IECคุมตลาดมือถือหวังแชร์53%เปิดช่องรับพันธมิตรเพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(9 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เปิดแผนไออีซีหลังควบรวมกิจการกับบลิสเทล ตั้งเป้ากำไรขั้นต้นประมาณ 6% พร้อมลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจาก 750 ล้านบาทต่อปีเหลือประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี พร้อมภาระดอกเบี้ยจ่ายเหลือเพียง 115 ล้านบาทต่อปี ตั้งเป้ามาร์เกตแชร์ปีหน้าอยู่ในระดับ 53% และมียอดขาย 1.5 หมื่นล้านบาท เผยบลิสเทลจะเป็นผู้ค้าปลีกโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ พร้อมดึง"ทีจีโฟน"เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร ขณะที่"สุมิท"เปิดกว้างที่จะรับผู้ประกอบการค้าปลีกโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น

นายอรรถวิชญ์ เอกธนิตพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบลิสเทล จำกัด(มหาชน)หรือ BLISS เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่บริษัทอินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริ่ง จำกัด(มหาชน)หรือ IEC เข้ามาถือหุ้นในบริษัทสัดส่วนประมาณ 24.35%นั้น รวมทั้งบริษัทบลิสเทลได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัททีจี เซลลูล่าร์เวิลด์ จำกัด หรือทีจีโฟน ซึ่งเป็นบริษัทผู้จำหนายสินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ด้แก่ จำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อต่างๆ ซิมการ์ด บัตรเติมเงิน และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เพื่อขยายธุรกิจร่วมกัน

ทั้งนี้บริษัทจึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์พันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน โดยมีเป้าหมายในการลดต้นทุนสินค้า,การลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยจะร่วมกันในแง่ของการบริหารสินค้าคงคลัง,การจัดส่งสินค้า,ระบบสารสนเทศและระบบบริหารและสนับสนุนการดำเนินงานหรือ Back Office รวมถึงเป็นการเพิ่มคุณภาพบริการหลังการขายและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์มือถือ

นายอรรถวิชญ์กล่าวว่า ตามแผนทางธุรกิจร่วมกันนั้น ได้มีการประมาณการผลการดำเนินงานในปี 2550 ว่าจะมีกำไรขั้นต้นประมาณ 5.5-6.0% จากปัจจุบันนี้อยู่ในระดับ 4-5% และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจากเดิมประมาณ 750 ล้านบาทต่อปี เหลือประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี และในแง่ของภาระดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 115 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 200 ล้านบาท เนื่องจากไม่ต้องมีการสต็อกสินค้า ในด้านของรายได้ในปีนี้หลังรวมธุรกิจกับ ไออีซีคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยจะมาจากบริษัทบลิสเทลประมาณ 9 พันล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาท และที่เหลือประมาณ 5 พันล้านบาทจะมาจากไออีซี

ในด้านส่วนแบ่งการตลาดโทรศัพท์มือถือ 3.47 ล้านเครื่อง หรือคิดเป็น 53% จากปัจจุบันนี้บริษัทไออีซี มีส่วนแบ่งตลาด 1.53 ล้านเครื่องหรือ 24%,บริษัทบลิสเทลมีจำนวน 1.20 ล้านเครื่องหรือ 18% และบริษัททีจีโฟนมีจำนวน 7.2 แสนเครื่องหรือ 11% การร่วมทำธุรกิจในครั้งนี้จะทำให้เป็นผู้จำหน่ายโทรศัพท์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และในด้านของจำนวนร้านค้าปลีกนั้น ภายหลังจากที่ควบรวมกิจการกันแล้ว จะทำให้มีทั้งหมด 592 แห่ง ซึ่งก็จะต้องมาพิจารณาว่ามีร้านค้าปลีกใดบ้างที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ซึ่งถ้าร้านค้าปลีกแห่งใดที่มีกำไรถึงแม้จะซ้ำซ้อนกันก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะยุบก็ได้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจการค้าปลีกของบริษัทบลิสเทลจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในบริษัทไออีซี โดยเข้าไปอยู่ในในส่วนของธุรกิจมือถือ ซึ่งจะมีที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยบลิสเทล ช็อป ที่จะเน้นจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่มีเทคโนโลยีทันสมัย เหมาะแก่การใช้งานทั่วไป และมีดีไซน์ที่สวยงาม ส่วนโมบาย อีซี่ ของบริษัทไออีซี จะเน้นจำหน่ายโทรศัพท์มือถือประเภทบิสซิเนสโฟน และสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นโทรศัพท์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด มีฟังค์ชั่นการทำงานที่หลากหลายเหมาะกับนักธุรกิจและผู้ชื่นชอบเทคโนโลยีและทีจีโฟน ช็อป จะเน้นจำหน่ายโทรศัพท์มือถือประเภทที่ใช้งานง่ายและราคาย่อมเยาว์ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ใช้ฟังค์ชั่นพิเศษ หรือบริการเสริมอื่นๆ

สำหรับการบริหารสินค้าคงคลังที่บริหารร่วมกันนั้นในส่วนของไออีซี จะเป็นผู้บริหารคลังสินค้า โดยจะมีการวางแผนร่วมกันระหว่างฝ่ายขายและฝ่ายจัดซื้อของทั้ง 3 บริษัท เพื่อบริหารอัตราหมุนเวียนสินค้าคงคลังให้น้อยกว่า 30 วัน และในส่วนของบริษัทบลิสเทล จะใช้ระบบ Zero Stock หรือ Just in Time เพื่อลดจำนวนสินค้าคงคลังให้เหลือน้อยที่สุด โดยเมื่อบลิสเทลสั่งสิ้นค้าแล้ว คลังสินค้าของไออีซีจะ Ship To สินค้าไปยังสาขาหรือจุดจำหน่ายต่างๆ ทันที

นายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การควบรวมระหว่างไออีซีกับบลิสเทลนับเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นธุรกิจของคนไทย ทำให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อบริษัทและต่อผู้ถือหุ้นอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการเปิดเสรีธุรกิจด้านสื่อสารในปี 2551โดยบริษัทบลิสเทลนั้นถือว่ามีจุดแข็งในแง่ของธุรกิจค้าปลีก

ขณะที่บริษัทไออีซีนั้นจะมีจุดแข็งในแง่ของธุรกิจค้าส่ง ซึ่งการควบรวมจะส่งผลทำให้บริษัทขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจและสามารถสร้างมาตรฐานราคาได้แนวทางในการทำธุรกิจโทรศัพม์มือถือหลังการเข้ามาเป็นพันธมิตรนั้น ในส่วนของค้าปลีก บริษัทบลิสเทลจะเป็นผู้ดูแลด้านค้าปลีกและร้านค้าภายในกลุ่มทั้งหมด ส่วนไออีซีจะเป็นผู้ดูแลด้านบริการหลังการขายและซ่อมโทรศัพท์มือถือ และจะเป็นผู้ดูแลด้านคลังสินค้า การจัดส่ง ในด้านค้าส่งไออีซีจะเป็นผู้ดูแลและให้บริการทั้งหมด และไออีซีและทีจีโฟนจะจัดตั้งHUB เพื่อกระจายสินค้าไปยังภูมิภาค

นายสุมิทกล่าวว่า แม้ว่าบริษัทไออีซีจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทบลิสเทล แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีแผนที่จะนำบริษัทบลิสเทลออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนแต่อย่างใด และบริษัทไออีซีพร้อมที่จะส่งตัวแทนเข้าไปเป็นกรรมการในบริษัทบลิสเทลไม่ต่ำกว่า 4 คน นอกจากนี้บริษัทก็พร้อมเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ ที่จะเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกัน

นางสาวประกายดาว เขมะจันตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัทบลิสเทล จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า หลังจากที่กลุ่มผู้บริหารคนไทย 3 คนได้ขายหุ้นบริษัทบลิสเทลให้กับบริษัทไออีซีนั้น ทำให้ยังคงเหลือหุ้นอีกเล็กน้อยประมาณ 3 ล้านหุ้น โดยบริษัทไออีซีนั้นได้ออกหุ้นเพิ่มทุนและเสนอขายให้กับผู้บริหารของบริษัทบลิสเทล ทำให้ผู้บริหารของบริษัทบลิสเทลเข้ามาถือหุ้นในบริษัทไออีซีประมาณ 1% เท่านั้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.