ราชบุรีประมูลไอพีพี 3 รักษาสัดส่วนผลิต 15%


ผู้จัดการรายวัน(11 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ทุ่มเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ประมูลไอพีพี 3 โครงการ ผลิตไฟฟ้า 2.1 พันเมกะวัตต์ เพื่อรักษาสัดส่วนการผลิตไฟให้ได้15% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ส่วนโครงการต่างประเทศยังเดินหน้าทั้งที่ลาวและพม่า

นายธวัช วิมลสาระวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการพัฒนาธุรกิจ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมแผนที่จะเข้าประมูลโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) รอบใหม่ โดยจะร่วมประมูล 3 ยูนิต ยูนิตละ 700 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะประมูลในนามบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งมีพื้นที่รองรับไว้แล้ว 70 - 100 ไร่ บริเวณเดียวกับโรงไฟฟ้าราชบุรี สามารถผลิตไฟฟ้าได้อีก 700 เมกะวัตต์ และจะประมูลในนามของบริษัทไตรเอนเนอจี้ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทกับเชฟรอน มีพื้นที่ขยายกำลังผลิตได้อีก 700 เมกะวัตต์

โดยการเข้าร่วมประมูลไอพีพีครั้งนี้ เพื่อต้องการรักษาสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของบริษัทให้อยู่ในระดับ 14-15% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันราชบุรีฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 3995 เมกะวัตต์ นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินใหม่ เพื่อเข้าประมูลอีก 700 เมกะวัตต์ ส่วนจะเป็นที่ใดนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านสายส่ง แหล่งน้ำ รวมทั้งชุมชน ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้าไอพีพีจะมีทั้งก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน

"ขณะนี้พื้นที่ของโรงไฟฟ้าราชบุรีได้แยกโฉนดต่างหากเพื่อการประมูลไอพีพีล็อตใหม่แล้ว และปัจจุบันได้อีไอเอแล้ว คาดว่าต้นทุนการผลิตในยูนิตนี้จะต่ำ เนื่องจากมีระบบสาธารณูปโภครองรับไว้อยู่แล้ว"

นางวัจนา อังศุโกมุทกุล รองกรรมการผู้จัดการบัญชีและการเงิน ราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า ได้ศึกษากฎของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุแล้ว พบว่าไม่มีข้อห้ามที่จะไม่ให้บริษัทเข้าร่วมประมูล ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาทราบว่ามีหลายฝ่ายได้ชี้แจงกับคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า หรือ Regulator แล้ว ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น

ส่วนการลงทุนในครึ่งปีหลัง นอกจากประมูลไอพีพีแล้ว ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมราชบุรีเพาเวอร์ ขนาด 1400 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ประมาณปี 2551 ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ - น้ำงึม 2 ขนาด 615 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในสปป.ลาว คาดว่าจะเดินเครื่องได้ในเดือนมกราคม 2556 และโครงการโรงไฟฟ้าน้ำงึม 3 กำลังผลิต 460 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทจะเข้าไปถือหุ้น 25% อยู่ระหว่างการเจรจาค่าไฟฟ้า คาดว่าจะจบในปีนี้ โดยทั้งสามโครงการจะลงทุนรวม 6000 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน

โครงการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายโครงการทั้งในสปป.ลาว และพม่าเพิ่มเติมอีกด้วย รวมทั้งบริษัทยังสนใจที่จะเข้าไปร่วมประมูลทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (RPS) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และระบบรวม ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามเงื่อนไขการประมูล RPS ว่าจะประมูลรวมกับไอพีพีหรือแยกประมูล

นางวัจนา กล่าวว่า แม้บริษัทจะมีการลงทุนค่อนข้างมากในอนาคต แต่ยังยืนยันจะจ่ายเงินปันผลในอัตราส่วนเท่าเดิม คือ 40% ของกำไรสุทธิ โดยคณะกรรมการบริษัทจะมีการพิจารณาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ และคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลในเดือนกันยายนปีนี้

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ บริษัทมีรายได้รวม 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% และกำไรสุทธิ 1.46 พันล้านบาท ลดลง 21.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทมีรายได้ค่าความพร้อมจ่าย (เอพี) ลดลง รวมถึงการหยุดเดินเครื่องบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมยูนิต 1 เป็นเวลา 50 วัน

สำหรับไตรมาส 3 นั้น ยังมีค่าใช้จ่ายในการหยุดซ่อมบำรุงของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมชุดที่ 1 CCGT - 11 ที่เริ่มเดินเครื่องเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม อีก 100 ล้านบาท คาดว่าผลประกอบการในไตรมาส 3 จะดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนไตรมาส 4 มีการหยุดซ่อมบำรุงน้อยมาก จึงคาดว่าจะมีกำไรสุทธิสูงสุดเมื่อเทียบทั้งปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.