แหยงสุวรรณภูมิวันทูโกคาดยอดตั๋วตกชี้ระบบสื่อสารยังวุ่น


ผู้จัดการรายวัน(9 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

คาดเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำยอดผู้ใช้บริการสายการบิน วัน –ทู-โก ชะงัก 5% ในช่วง 1-2 เดือนแรก เหตุวิตกเรื่องการเดินทางออกนอกสนามบินยังขลุกขลัก เผยปัญหาทั้งเล็กและใหญ่ยังมีอีกเพียบ ผู้บริหารสายการบินวัน –ทู-โก เผยแผนครึ่งปีหลัง เน้นขยายเส้นทางและเพิ่มลูกค้าตลาดในประเทศ หวังปั้นยอดรายได้ตลาดในประเทศเพิ่มเป็น 60% จากรายได้ ก่อนบุกต่างประเทศในปีหน้า

นางสาวมนัสนันท์ ตันติประสงค์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ วัน-ทู-โก เปิดเผยว่า จากการที่จะมีการย้ายสนามบินจากดอนเมืองไปสุวรรณภูมิในเดือนกันยายนศกนี้ ทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนของสายการบินวัน-ทู-โก คาดว่า ช่วงระยะแรกของการเปิดใช้สนามบินราว 1-2 เดือนแรกอาจจะมีผลกระทบต่อยอดผู้ใช้บริการที่จะลดน้อยลงไปราว 5% ของจำนวนลูกค้าปกติ เฉพาะกลุ่มลูกค้าเส้นทางในประเทศ

ทั้งนี้เพราะมีผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งที่ยังไม่เคยชินสถานที่และเกรงว่าหากเลือกเดินทางมาช่วงนั้นจะเกิดความยุ่งยากและลำบาก ทั้งเรื่องการเดินทางออกจากสนามบิน ตลอดจนระบบการบริการในสนามบิน ดังนั้นลูกค้ากลุ่มนี้อาจหันกลับไปใช้บริการรถทัวร์โดยสารแทนก่อนในช่วงแรก

แต่ทั้งนี้เชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวคงเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท ทั้งนี้เพราะ ช่วงปลายปีที่รัฐบาลจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติ มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ สนใจที่จะเดินทางไปเข้าชมจำนวนมาก และเริ่มมียอดจองตั๋วเครื่องบินเข้ามาเยอะแล้วในขณะนี้ บริษัทจึงพิจารณา เตรียมเพิ่มเที่ยวบิน กรุงเทพ- เชียงใหม่ จากปัจจุบัน 5 ไฟล์ท ให้เป็น 8 ไฟล์ท ต่อสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่กลุ่มสายการบินโลว์คอสต์ยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้มีกำหนดเปิดให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิอย่างแน่นอนแล้วในวันที่ 29 กันยายนนี้ คือเรื่องของปัญหาระบบไอทีการลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสาร ซึ่งยังไม่สามารถตกลงกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.) ได้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร เพราะระบบใหม่ไม่สามารถอ่านบาร์โค้ดของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ได้ ซึ่งในวันที่ซ้อมบินเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในกลุ่มของสายการบินโลว์คอสต์ยังต้องใช้ระบบมือในการขนกระเป๋าผู้โดยสาร

ขณะเดียวกัน ในส่วนของโลว์คอสต์เทอร์มินัล หรืออาคารผู้โดยสารสำหรับสายการบินโลว์คอสต์ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการสร้างได้แน่นอนหรือไม่อย่างไร เพราะแม้ว่าบอร์ด ทอท.จะมีมติให้ก่อสร้างได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กลับไม่เห็นด้วยกับการสร้างอาคารพักผู้โดยสารหลังใหม่ขึ้นมาเพื่อรับผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์ ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการกลุ่มสายการบินโลว์คอสต์ ต่างไม่ได้ข้อยุติจากปัญหาดังกล่าว เพราะทั้งหมดต้องรอนโยบายจากภาครัฐ

นอกจากนั้นในส่วนของแผนการย้ายออฟฟิศของสายการบินต่างๆก็ยังไม่ได้รับการยืนยันหรือได้รับแผนงานที่ชัดเจนจากทางภาครัฐ เพื่อที่จะสามารถวางแผนงานได้อย่างละเอียด สิ่งต่างๆเหล่านี้ ถือเป็นปัญหาที่ยังส่งผลให้การเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิอาจจะยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ซึ่งยังไม่นับปัญหาอื่นอีกมากที่ยังไม่ชัดเจนในหลายเรื่องที่จะตามมาในอนาคตด้วย

ออกบัตรCFU ขยายฐานลูกค้า

นางสาวมนัสนันท์กล่าวว่า สำหรับในส่วนของแผนการตลาดครึ่งปีหลังจากนี้ไป บริษัทฯจะเน้นให้ความสำคัญกับการทำตลาดเส้นทางในประเทศเพิ่มมากขึ้น ตั้งเป้าใช้งบประมาณส่วนนี้ไว้ที่ 8-10% ของรายได้ จากปีก่อนจะใช้งบการตลาดเพียง 5-6% ของรายได้เท่านั้น โดยจะใช้ทำกิจกรรม บีโลว์เดอะไลน์ เน้นเข้าตรงถึงตัวลูกค้าเป้าหมาย และการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ๆที่เล็งไว้และเตรียมที่จะเปิด ได้แก่ พิษณุโลก กระบี่ และ นครศรีธรรมราช

นอกจากนั้นยังขยายช่องทางจำหน่ายตั๋วและนำเสนอสินค้าใหม่ ให้ครอบคลุม แต่ละกลุ่มเป้าหมาย เป็นการขยายฐานลูกค้า ล่าสุดในวันที่ 16 สิงหาคม 49 บริษัทเตรียมเปิดตัว บัตร CFU การ์ด โดยบัตรนี้จะจับ 3 กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ คอร์ปอเรท ครอบครัว และกลุ่มมหาลัย ซึ่งในที่นี้ จะรวมทั้งอาจารย์ นิสิต นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ของสถาบันการศึกษา

“CFU การ์ด เป็น บัตรสมาชิก ที่ไม่ระบุชื่อผู้ถือ เพียงแต่แสดงบัตรประจำตัวขององค์กรที่สังกัดอยู่ก็สามารถมีสิทธิ์ใช้บริการได้ ส่วนราคาสมาชิก CFU การ์ด จะอยู่ที่ ใบละ 17,000-19,500 บาท แล้วแต่จังหวัดที่จะเดินทางไป บัตรมีอายุ 1 ปี โดยบัตรหนึ่งใบจะเป็นราคาสำหรับ 10 เที่ยว แต่สามารถเดินทางได้ 11 เที่ยว ตรงนี้จึงถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่ง ของการมอบความสะดวกให้ลูกค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาสะสมไมล์ ตั้งเป้ายอดจำหน่ายเดือนแรกไว้ที่ 500-1,000 ใบ”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เปิดตัว “Ticket to Go” ตั๋วโดยสารสะดวกซื้อ มีจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น , บลิสเทลชอป ,ไทยทิกเก็ต มาสเตอร์ ,เจมาร์ท และเตรียมขยายไปที่ร้าน ไอโมบาย ส่วนอนาคตเตรียมเจรจาเปิดจำหน่ายที่ธนาคาร ซึ่งตรงนี้ ช่วยให้ วัน-ทู-โก มียอดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 10-20% จากเดิมที่ยอดจองล่วงหน้าของ วัน-ทู-โก จะมีไม่ถึง 5% ทั้งนี้เพราะ เราเป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่ขายตั๋วโดยสารราคาเดียวทุกที่นั่ง และไม่คิดค่าบริการกรณีเปลี่ยนแปลงวันเดินทาง จึงไม่ค่อยมีลูกค้าจองล่วงหน้า

ดันวัน-ทู-โก สร้างรายได้หลัก

นางสาวมนัสนันท์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 1 ปีนับจากนี้ไป บริษัทฯจะสร้างฐานตลาดเส้นทางในประเทศให้แข็งแกร่งก่อน เพราะเห็นว่ากำลังซื้อตลาดในประเทศยังมีอยู่สูง และมีอีกหลายเดสสิเนชั่นที่น่าสนใจไปเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ โดยครึ่งปีหลังคาดผลประกอบการจะโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 40% ขณะที่ผลประกอบการรวมทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ 4,200 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยแบ่งเป็น 40% เป็นรายได้จาก วัน-ทู-โก อีก 60% เป็นรายได้จากโอเรียนท์ไทย ซึ่งบินในเส้นทางต่างประเทศ

แต่ปีหน้า คาดว่า รายได้จาก วัน-ทู-โก จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 60% และโอเรียนท์ไทยจะเป็น 40% เพราะบริษัทมีแผนขยายเส้นทางบินในประเทศอีกหลายเส้นทาง ล่าสุด เมื่อ กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เปิดเส้นทางบิน กรุงเทพ-ขอนแก่น ซึ่งตลาดตอบรับดี ซึ่งเราขอเป็นสายการบินที่เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสาร เพราะเส้นทางดังกล่าวมีการบินไทยเพียงรายเดียวที่บินอยู่ โดยราคา วัน-ทู-โกจะถูกกว่า การบินไทยประมาณ 400-500 บาทต่อเที่ยว

ปัจจุบัน โอเรียท์ไทย บินใน 2 ประเทศคือเกาหลีใต้ และ ฮ่องกง ส่วนการขยายเส้นทางไปประเทศอื่นอยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะต้องรอความพร้อมของฝูงบิน ที่จะเริ่มทยอยเข้ามาในสิ้นปีนี้ตามคำสั่งซื้อ และเช่าซื้อ อีกทั้งต้องมั่นใจในพันธมิตรทางการค้าก่อนลงทุน ส่วนเส้นทางในประเทศ บริษัทค่อนข้างมั่นใจจากผลตอบรับของลูกค้า ปัจจุบัน วัน-ทู-โก มีอัตราผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยว ราว 85% จาก 5 เดสติเนชั่น รวม 13 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งบินออกจากกรุงเทพ ไปยัง เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น หาดใหญ่ เชียงราย และสุราษฎร์ธานี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.