของโครงการนี้คือ สร้างภาพลักษณ์ของสินค้าแฟชั่นไทย และทำการตลาดสินค้าแฟชั่นในกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศเป้าหมาย โดยการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง สร้างช่องทางการตลาดให้กับสินค้าแฟชั่นไทยที่มีตราสินค้าของตนเองในระยะยาว"

ปัจจุบันกรุงเทพฯเมืองแฟชั่นนับว่าประสบผลสำเร็จพอสมควร โดยดูได้จากแนวโน้มการส่งออกสินค้า 3 ประเภทหลักคือ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าในปีนี้พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา โดยตลาดส่งออกหลักลำดับแรกของไทย คือ สหรัฐฯ มูลค่า 212.77ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.10 อันดับสองคือ ออสเตรเลีย มูลค่า 105.72ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 435.54 อันดับสาม คือฮ่องกงไทยส่งออกได้ 94.39ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.19

ขณะที่แนวโน้มมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มพบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักแถบสหภาพยุโรปมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (ฝรั่งเศส 30.97% อิตาลี 23.42% เบลเยียม 12.07%) และการออกมาตรการ Safeguard การนำเข้าสินค้า สิ่งทอจากจีนของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซึ่งเริ่มใช้ในเดือนกรกฎาคม 2548 ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้า sportwear ยังมีแนวโน้มที่ดี ประกอบกับการพัฒนาระบบ VMI ของโรงงานใหญ่ๆ ของไทยทำให้สามารถสร้างระบบ supply chain กับลูกค้าเป็นการสร้างความแข็งแกร่งด้านการบริการให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

ส่วนสินค้าเครื่องหนัง เครื่องใช้ในการเดินทาง และรองเท้า เป็นสิค้าที่มีการแข่งขันสูงทำให้มูลค่าในการส่งออกลดลง เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามซึ่งเน้นการผลิตสินค้าในระดับเดียวกับไทย และมีต้นทุนการผลิตที่ ต่ำกว่า ฤดูการสั่งซื้อสินค้าเป็นช่วงกลาง-ปลายปี ซึ่งคาดว่าการส่งออกจะเป็นตามเป้าหมายได้ เนื่องจาก EU ได้ออกมาตรการ AD สินค้ารองเท้าจากจีน และ เวียดนาม นอกจากนี้ ไทยยังคงได้รับการไว้วางใจในด้านคุณภาพของสินค้าจากบริษัทผู้ว่าจ้างการผลิตรองเท้ากีฬารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เช่น บริษัทไนกี้ และ รีบอค วึ่งถือเป็นจุดแข็งของเรา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.