|
KTBหันรุกสินเชื่อหน่วยงานรัฐตั้งเป้าทั้งปีปล่อยกู้1.5หมื่นล้าน
ผู้จัดการรายวัน(10 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์กรุงไทยหันรุกสินเชื่อภาครัฐชดเชยเมกะโปรเจกต์เลื่อน ตั้งหน่วยงานดูแลเพิ่มอีก 2 สายงาน หวังดันยอดปล่อยกู้ให้ได้ตามเป้า 1.5 หมื่นล้าน หรือโต 12-15% จากยอด 6-7 เดือนที่ผ่านมาปล่อยกู้ได้ 7.8 พันล้าน ระบุเป็นตลาดที่ยังมีความต้องการสูงและมีหนี้เสียน้อย พร้อมเตรียมจัดเงื่อนไขพิเศษให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกับลูกค้าหน่วยงานรัฐด้วย
นายปรีชา ภูขำ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับโครงสร้างองค์กรสายงานธุรกิจภาครัฐใหม่ โดยเพิ่มหน่วยงานที่จะมาดูแลการให้สินเชื่อของส่วนราชการอย่างเต็มที่อีก 2 สายงาน คือฝ่ายราชการสัมพันธ์ 1 และฝ่ายราชการสัมพันธ์ 2 จากเดิมที่มีเพียงฝ่ายราชการสัมพันธ์เท่านั้น เพื่อเป็นการรุกขยายสินเชื่อภาครัฐอย่างเต็มที่ในปีนี้ พร้อมทั้งเพิ่มพนักงานในการดูแลจากเดิมมีจำนวนพนักงาน 25 คน เพิ่มเป็น 50 คน เพื่อดูแลหน่วยงานภาครัฐครอบคลุมทุกกระทรวงทุกกรมได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าจะช่วยทำให้ธนาคารสามารถขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นได้อีกมาก
“ปีนี้ธนาคารจะรุกขยายสินเชื่อภาครัฐมากขึ้น ซึ่งการปรับโครงสร้างในครั้งนี้จะทำให้การดูแลของธนาคารมีความใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้มั่นใจว่าธนาคารจะขยายสินเชื่อกับหน่วยงานภาครัฐได้ดีขึ้นก็จะทำให้สินเชื่อสามารถขยายตัวได้สูงขึ้น เนื่องจากยังมีข้าราชการอีกมากที่ยังมีความต้องการสินเชื่อ ตอนนี้ธนาคารเริ่มรุกไปยังกระทรวงกลาโหม ข้าราชการต้องการอะไร เราก็จะสนับสนุน เพื่อชดเชยสินเชื่อโครงการเมกะโประเจ็กต์ที่เลื่อนออกไป อย่างไรก็ตามโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่เลื่อนออกไปไม่ถือว่ากระทบมาก เนื่องจากส่วนใหญ่โครงการเมกะโปรเจ็กต์จะใช้เงินกู้จากต่างประเทศ” นายปรีชา กล่าว
สำหรับในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อภาครัฐโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12-15% ของสินเชื่อรวมของธนาคาร หรือคิดเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท โดยในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารได้มีการปล่อยสินเชื่อสุทธิอยู่ที่ 7-8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 6-7%
“ในครึ่งปีแรกนอกจากสินเชื่อที่ปล่อยได้ 7.8 พันล้านบาทแล้ว ยังมีสินเชื่อที่ปล่อยให้กระทรวงการคลัง 3.5 หมื่นล้านบาท แต่เป็นสินเชื่อระยะสั้น 2-3 เดือน จึงไม่สามารถนำมารวมในยอดสินเชื่อได้” นายปรีชา กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีนโยบายที่จะให้เงื่อนไขพิเศษกับลูกค้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในส่วนของเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าลูกค้าทั่วไปที่จูงใจกว่าตลาด เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐแทบไม่มีความเสี่ยง ขณะเดียวกันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ผ่านมาของลูกค้าหน่วยงานภาครัฐก็แทบจะไม่มี นอกจากนี้ธนาคารยังได้ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาตอบสนองภาครัฐ ซึ่งล่าสุดธนาคารกำลังพิจารณาปล่อยกู้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมถึงเทศบาล โดยเป็นการปล่อยสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน ให้แก่องค์กรต่างๆ ไปใช้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|