"แบงก์ชาติ"โยนลูกให้คลังชี้ขาดขึ้นดอกเบี้ยบัตรเครดิตเป็น20%


ผู้จัดการรายวัน(9 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติชงคลังตัดสินข้อเสนอผู้ประกอบการบัตรเครดิตให้ปรับขึ้นเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 18% เป็น 20% และกรณีขอลดวงเงินชำระขั้นต่ำเหลือ 5% ระบุต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ของผู้ประกอบการและภาระของประชาชน แต่ยอมรับผู้ประกอบการมีต้นทุนการเงินที่สูงขึ้นจริงๆ

นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะเสนอกระทรวงการคลังเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตเสนอให้ธปท.พิจารณาปรับขึ้นเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 18% มาเป็น 20% รวมถึงการเสนอขอปรับลดวงเงินการผ่อนส่งบัตรเครดิตรายเดือนจาก 10% เหลือ 5% อีกทั้งประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ที่ขอมาทั้งหมดให้กระทรวงการคลังพิจารณาภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ สาเหตุที่ธปท.จำเป็นต้องเสนอกระทรวงการคลังเพื่อให้พิจารณาในเรื่องดังกล่าวนั้น เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตนั้น นอกเหนือจากพ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์แล้ว ในส่วนที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินการเงิน จะต้องออกประกาศด้วย ปว.58 ซึ่งทั้ง 2 กฎหมายเป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง เมื่อ ธปท.พิจารณาเรื่องเหล่านี้แล้ว และได้ความเห็นชัดเจน ก็จำเป็นต้องเสนอกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาในขั้นตอนต่อไป

“โดยความเห็นที่เสนอกระทรวงการคลังไปครั้งนี้ มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วยให้มีการปรับเปลี่ยนตามข้อเสนอของผู้ประกอบการบัตรเครดิต และเรื่องที่ไม่เห็นควรให้ปรับเปลี่ยน เพราะไม่ว่าจะเห็นควรหรือไม่เห็นควร ธปท.ต้องให้เหตุผลกระทรวงการคลังด้วยว่าทำไมเรื่องนี้ให้ และทำไมเรื่องนี้ไม่ให้ เพื่อให้คลังมีข้อมูลในการพิจารณา และให้ความเห็น ซึ่งการเสนอครั้งนี้ไม่ใช่การเสนอความเห็นให้คลังรับทราบ และดำเนินการออกประกาศ แต่เป็นการเสนอความเห็นเพื่อให้พิจารณา เพราะคลังเป็นผู้มีอำนาจในเรื่องนี้ ธปท.เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้พิจารณาเท่านั้น”นายเกริกกล่าว

นายเกริก กล่าวอีกว่า ทุกกรณีที่ทางผู้ประกอบการบัตรเครดิตได้ขอมาทางธปท. หลักการในการพิจารณาก็คือจะต้องดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ เปรียบเทียบกับผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งเท่าที่ได้รับข้อมูลนั้น ยอมรับว่าในภาวะปัจจุบันนั้น ทางผู้ประกอบการบัตรเครดิตมีต้นทุนในการประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องดูภาระที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนด้วย โดยดูว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการนั้น เพิ่มขึ้นมากจนกระทั่งจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตให้หรือไม่ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น สร้างภาระให้ประชาชนมากน้อยเพียงใด และจะสร้างผลกระทบในด้านใดบ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ธปท.เพิ่มเติมว่า ข้อเสนอที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิตขอมา และธปท.ได้จะเสนอกระทรวงการคลังในครั้ง ประกอบด้วย การขอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตจาก 18% เป็น 20% การไม่ยกเลิกบัตรเครดิต กรณีลูกค้าเก่าที่ไม่แจ้งยอมรายได้ปัจจุบัน แต่มีการผ่อนชำระต่อเนื่อง โดยไม่มีการติดหนี้ และการปรับลดวงเงินผ่อนรายเดือนจาก 10% เหลือ 5% ในกรณีของลูกค้ารายเก่าที่จะต้องปรับขึ้นเป็น 10% ในวันที่ 1 เม.ย.2550 ซึ่งกรณีการปรับลดวงเงินผ่อนขั้นต่ำนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเทวกุล ผู้ว่าการธปท. ได้กล่าวก่อนหน้านี้แล้วว่า ธปท.ตัดสินใจว่าจะไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการลดวงเงินการผ่อนชำระจาก 10%ลงให้เป็นไปตามกำหนดเดิม แต่ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดว่า ทางธปท.ได้เสนอให้พิจารณาต้นทุนการดำเนินการของผู้ประกอบการอีกระยะก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตอีกครั้ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.