ความเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเคพีเอ็น เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่า
บางครั้งต้องยอมสูญเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการหาทางออกเพื่ออยู่รอด
หรือสนองวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่ สิ่งเหล่านี้ถูกต้อง ถูกกาลเวลาแค่ไหนต้องรอเวลาพิสูจน์
แต่ที่แน่นอน ณ ขณะนี้ กลุ่มเคพีเอ็น กำลังอหังการเต็มที่ อัตราเติบโตจะก้าวกระโดดอย่างน่าตื่นเต้น
มันได้สร้างภาพฝันให้กับ "กฤษณ์" ที่ว่า วันหนึ่งข้างหน้า เคพีเอ็นจะเป็นบริษัทข้ามชาติจะยิ่งใหญ่ได้ถึงขนาดนั้น
มีทางเป็นไปได้ และ "กฤษณ์" ก็เริ่มลงมือแล้ว
วันนี้ของ "กฤษณ์ ณรงค์เดช" กับวันนี้ แตกต่างกันอย่างมากจนเจ้าตัวรับรู้ได้
ความแตกต่างที่เกิดขึ้น ไม่ใช่รูปธรรมภายนอก แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายใน
เวลาราว 2 ปีกับหน้าที่การงานที่ดูจะเป็นภารกิจ ซึ่งหนักไม่น้อยสำหรับเด็กหนุ่มในช่วงวัยเบญจเพสได้กลายกลับมาเป็นประสบการณ์ที่ให้เขาได้เรียนรู้และกล้าแกร่งขึ้น
วันนี้ กฤษณ์ มีนิสัยใจคอ ความนึกคิดที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินวัย ที่สำคัญเขาอารมณ์เย็นขึ้น
ยอมรับฟังมากขึ้น ไม่แข็งกร้าว และใจร้อนเช่นช่วงแรก ๆ ที่เข้ามาบริหารงานในเครือข่ายเคพีเอ็น
ในฐานะทายาทคนโตของตระกูลณรงค์เดช
"KPN VISION 2000" งานที่จัดขึ้นเมื่อค่ำคืนที่ 5 ตุลาคม 2538
ณ โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่กลุ่มเคพีเอ็นเปิดภาพองค์กรออกสู่สาธารณชนและค่ำคืนนั้น
ความน่าสนใจหนึ่งได้ตกไปอยู่ที่ตำแหน่งรองประธานกลุ่มเคพีเอ็น
กฤษณ์ เข้ารับตำแหน่งรองประธานกุ่มเคพีเอ็น กลุ่มธุรกิจที่นับว่ายิ่งใหญ่ในอันดับต้น
ๆ ของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์เมืองไทย ซึ่งแม้ว่ากฤษณ์จะเป็นทายาทคนโตของตระกูล
แต่ด้วยวัยเพียง 25 ปีจึงมีเสียงวิจารณ์ว่า เร็วเกินไปหรือไม่ ที่เกษมและคุณหญิงพรทิพย์
ณรงค์เดช จะดันลูกชายขึ้นรับภารกิจที่มากมายเช่นนั้น
ผ่านมาหนึ่งปี กฤษณ์มิใช่เพียงสอบผ่านในตำแหน่งงานที่ดูเกินวัยเท่านั้น
แต่ได้รับความยอมรับ ความเชื่อมั่นกลับมาอย่างมาก ทั้งจากเกษม คุณหญิง คณะกรรมการบริษัท
และคนของเคพีเอ็นโดยส่วนใหญ่
ในระยะหลัง กฤษณ์มิใช่เพียงทายาทที่จะคอยสานงานที่พ่อ หรือแม่ได้วางไว้
เขาผู้นี้กลายเป็นตัวจักรสำคัญที่จะคิด และหาเป้าหมายในอนาคต
นโยบายหลัก ๆ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรแห่งนี้มาจากเขา และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากผลของนโยบายสำคัญ
ๆ นั้นก็เพื่อปูทางให้กลุ่มเคพีเอนเดินไปถึงเป้าหมายสำคัญที่กฤษณ์ได้ตั้งความหวังเอาไว้
เป็นความหวังที่กฤษณ์ได้ตั้งไว้และเป็นความฝันลึก ๆ ส่วนตัวหลังจากเข้ามาบริหารงาน
เมื่อ "กฤษณ์" เป็นผู้ใหญ่ วิสัยทัศน์จึงกว้างไกลเป็นพิเศษ
"ผมรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป เดิมผมคิดว่า ตอนนั้นหนุ่มมาก ๆ ใจร้อน
ตอนนี้ใจเย็นขึ้นหน่อย อันนี้อันที่หนึ่ง อันที่สองการรับฟัง ผมว่าผมรับฟังมากขึ้น
คือ มีประสบการณ์มากขึ้น อาจจะเป็นเพราะเป็นลูกคนโต และเรียนตรง ๆ ว่าตอนเด็ก
ๆ พ่อแม่ตามใจพอสมควร ตรงนี้ยอมรับแต่เมื่อประสบการณ์สอนเราและอายุมากขึ้นก็เลยเริ่มเย็นขึ้น
คนใกล้ ๆ กัน หลายคนก็บอกให้อารมณ์เย็นขึ้นหน่อย ผู้ใหญ่ก็มีบอก แต่ถ้าใครบอกเนี่ย
โดยส่วนตัวไม่ค่อยทำหรอก เลยคิดว่าเกิดจากตัวเองมากกว่า เป็นคนดื้อนิด ๆ
"
กฤษณ์ เล่าความเปลี่ยนแปลงของตนเอง และพูดถึงสาเหตุที่ใจเย็นขึ้นว่าน่าจะมาจากที่ครั้งได้บวชเมื่อปีที่แล้ว
ซึ่งช่วยได้มาก
"ผมบวชที่วัดบวรนิเวศฯ และก็นั่งสมาธิ แต่ก่อนที่จะบวชผมก็ศึกษาพระพุทธศาสนามากพอสมควร
ไม่ใช่ศึกษาในพระพุทธเจ้านะ ผมศึกษาคำสอนของท่านท่านเป็นนักปรัชญา ผมชอบมากจากครั้งนี้ทำให้ได้คิดและเย็นขึ้น"
ความที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น มีเหตุมีผล และรับฟังคนอื่นมากขึ้น ทำให้กฤษณ์ได้รับการยอมรับมากขึ้น
แต่กฤษณ์ก็ยอมรับว่า มุมมองของคนรอบข้างก็ยังอยู่ในโลกความจริงก็คือ คนชอบก็มี
คนเกลียดก็มี ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ตนเองต้องรู้ว่ากำลังทำอะไร จะนำองค์กรไปอย่างไร
และเมื่อมายืนอยู่ตรงนี้ก็ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน
กฤษณ์กำลังจะกล่าวถึงปมปัญหาขัดแย้งที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้
แม้กฤษณ์จะนึกเสมอว่า การดูแลคน 7-8 พันคนนั้น การแข็งกร้าวทางความคิดจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
ประกอบกับอายุยังน้อย ในสังคมไทยก็ควรรับฟังบ้าง ซึ่งกฤษณ์บอกว่าผู้ใหญ่หลายท่านที่เคพีเอ็นก็เปิดโอกาสให้พูดกันได้แสดงเหตุผลกันได้
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การกระทบกระทั่งก็ย่อมจะเกิดขึ้น
"คนเราเลือกเกิดไปไม่ได้ ถามเรื่องตำแหน่ง ส่วนตัวผมไม่สนใจเลย แต่ขอให้ได้ทำอะไร
เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ต่อผม ต่อครอบครัวผม แต่ต่อองค์กร ต่อบริษัทที่มีพนักงาน
7-8 พันคน ซึ่งอันนี้เป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะเราเป็นลูกคนโต
อันที่สองเราก็พยายามทำดีที่สุด แต่มันก็ต้องมีผิดบ้าง ผมก็ไม่ได้บอกว่าทำถูกทั้งหมด
แต่ว่าผมตั้งใจที่จะทำงาน และโชคดีที่ว่าทีมที่เข้ามามีความเข้าใจ ซึ่งตรงนี้สำคัญ"
ทีมงานส่วนใหญ่ที่ขึ้นมาใหม่ ซึ่งกฤษณ์บอกว่ามีความเข้าใจนั้น ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นทีมงานที่เรียกว่าเป็นคนวัยหนุ่มเกือบทั้งหมด
ประเด็นนี้กฤษณ์หัวเราะก่อนที่จะตอบว่า "คงมีส่วน ผมว่าคงหลีกเลี่ยงไม่ได้"
การเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงบางตำแหน่งและปรับลดหน่วยงานต่าง ๆ ในเครือข่ายเคพีเอ็นนั้น
ประหนึ่งว่าต้องการสนองแนวนโยบายการเดินทางไปสู่ "วิชั่น 2000"
ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่รออยู่เบื้องหน้า และกฤษณ์จะเป็นผู้ที่กำหนดชะตากรรม
ดังนั้นผู้บริหารที่จะร่วมเดินทางไปกับกฤาณ์ย่อมต้องมีวิสัยทัศน์ไปในทิศทางเดียวกัน
นี่คือเหตุที่ผู้บริหารหลายคนที่อายุยังน้อย และดูเหมือนผลงานไม่เด่นชัดนัก
ได้ขึ้นมายืนอยู่ในแนวหน้า
ไม่ว่าจะเป็นวิชชา วัชรานันท์ ที่ได้ตำแหน่งผู้อำนวยการด้านส่งเสริมธุรกิจกลุ่มเคพีเอ็น
หรืออย่างประพันธ์ พลธนะวสิทธิ์ ซึ่งล่าสุดดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ด้านการค้าของสยามยามาฮ่าและยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจ
1 และกรรมการผู้จัดการบริษัท สยามซูบารุ จำกัด ผู้บริหารเหล่านี้ คือ ตัวอย่างของนักบริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
เหมาะกับยุคสมัยตามแนวทางที่กฤษณ์คิดว่าควรจะเป็น
สำหรับข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการสะท้อนถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้นหลายเดือนมาแล้วภายในองค์กรเคพีเอ็น
โดยเฉพาะในส่วนของสยามยามาฮ่า โดยสรุปของเรื่องราวนั้นก็คือ ผู้บริหารระดับสูง
อาทิเช่น สิงห์ชัย ภูวโรดม อดีตกรรมการรองผู้อำนวยการด้านการตลาดของกลุ่มธุรกิจยามาฮ่า
ซึ่งถือเป็นผู้บริหารระดับสูงและเป็นคนเก่าคนแก่ที่ทำงานเคียงข้างคุณหญิงพรทิพย์มาตลอดได้ลาออก
เพราะปัญหาในเรื่องความซ้ำซ้อนในหน้าที่ที่คนใหม่ขึ้นมา
จากนั้น ทวีพร ทรงวุฒิ อดีตกรรมการรองผู้อำนวยการด้านการเงินที่ดูแลด้านนี้มาตั้งแต่เคพีเอ็นยุคบุกเบิก
ตามด้วย วีรศักดิ์ วหาวิศาล อดีตผู้อำนวยการบริหารด้านการเงินที่ได้ยื่นใบลาออกในเวลาไล่เลี่ย
ทั้งยังมีข่าวระบุว่าได้มีการโละพนักงานออกจำนวนหลายร้อยคน ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้ได้สร้างกระแสคลื่นใต้น้ำไว้อย่างน่ากลัวไม่น้อย
แต่กฤษณ์ก็ยังเชื่อมั่นว่า สิ่งที่ได้กระทำลงไปนั้น ได้ทำเพื่อองค์กรและเพื่ออนาคตทั้งสิ้น
"เรียนตามตรงว่า ข่าวที่ว่ามีปัญหาหรือไม่มีปัญหาผมว่าแล้วแต่มุมมอง
ผมเชื่อในทฤษฏีที่ว่าทุกอย่างในโลกปัจจุบันนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหมด ไม่ใช่ว่าองค์กรผมอย่างเดียว
ซีพี ปูนซิเมนต์ไทย จีเอ็ม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ และที่ว่ามีปัญหาหรือไม่มีปัญหา
ผมอยากให้วัดกันยาว ๆ แค่ 2-3 เดือนยังดูไม่ได้หรอก ผมอยากให้ดูปีหน้า ค.ศ.1997
ที่ว่าทำไปมันจะเกิดอะไรขึ้น อยากจะให้ดูตัวหลักคือในเรื่องของส่วนแบ่งตลาด
ความมั่นคง การขยายตัว" กฤษณ์กล่าวอย่างมั่นใจ
และไขข้อข้องใจเพิ่มเติมอีกว่า
"เรียนตรง ๆ นะครับ พูดถึงบุคคลท็อป ๆ ที่ไม่ได้อยู่แล้วก็เข้าใจกันหมด
คุณสิงห์ชัย ผมก็กินข้าวกันบ่อยมาก คุณวีรศักดิ์ นี่ก็ยังเจอ วันนี้น้องผมก็ไปกินข้าวด้วย
คือ จากกันด้วยดีหมด และความสัมพันธ์ส่วนตัวยังมี ยังมีการใช้งานส่วนตัวกันอยู่
เป็นความเข้าใจสภาพการเปลี่ยนแปลงที่ว่าทุกองค์กรจะต้องเกิดขึ้น
เหมือนต้นไม้ ถ้าคุณไม่เล็มใบเลย ผมว่ามันโตไม่ได้ แต่ข้อสำคัญก็คือ ว่าต้องเล็มให้ถูก
และให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันภายในองค์กรผมว่าราบเรียนมากเลย ผมใช้คำนี้ดีกว่า
ส่วนข่าวที่ออกไปผมว่าแล้วแต่มุมมอง ยิ่งมีมุมมองมากยิ่งดีเป็นภาพสะท้อนให้เรา
บางทีเราทำไปก็ถูกบ้างผิดบ้าง ผมพูดตรง ๆ แต่ผมยังมั่นใจว่าที่ผมทำไปนั้นทำเพื่ออะไร
และทำไมต้องทำในสิ่งเหล่านี้"
สำหรับระยะ 1-2 ปีจากนี้ กฤษณ์กล่าวว่า คงไม่มีการปรับอีกแล้ว เพราะหน่วยอื่นได้ปรับไปหมดแล้ว
สยามยามาฮ่าถือเป็นด่านสุดท้าย
"ยามาฮ่า" เริ่มเห็นแววรุ่ง
แม้ว่ากระแสความขัดแย้งระหว่างเจ้าของกับพนักงาน จะดูเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้
แต่ปมปัญหาตรงนี้ก็คงไม่ถึงกับทำให้กลุ่มเคพีเอ็น กระทบกระเทือนเพราะดูเหมือนว่าบุคลากรส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องภักดีต่อไป
ที่สำคัญในแง่ของธุรกิจแล้ว กลุ่มเคพีเอ็นมีแต่รุดหน้า ปัญหาตรงนี้จึงกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และยิ่งเมื่อมองไปยังอนาคตแล้ว ความสูญเสียครั้งนี้ก็จำเป็นต้องเกิดขึ้นเหมือนกับที่กฤษณ์พูดไว้ว่า
คงหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความรุดหน้าของขุมข่ายเคพีเอ็นมีให้เห็นในหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นสยามยามาฮ่า,
บริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ การเข้าถือหุ้น 5% ในโครงการผลิตรถยนต์ปิกอัพในไทยที่ฟอร์ดกับมาสด้าจับมือกัน
ตามมาด้วยโครงการผลิตชิ้นส่วนป้อนโครงการนี้ และการร่วมทุนกับอีกหลายบริษัทระดับโลก
มองถึงกิจการในส่วนสยามยามาฮ่านั้น ผ่านมาประมาณ 1 ปี หลังจากที่ยามาฮ่ามอเตอร์เข้ามาถือหุ้นจำนวน
28% ดูเหมือนว่างานในส่วนนี้จะมีทิศทางที่สดใสอยู่มาก
สิ่งที่เห็นชัดเจนภายหลังการร่วมทุนนั้น กฤษณ์ เล่าวว่า คงมีอยู่ 3 ส่วนหลัก
ๆ คือ ประการแรก การส่งรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เข้ามา จะมีมากขึ้น และการเปลี่ยนรุ่นก็จะเร็วขึ้น
ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยให้การจำหน่ายดีขึ้น
ประการที่สอง ต้นทุนการผลิต และการขายจะลดลงมามากทีเดียว โดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบ
ซึ่งปีหนึ่ง ๆ น่าจะลดลงได้หลายร้อยล้านบาท ทั้งนี้ การลดต้นทุนจะเริ่มจาก
5% และเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เข้าใจว่าเป็นแผนออกมาแล้ว
และเห็นไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้
ประการที่สาม การบริหารองค์กรโดยทั่วไป ซึ่งเขาอยู่มานานดังนั้นระบบต่าง
ๆ เขาจะดีกว่า เช่น บางอย่างจุดเล็กจุดน้อย เรามองข้ามแต่พอเขาเข้ามาเขามองเดี๋ยวเดียวเขารู้เลยว่าะจต้องแก้อย่างไร
"หลังจากที่ไทยเราชัดเจนว่า เป็นดีทรอยส์ตะวันออกแล้ว บริษัทรถยนต์รายใหญ่ใช้เมืองไทยเป็นฐานเพราะเรามีอุตสาหกรรมสนับสนุนอยู่มาก
และตลาดของเราใหญ่ที่สุดในอาเซี่ยน ดังนั้นเมื่อเขาเข้ามาร่วมแล้ว เขาก็ตอ้งเต็มที่ทุกเรื่อง
ทั้งคน การสนับสนุนเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์"
ความคืบหน้าอีกขั้นในขณะนี้ก็คือ การที่ยามาามอเตอร์ได้ตั้งยามาฮ่ารีเสริชเซ็นเตอร์
ขึ้นในเมืองไทย ซึ่งหน่วยงานตรงนี้จะรองรับไม่เฉพาะตลาดรถจักรยานยนต์ในไทยเท่านั้น
แต่รวมไปถึงตลาดอาเซี่ยนทั้งหมดด้วย
สำหรับประเด็นการลดต้นทุน และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่นั้น "ยามาฮ่า เมทอัลฟ่า"
น่าจะเป็นภาพสะท้อนจากการร่วมทุนได้มากที่สุด ที่สำคัญเป็นภาพสะท้อนที่บ่งบอกถึงทิศทางที่สดใสอยู่มาก
ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สยามยามาฮ่าได้เปิดตัวจักรยานยนต์ เมท อัลฟ่า
ออกสู่ตลาดและเพียงวันแรก เมทอัลฟ่า รุ่นใหม่นี้ มียอดจองจากเหล่าดีลเลอร์เข้ามาถึงกว่า
40,000 คัน ซึ่งกฤษณ์ยืนยันว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทย
ไม่ว่าจะเป็นจักรยานยนต์ยี่ห้อใดรุ่นใดก็ตาม
เหตุผลนั้น กฤษณ์คาดว่าน่าจะเป็นเพราะตัวผลิตภัณฑ์นั้นถูกต้อง เพราะก่อนจะออกสู่ตลาดได้ทำการวิจัยมาสองปีประกอบกับตัวผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้น
ส่วนเรื่องราคานั้นแม้จะถูกลงจากผลที่ต้นทุนต่ำลง แต่ก็ยังไม่มากนัก และบริษัทก็ไม่ได้เน้นมากเท่าไร
สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะทยอยออกสู่ตลาดนั้น จะยังมีตามมาอีกหลายตัวด้วยกัน
โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดตัวจักรยานยนต์สปอร์ต 12 ซีซี อีกหนึ่งรุ่นซึ่งเป็นรถที่ออกมาจากสายการผลิตตามนโยบายลดต้นทุนและปีหน้า
(2540) วางแผนไว้ว่าจะมีอีก 3 รุ่นใหม่ และยังไม่รวมถึงการไมเนอร์เชนจ์รุ่นเก่าอีก
ดังนั้นจะเห็นว่าปี 2540 จะเป็นปีที่สยามยามาฮ่าบุกหนักมากขึ้น
โครงสร้างการบริหารงานในสยามยามาฮ่าระหว่างยามาฮ่ามอเตอร์ กับกลุ่มเคพีเอ็นนั้น
ค่อนข้างลงตัว โดยทางด้านการเงิน การตลาดในประเทศ เคพีเอ็นเป็นคนดูแล ส่วนการผลิตด้านโรงงานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
ยามาฮ่ามอเตอร์จะเป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับการส่งออกนั้น จะเป็นลักษณะความร่วมมือในการหาตลาด
ซึ่งกฤษณ์ยกตัวอย่างว่าอย่างตลาดในอินโดจีนและแถบอาเซียนทางเคพีเอ็นซึ่งมีสายสัมพันธ์อยู่มากพอสมควร
อย่างในเวียดนาม เคพีเอ็นก็มีออฟฟิศแล้ว ตรงนี้เคพีเอ็นจะเป็นตัวหลักโดยยามาฮ่ามอเตอร์อาจจะเข้ามาช่วยบ้าง
แต่ถ้าตลาดนอกเขตแล้ว ทางยามาฮ่ามอเตอร์จะเป็นตัวหลักและเข้ามาช่วยในการหาตลาดมากขึ้น
เช่น ตลาดในประเทศแถบละตินอเมริกาหรือยุโรป
อีกแผนงานหนึ่งที่กฤษณ์คิดขึ้นเพื่อเตรียมรองรับการส่งออกของกลุ่มที่จะมีมากขึ้นก็คือ
การตั้งหน่วยงานเพื่อส่งออกในฐานะตัวกลางของกลุ่มเคพีเอ็น
"เนื่องจากว่าปีนี้เราคงส่งออกหลักพันล้าน ไม่ใช่หลายร้อยล้านเช่นอดีต
ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนในส่วนนี้ คือ เดิมต่างคนต่างส่งออก แต่เราจะเปลี่ยนใหม่
โดยใช้ตัวเคพีเอ็นเทรดดิ้ง เป็นตัวกลางในการส่งออก สำหรับบริษัทในกลุ่มที่มีปัญหาในเรื่องการส่งออกหรือบริษัทขนาดเล็กที่ยังไม่สามารถหาตลาดต่างประเทศได้เอง
แต่ถ้าบริษัทไหนทำดีอยู่แล้วก็คงให้ดำเนินการด้วยตนเองต่อไปอย่างสยามยามาฮ่าก็คงจะทำเองต่อไป"
สำหรับฐานะของสยามยามาฮ่าในอนาคตอันใกล้นั้นได้ถูกจัดวางให้เป็นฐานการส่งออกเสริม
และแม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นฐานส่งออกหลักทั่วโลกต่อไป แต่บทบาทหลายอย่างก็จะถูกโอนย้ายมาที่นี่มากขึ้น
ซึ่งที่สุดก็จะเป็นแนวเดียวกับจักรยานยนต์ฮอนด้า ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในไทย
ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้
"ในระดับโลกแล้ว ฮอนด้าเป็นที่หนึ่ง แต่แชร์ระหว่างฮอนด้ากับยามาฮ่านั้นต่างกันนิดเดียว
และจะทิ้งซูซูกิห่างมากซึ่งนั่นก็คือเป้าหมายที่เมืองไทยด้ย"
กฤษณ์ไม่ได้หวังว่า ตลาดยามาฮ่าในไทยจะแซงหน้าฮอนด้าขึ้นเป็นที่หนึ่งได้แต่อย่างน้อยส่วนแบ่งตลาดจะต้องเข้ามาใกล้กันมากขึ้น
ทั้งนี้ปัจจุบันตลาดกว่า 50% เป็นของฮอนด้า ขณะที่ยามาฮ่ามีส่วนแบ่งตลาดเพียง
25% เท่านั้น
"เราจะต้องพยายามลดช่องว่างตรงนี้ให้แคบลง เรียกว่า สู่ภาวะปกติ ส่วนซูซูกินั้น
เราต้องทิ้งห่าง และคงไม่ใช่คู่แข่งของเราอยู่แล้ว หลังจากนี้ฮอนด้าคงลดแชร์ลงไปบ้าง
เพราะ 50% ของแชร์ตลาด มันค่อนข้างผิดปกติ เพราะไทยมีตลาดเป็นอันดับสามของโลก
ซึ่งมันใหญ่มาก ส่วนยามาฮ่านั้น ส่วนตัวผม ผมว่าถ้าได้แชร์ 30% ปลาย ๆ ผมพอใจ"
สู่ยุคใหม่ "พันธมิตร"
กฤษณ์ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยว่า ที่นี่ได้ถูกกำหนดให้เป็นฐานการผลิตด้านยานยนต์ไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ไม่เช่นนั้น ฟอร์ด หรือจีเอ็มคงไม่เข้ามาที่ประเทศไทย
แม้ว่าฟิลิปปินส์จะล็อบบี้แทบตายก็ตาม
3 ปัจจัยหลักที่ไทยได้เติมโตขึ้นและต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน
ประการแรก ตลาดไทยมีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ประการที่สอง ทำเลที่ตั้งดี เพราะไทยจะขยายไปยังพม่า จีนตอนใต้ อินโดจีน
รวมทั้งอาเซียนได้
ประการที่สาม อุตสาหกรรมต่อเนื่องหรือเกื้อหนุนในประเทศมีพร้อม ด้านชิ้นส่วนยานยนต์ก็มีความก้าวหน้าไปไกลพอสมควร
และดีที่สุดในอาเซี่ยน ถ้าเทียบกับอินโดนีเซีย เรากล้าบอกได้เลยว่าเราก้าวหน้ากว่า
5-7 ปี และหัวใจหลักของอุตสาหกรรมนี้ก็อยู่ที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วน ซึ่งไทยมีอยู่มากแล้ว
เพราะโรงประกอบลงทุนแค่หลักร้อยล้านก็สามารถตั้งได้แล้ว แต่อุตสาหกรมชิ้นส่วนต้องเป็นหมื่นหรือหลายพันล้านบาท
ดังนั้นเขาไม่มีเวลาที่จะไปสร้างใหม่ดังนั้นเขาก็ต้องเลือกประเทศที่มีฐานอยู่แล้ว
การที่ประเทศไทยเปิดมากขึ้น ทุนต่างชาติรุกเข้ามามากขึ้น มันเป็นทั้งแรงหนุนและแรงบีบไปพร้อม
ๆ กัน ซึ่งเคพีเอ็นก็หนีไม่พ้นวังวนแห่งการดิ้นรนของอุตสาหกรรมที่ว่า ถ้าวันใดคุณหยุดก็เท่ากับว่าคุณกำลังเล็กลงแล้ว
กฤษณ์ก็คิดไม่ต่างจากนั้นมากนัก
"ผมมองว่าโลกทุกวันนี้ มันเปลี่ยนไปแล้ว การที่จะทำคนเดียวโตคนเดียวมันหมดยุคแล้ว
ต้องหาพันธมิตร ตรงนี้เป็นนโยบายเลย" กฤษณ์ย้ำอย่างหนักแน่น
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเคพีเอ็นได้มีการร่วมทุนกับกลุ่มทุนต่าง ๆ
มากมาย ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่สำหรับกลุ่มเคพีเอ็นอยู่มาก เพราะก่อนหน้านี้จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเองมาโดยตลอด
การร่วมทุนที่เกิดขึ้น อาทิเช่น ร่วมทุนกับยามาฮ่ามอเตอร์แห่งญี่ปุ่น ตั้งบริษัทคาจิว่ามอเตอร์เอเซียแปซิฟิก
โดยการร่วมทุนกับคาจิว่ามอเตอร์จากอิตาลี เพื่อผลิตและจำหน่ายจักรยานยนต์คาจิว่า
ถือหุ้น 5% ในโครงการผลิตรถยนต์ปิกอัพที่ฟอร์ดร่วมกับมาสด้า ซึ่งโครงการนี้จะต่อเนื่องมายังโครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย
ร่วมทุนกับสิงคโปร์ เทคโนโลยีทำธุรกิจด้านอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี และอีกหลายโครงการร่วมทุนในด้าน่ชิ้นส่วนยานยนต์
เช่น ตั้งบริษัทสยามแอดเลอร์ โดยร่วมทุนกับแอดเลอร์ จากอิตาลี ผลิตชิ้นส่วนคลัชจักรยานยนต์
หรืออย่างการดึงฟูจิเฮฟวี่อินดัสตรีจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุน เพื่อรุกตลาดรถยนต์ซูบารุในไทย
และยังมีอีกหลายโครงการที่รออยู่
"ภายในปีนี้ จะมีบริษัทรายใหญ่เข้ามาร่วมทุนกันอีก ผมให้ความสำคัญเรื่องพาร์ทเนอร์
ถ้าเราเลือกถูกก็ไปเลย โดยบางทีแทบไม่ต้องทำอะไรเลย" กฤษณ์ กล่าวและว่า
"นโยบายพาร์ทเนอร์ที่เพิ่งออกมานั้น ผมว่ามันเป็นการพัฒนา ซึ่งทุกองค์กรเป็นอย่างนี้หมด
และทุกวันนี้เริ่มชัดเจนว่าจะเป็นอย่างนี้มากขึ้น แต่ก็ต้องคุยกันมากใช้เวลานานพอสมควร
เพราะการร่วมกันบางทีอยู่คนละซีกโลก ก็ต้องบินไปบินมา"
นโยบายพันธมิตรที่กฤษณ์ย้ำว่า เป็นผลงานสำคัญของเขานั้นก็เฉกเช่นผลงานระดับนโยบายของผู้บริหารท่านอื่นที่จะต้องเสนอผ่านบอร์ดของบริษัทหรือของกลุ่ม
และเมื่อจะลงไปในระดับปฏิบัติการแล้วยิ่งต้องผ่านบอร์ด เพราะรวมถึงเรื่องมารยาทด้วย
"ผมก็ต้องเสนอผ่านบอร์ด คือ ทำอะไรทุกอย่างผมต้องผ่านหมด ผมตัดสินใจคนเดียวคงไม่ได้
และไม่อยากใช้อำนาจเองด้วย"
แต่แม้ว่าจะตั้งนโยบายหลักว่า ต้องเน้นพันธมิตร แต่ในบางส่วนหรือบางบริษัทที่ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ
ความจำเป็นในตรงนี้ก็อาจจะลดน้อยลงไป
เข้าตลาดฯ เพื่อดึงมืออาชีพ
สำหรับการเตรียมส่งบริษัทเข้าทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น
ก็ถือว่าเป็นนโยบายด้านหนึ่งที่สนองวิสัยทัศน์ของกฤษณ์ และเตรียมรองรับทิศทางในอนาคต
แนวทางล่าสุด ก็คือ การนำบริษัท เคพีเอ็น โฮลดิ้ง เข้าระดมทุนในตลาด
เคพีเอ็น โฮลดิ้ง เป็นบริษัทที่จดทะเบียนขึ้นมาใหม่ ถือหุ้นโดยครอบครัวณรงค์เดช
100% โดยเคพีเอ็นโฮลดิ้ง จะเข้าถือหุ้นในหลายบริษัทของกลุ่มเคพีเอ็นเฉพาะที่เกี่ยวกับยานยนต์
ซึ่งไม่รวมเทรดดิ้งและไฟแนนซ์
หลังจากนั้น 3-5 ปีก็จะส่งบริษัทต่าง ๆ เข้าไปจดทะเบียนในตลาดเพิ่มขึ้น
กฤษณ์ได้แจกแจงสาเหตุการเข้าตลาดหลักทรัพย์
ประการแรก การเข้าตลาดนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว ถ้าจะโตต่อไปโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์
ประการที่สอง นโยบายของบริษัทที่จะให้มืออาชีพเข้ามาบริหารอย่างเต็มตัว
ซึ่งคงไม่มีมือบริหารเก่ง ๆ ที่ไหนที่อยากเข้ามาในบริษัทที่ว่าวันหนึ่งเจ้าของอารมณ์ดีอารมณ์ไม่ดี
เขาอยากจะรายงานสู่มหาชนที่เป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่มากกว่า
ประการที่สาม ทางด้านภาพพจน์และการคงอยู่ในระยะยาว
"ด้านภาพพจน์ เราก็อยากได้ด้วย ดังนั้นมองในระยะยาวแล้ว ถ้าวันหนึ่งผมไม่อยู่
บริษัทก็ต้องไปได้ ไม่ใช่ว่าผมไม่อยู่น้องผมไม่อยู่ บริษัทไปไม่ได้ ซึ่งมันหมดยุคแล้ว
อันนั้นมันยุคของตาผมปู่ผม ส่วนการระดมทุนนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ไม่เน้นมาก"
แนวคิดของกฤษณ์เช่นนี้กำลังทำให้กลุ่มเคพีเอ็นทันสมัยขึ้น วิสัยทัศน์ถูกยุคสมัยขึ้น
สำหรับรายละเอียดต่าง ๆ นั้นยังอยู่รหว่างที่ปรึกษาทางการเงินศึกษาอยู่ว่าจะไปอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ ระยะเวลาในการเข้าจดทะเบียนนั้น ไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ เพราะดูเหมือนว่า
ที่นี่ไม่มีความเร่งร้อนในการเข้าระดมทุนเท่าไรนัก
"การเข้าตลาดนั้นคงช่วงปีหน้า แต่ถ้าตลาดปีหน้าทั้งปียังแย่อยู่ ก็คงไม่เข้า
เพราะยังไม่มีความจำเป็นรีบร้อน ถ้าจะเข้าคงต้องให้ดีหน่อย" กฤษณ์กล่าว
การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์กับการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่กฤษณ์ตั้งเป้าหมายไว้อย่างสอดคล้องซึ่งกันและกัน
เพราะกฤษณ์หวังที่จะดำเนินกิจการในลักษณะการใช้ผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาให้มากที่สุด
เพราะคิดว่าอนาคตเมื่อบริษัทจะต้องแตกออกไปเป็น 50-60 บริษัทแล้วคงจะมาบริหารเองทั้งหมดไม่ได้
และถ้ายังบริหารแบบครอบครัวอยู่ก็คงไม่ดี ถ้ามีมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับ
ทุกคนก็ยอมรับ
"ผมคิดว่าคงไม่หวังว่าโอ้โฮ ต้องอยู่ค้ำฟ้า จะต้องมีอำนาจมากที่สุด
ต้องตัดสินใจทุกอย่าง ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมคิดว่าใครก็ตามที่เข้ามาบริหารตรงนี้ทำให้บริษัทเติบโตได้ดี
ผลประกอบการออกมาดี ตอบแทนในเรื่องของผู้ถือหุ้น พนักงาน สังคม ใครทำได้
ผมมอง 3 ส่วนนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องนามสกุลผมหรอก ใครก็ได้ทำไปเลย"
แม้ว่าองค์กรเคพีเอ็นค่อนข้างจะบริหารเป็นมืออาชีพมากขึ้น โปร่งใส และให้อำนาจผู้บริหารพอสมควร
ยิ่งในช่วงที่กฤษณ์เข้ามาดูแลหลายส่วนงานด้วยแล้ว แต่ภาพภายนอกก็ยังยึดติดกับเกษมและคุณหญิงพรทิพย์เท่านั้น
ในลักษณะที่ว่าทั้งสองท่านดำเนินการเองคิดเองในทุก ๆ เรื่องโดยเฉพาะการหาลูกค้าและร่วมทุนกับคู่ค้า
ตรงนี้กฤษณ์แย้งว่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้นมานานแล้ว และส่วนตัวไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นด้วย
จริง ๆ แล้วที่นี่ให้แต่ละกรรมการผู้จัดการเป็นผู้เดินเรื่องเองเป็นส่วนใหญ่
โดยเราจะวางเป้าหมายหลักไว้ แล้วผู้บริหารก็จะต้องดำเนินการในรายละเอียด
"ผมมีความรู้สึกว่า เป็นถึงกรรมการผู้จัดการแล้ว เป็นถึงกรุ๊ปเพรสซิเด้นท์แล้ว
ท่านได้อำนาจในการตัดสินใจไปแล้ว ท่านได้รับมอบหมายไปแล้ว และเราเชื่อมั่นในความสามารถของท่าน
ส่วนภาพที่ออกไปอย่างนั้น ผมก็ว่าไม่มีอะไรผิด แต่ต่อไปก็คงต้องผสมผสานกัน
คงไม่ใช่กลายมาเป็นมืออาชีพ โดยทิ้งครอบครัวในทันที ซึ่งในวัฒนธรรมของเอเชียแล้วเป็นอย่างนั้นทันทีได้ยาก"
ดันนโยบายขายนอกกลุ่ม
สำหรับทิศทางของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะขึ้นมาเป็นตัวหลักของกลุ่ม
โดยสัดส่วนรายได้จะต้องใกล้เคียงกับภาคธุรกิจยามาฮ่านั้น กฤษณ์กล่าวว่า ปลายปีหน้า
2540 ถึงปี 2541 ผลประกอบการของบริษัทลูกของเคพีเอ็นในภาคชิ้นส่วนยานยนต์นั้น
จะเห็นว่าตื่นเต้นทีเดียว ซึ่งจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาก อัตราเติบโตนั้นเป็นผลมาจากการเข้ามาของฟอร์ด
ซึ่งได้ตกลงกับเคพีเอ็นในหลายโครงการแล้ว และยังมีโครงการของจีเอ็มซึ่งกำลังเจรจากันอยู่
และคาดว่าน่าจะตกลง ซึ่งโครงการทั้งสองนั้นใหญ่มากจึงน่าจะดึงผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มที่ร่วมกิจกรรมให้เติบโตตามไปด้ย
"อย่างพลาสติกนี่จะโตขึ้น 3-4 เท่า ซึ่งลักษณะนี้จะหายากมากในปัจจุบัน
เช่น บริษัท ณรงค์อุตสาหกรรมที่ปีนี้ยอดขายประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ภายใน
2 ปีนี้ยอดขายจะประมาณ 3,000 ล้านบาท"
ความเจริญรุ่งเรืองที่พุ่งตรงมายังกลุ่มเคพีเอ็นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
เป็นเรื่องที่เคพีเอ็นต้องปรับตัวตามให้ทันเช่นกัน และประเด็นก็คือ การหาทางออกเพื่อหนีให้พ้นธุรกิจในลักษณะ
"อัฐิยายซื้อขนมยาย"
กฤษณ์ กล่าวว่า กลุ่มได้วางแนวทางหลัก ๆ ไว้ว่า บริษัทในกลุ่มทั้งหมดนั้นจะต้องเน้นการผลิตเพื่อป้อนนอกกลุ่มเป็นหลัก
รวมถึงส่งออกด้วย โดยจะต้องป้อนนอกกลุ่มหรือส่งออกให้ได้อย่างน้อย 60% ซึ่งนโยบายนี้บางบริษัทได้ผ่านไปแล้ว
เช่น บางบริษัทป้อนให้กับสยามยามาฮ่าเพียง 20% เท่านั้น ที่เหลือป้อนให้กับยี่ห้ออื่นระหว่างดำเนินการเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายนั้น
ความฝันที่ล้ำเลิศ
สิ้นปีนี้ รายได้ของกลุ่มเคพีเอ็นจะอยู่ที่ 30,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นรายได้จากธุรกิจยามาฮ่าประมาณ
50% ที่เหลือเป็นของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 20-30%
ซึ่งสัดส่วนตรงนี้กำลังจะปรับให้เข้าใกล้กันมากขึ้น เป็นการปรับในลักษณะทั้งสองส่วนก็ยังคงเติบโตต่อไป
และดูจากแนวโน้มในขั้นนี้แล้ว มีความเป็นไปได้ และตัวเลขนั้นไม่ได้หยุดอยู่ที่
30,000 ล้านบาทต่อปี แต่จะอยู่ที่ 100,000 ล้านบาทต่อปี
ในปี ค.ศ.2000 หรือ พ.ศ.2543 นั้น กลุ่มเคพีเอ็นตั้งเป้าหมายสำคัญไว้ว่า
ยอดรายได้ของตนเองน่าจะถึง 100,000 ล้านบาทต่อปี หรืออย่างน้อยก็เข้าใกล้ความจริงมากที่สุด
"ส่วนตัวผม ผมคิดว่าทำได้ เพราะหลายบริษัทจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด
และเราได้วางแผนให้โตอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงนี้เราคิดว่าทำได้" กฤษณ์มั่นใจ
กฤษณ์ยังมีฝันยิ่งกว่านั้นอีก
ทุกวันนี้ กลุ่มเคพีเอ็นนับเป็นกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่ครบวงจรมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนก็ว่าได้
เพราะมีครบเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้า พลาสติก เหล็ก
เกียร์ การประกอบ การจัดจำหน่าย ไฟแนนซ์ รวมทั้งการส่งออก
ประกอบกับแนวทางที่กฤษณ์ต้องการจะเน้นความยิ่งใหญ่ในส่วนของชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่าที่จะขึ้นไปเล่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งคัน
ซึ่งกฤษณ์มั่นใจว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนนั้นเป็นหัวใจดังที่กล่าวไว้แต่ต้น
ดังนั้นพัฒนาการและการขยายบทบาทจะมุ่งไปด้านนี้เป็นหลัก
และเป้าหมายสำคัญยิ่งกว่านั้น กฤษณ์กล่าวไว้อย่างน่าสนใจและน่าติดตามอย่างมากว่า
"ไม่ได้มุ่งหวังที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยเท่านั้ นผมมองว่า
ในเมื่อเรามีพาร์ทเนอร์ต่างประเทศมากขึ้นก็อาจจะต้องไปจดในต่างประเทศด้วย
และในอุตสาหกรรมนี้แล้วเรามีความหวังและตั้งใจว่า เคพีเอ็นจะเป็นลักษณะของบริษัทข้ามชาติที่เข้าไปลงทุนในประเทศต่าง
ๆ ทั่วโลกด้วย ผมก็อยากอย่างนั้นอันนี้ก็เป็นความคิดหรือความฝันส่วนตัวนะ"
การไปถึงจุดนั้นจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีเทคโนโลยีด้วยตนเอง ประเด็นนี้กฤษณ์
กล่าวว่า ไม่จำเป็น
"ผมว่าก็แล้วแต่นะครับ ผมคิดว่าแต่ละจุดต้องเปลี่ยนไป อย่างเช่น ตอนนี้ยกตัวอย่าง
อย่างบริษัทคอมพิวเตอร์เอเซอร์ของไต้หวัน เกิดมาจากจุดที่คล้าย ๆ เรา เป็นโออีเอ็ม
ในที่สุดเขาก็เป็นบริษัทข้ามชาติสามารถมาตีไอบีเอ็มได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่าเมื่อเขาโตถึงขั้นหนึ่ง
เขาสามารถซื้อโนว์ฮาวซื้อเทคโนโลยี
สำหรับผม ผมมองว่า เมื่อถึงปี ค.ศ.2000 หรือ 2002 ภาษีในอาเซียนหมด ไม่มีอีกต่อไป
ตลาดตรงนี้จะเปิดกว้าง ประชากรอาเซียนจะรวมกันถึง 500 ล้านคน 1% คือ 5 ล้านคน
ผมคิดว่า 1% นี่คือเป้าหมายจักรยานยนต์ของเราแล้ว นี่ยังไม่รวมถึงชิ้นส่วน
ตลาดอะไหล่และอื่นๆ ที่จะเทรดในตลาดนี้อีก รวมถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้
และภายใน 10-20 ปีข้างหน้าผมว่าที่นี่จะไม่ต่างจากยุโรป จะยิ่งมากกว่าด้วยซ้ำ
คือ จะเดินถึงกันได้เลย และความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น อำนาจเศรษฐกิจดีขึ้น
ฐานแข็งขึ้น ค้าขายได้อีกมาก"
เคพีเอ็น จะเดินทางไปสู่เป้าหมายสำคัญ จะก้าวขึ้นเป็นบริษัทข้ามชาติ ตามจินตนาการ
ของกฤษณ์ได้หรือไม่ แม้แต่ตัวกฤษณ์ยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ทำได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า กฤษณ์จะแผ้วทางไว้มากมายทีเดียว และอีกไม่กี่ปีก็คงได้เห็นกันว่า
วิสัยทัศน์กับความฝันเช่นนี้เกิดขึ้นมาถูกยุคสมัยหรือไม่