92 ปีของบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน)

โดย ภัชราพร ช้างแก้ว อรวรรณ บัณฑิตกุล ศิริรัตน์ ภัตตาตั้ง
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 นับเป็นเวลาประมาณ 92 ปีมาแล้วที่ ดร.รูดอล์ฟ คริสเตียนี และกัปตัน อากี้ นีลเส็น ได้ก่อตั้งบริษัทวิศวกรรมเล็ก ๆ "คริสเตียนี และนีลเส็น" ขึ้นในประเทศเดนมาร์กผลงานในช่วงแรกที่ได้ค่อย ๆ สร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักก็คือ งานทางด้านก่อสร้างสะพาน วิศวกรรมทางทะเล และโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กอื่น ๆ

ต้นปี พ.ศ. 2473 ดร.รูดอล์ฟ ได้เข้ามาเยือนสยามประเทศ และในเดือนกันยายนปีเดียวกัน บริษัทคริสเตียนี และนีลเส็นก็ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ บริษัทคริสเตียนี และนีลเส็น เอ/เอส โคเปนเฮเกนจากประเทศเดนมาร์ก กรมพระคลังข้างที่ และเจ้าพระยาประดิพัทธ์ภูบาล เศรษฐีที่ดินรายใหญ่ของเมืองสยามเวลานั้น การรับงานก่อสร้างของบริษัทคริสเตียนีในช่วงแรกนั้นเป็นการรับงานมาจากกรมพระคลังข้างที่ และเป็นงานทางด้านสาธารณูปโภค ท่าเรือคลองเตย สะพานพระรามหก สะพานกรุงเทพฯ ถนนสายกรุงเทพฯ นครปฐม สายโคราช หนองคาย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โรงแรมโอเรียลเต็ล คือ ผลงานที่ยังคงยืนหยัดให้เห็น

ในปี 2517 เป็นเวลา 44 ปีหลังจากการเข้ามาในเมืองไทย บริษัทนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 12,500,000 บาท และมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทคริสเตียนี และนีลเส็นเอ/เอส โคเปนเฮเกน บริษัทอีสต์ เอเชียติ๊ก โคเปนเฮเกน กลุ่มเตชะไพบูลย์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ปี 2534 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในบริษัทคริสเตียนีฯ อีกครั้งหนึ่งเมื่อได้จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนและเป็นบริษัทก่อสร้างแห่งแรกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ปี 2535 ได้มีเหตุการณ์ที่สร้างความฮือฮาในวงการก่อสร้างไปทั่วโลก เมื่อทางบริษัทคริสเตียนี (ไทย) ได้เข้าไปครอบครองกิจการของบริษัทแม่ในเดนมาร์ก ซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 88 ปี

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ฐานบัญชาการใหญ่ของบริษัทคริสเตียนีฯ ที่มีบริษัทย่อยทั่วโลกจึงอยู่ที่เมืองไทย

บริษัทแม่ของคริสเตียนีฯ ยอมขายกิจการในช่วงนั้นเป็นเพราะภาวะการก่อสร้างที่กำลังตกต่ำทั่วไปในยุโรป ทำให้บริษัทแม่ต้องประสบกับภาวะขาดทุน ในขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ชาวไทยมองว่าภาวะของงานก่อสร้างในแถบเอเชีย และเมืองไทยมีแต่จะมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางใหม่ในการขยายตัวทางด้านอสังหาริมทรัพย์

หลังการเข้าตลาดหลักทรัพย์และซื้อบริษัทแม่ รายได้รวมของบริษัทเองก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2,218 ล้านบาทในปี 2534 เป็น 6,916 ล้านบาทในครึ่งปีแรก 2539 แต่ในขณะเดียวกัน ตัวเลขหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นจาก 975 ล้านบาทในปี 2534 เป็น 11,573 ล้านบาทในครึ่งแรกของปี 2539

ส่งผลให้ผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปีนี้บริษัทขาดทุนย่อยยับถึง 2,236 ล้านบาท

วันนี้จึงเป็นช่วงวิกฤตที่สุดของบริษัทคริสเตียนีฯ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.