โนเบิลเคลียร์…จุดชี้เป็นชี้ตาย CNT

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว อรวรรณ บัณฑิตกุล ศิริรัตน์ ภัตตาตั้ง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

โนเบิลเคลียร์ จีเอ็มบีเอช เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี มีทุนจดทะเบียนในปัจจุบัน 305,800 ดอยช์มาร์ค หรือประมาร 5 ล้านบาทเศษ ๆ ซึ่ง CNT มีสัดส่วนถือหุ้น 80.74% ในบริษัทนี้ทางอ้อมผ่านทางบริษัทซีเอ็นที จีเอ็มบีเอช โดยคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนแค่ 4 ล้านบาทเศษ ๆ เท่านั้น ส่วนผู้ถือหุ้นในโนเบิลเคลียร์อีก 19.26% เป็นบริษัทในเยอรมนี

โครงการที่โนเบิลเคลียร์ดำเนินการ คือ "โคนิคส์ พาร์ค" ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเบอร์ลินไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 30 กิโลเมตรและติดถนนสายใหญ่ของกรุงเบอร์ลินไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 30 กิโลเมตรและติดถนนสายใหญ่ของกรุงเบอร์ลิน ห่างจากสนามบินเก่าของเยอรมันตะวันออกไปเพียง 10 กิโลเมตร ถือว่าเป็นทำเลที่ดีทีเดียว

พื้นที่จำนวน 636 ไร่ของโครงการแบ่งเป็นพื้นที่ที่พักอาศัย 146 ไร่ ซึ่งตามแผนงานจะก่อสร้างบ้านพักจำนวน 923 หลัง และพื้นที่เชิงพาณิชย์ประมาณ 490 ไร่

ตอนที่ CNT เข้าลงทุนในโนเบิลเคลียร์เมื่อปี 2537 นั้น ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเยอรมนีมีอัตราเติบโตสูง CNT คาดว่า โนเบิลเคลียร์จะขายบ้านพักได้ปีละ 300 หลังหรือประมาณ 25% ต่อปี และจะปิดโครงการได้ภายในปี 2540

รวมทั้งคาดว่าที่ดินในเชิงพาณิชย์จะปิดโครงการได้ในปี 2542 โดยแบ่งเป็น 30% ของพื้นที่จะขายในรูปพื้นที่บริการสำหรับผู้ซื้อในการพัฒนาเอง ส่วนอีก 70% จะขายขาดหรือให้เช่าต่ออาคาร ซึ่งจะทำให้มีงานก่อสร้างและกำไรจากการพัฒนางานสร้างอาคารตามมา

ทว่า เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามนั้น ภาวะที่อยู่อาศัยล้นตลาดจากการเกิดโครงการรอบกรุงเบอร์ลินถึงกว่า 200 โครงการและผลจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้รายได้ของบุคคลและนิติบุคคลลดลง การขายที่อยู่อาศัยจึงเป็นไปอย่างลำบาก ประกอบกับพื้นที่ส่วนพาณิชย์ที่คาดว่าบริษัทต่าง ๆ จะเข้ามาซื้อหรือเช่า ก็ได้รับผลกระทบด้วย เพราะมีการย้ายฐานการผลิตจากเยอรมนีไปยังต่างประเทศเพราะปัญหาค่าแรง

โนเบิลเคลียร์จึงต้องปรับเป้าหมายการขายพื้นที่ใหม่ครั้งแรกในปี 2538 คาดว่าที่อยู่อาศัยจะปิดโครงการได้ในปี 2542 และต้องปรับตัวเลขใหม่อีกครั้งในปี 2539 โดยเลื่อนปิดโครงการเป็นปี 2547 เช่นเดียวกับพื้นที่พาณิชย์ที่เลื่อนการปิดโครงการเป็นปี 2547

ผลก็คือจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ดอกเบี้ยจ่ายค่าโสหุ้ยต่าง ๆ รวมไปถึงอาจต้องมีการลดราคาขาย จึงประมาณการว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการโนเบิลเคลียร์จะมียอดขาดทุนประมาณ 61.50 ล้านดอยช์มาร์คหรือประมาณ 1,045 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้โนเบิลเคลียร์ต้องตั้งสำรองการขาดทุนไว้ด้วย

นอกจากนี้ โครงการโนิคส์ พาร์คยังใช้เงินสนับสนุนส่วนใหญ่จากการเงินกู้ยืมเป็นตัวจักรในการลงทุน โดยตามประมาณการปี 2539 จะมีเงินกู้ยืมจาก CNT ทั้งหมด 67 ล้านดอยช์มาร์ค หรือประมาณ 1,100 ล้านบาทและเงินกู้จากธนาคารอีกประมาณ 3,400 ล้านบาท ซึ่งเบิกใช้ได้สูงสุดประมาณ 2,800 ล้านบาท โดยมี CNT เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ยืมให้ ดังนั้นการเลื่อนปิดโครงการจึงส่งผลกระทบถึงปัญหาการเงินตามมา

ธนาคารเจ้าหนี้ไม่อาจปล่อยให้โนเบิลเคลียร์จัดการกับโครงการอย่างอิสระต่อไป แต่สร้างกรอบใหม่ในการทำงานให้กับโนเบิลเคลียร์ โดยวางเงื่อนไขให้โนเบิลเคลียร์ต้องขายโครงการได้ถึง 50% ก่อนที่จะก่อสร้างเสร็จและต้องขายโครงการในเฟสเดิมได้ถึง 75% และขายเฟสก่อนหน้าเฟสเดิม 95% ของโครงการก่อนที่จะเริ่มโครงการต่อไป กล่าวได้ว่าโนเบิลเคลียร์มีข้อจำกัดในการขยายตัวมากขึ้น

ดังนั้นการจะผลักดันโครงการโคนิค พาร์คให้เดินหน้าต่อไปจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โนเบิลเคลียร์ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและระยะเวลาอีกพอสมควร ซึ่งภาระหนักย่อมจะตกแก่ CNT ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยต้องสนับสนุนในด้านเงินกู้ และอาจต้องเซ็นค้ำประกันการกู้ยืมให้โนเบิลเคลียร์เพิ่มขึ้น

แต่ CNT ไม่มีเวลาให้กับโนเบิลเคลียร์อีกต่อไป

เพราะขณะนี้ CNT ต้องแบกรับผลกระทบทั้งสองด้านเพียบบ่าอยู่แล้ว นั่นคือในฐานะผู้ถือหุ้น CNT ต้องรับรู้สำรองการขาดทุนและหนี้ที่โนเบิลเคลียร์ติดชำระกับเจ้าหนี้อื่น ๆ เข้ามาในงบการเงินรวมของบริษัท ขณะที่ในฐานะเจ้าหนี้ CNT ก็เรียกเก็บเงินจากโนเบิลเคลียร์ไม่ได้ ผลที่ตามมาก็คือ CNT มีสถานะทางกาเรงินง่อนแง่นจนถึงขั้นอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

แผนการลดสัดส่วนการถือหุ้นในโนเบิลเคลียร์จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CNT จะทำได้ในขณะนี้เพื่อรักษาสถานภาพการเป็นบริษัทจดทะเบียนของ CNT



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.