|

อินเด็กซ์ฯ พัฒนาจุดแข็งสู้ยักษ์ใหญ่สวีเดนเสริมแบรนด์วินเนอร์รักษากลุ่มลูกค้าแมส
ผู้จัดการรายวัน(8 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
อินเด็กซ์ฯ รับมือคู่แข่ง "กลุ่มอิเกีย" ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จากยุโรปเข้ามาตีตลาดในไทย เร่งสร้างเกาะป้องกันสินค้าแบรนด์วินเนอร์ ที่ชนเต็มๆ กับกลุ่มอิเกีย ที่มุ่งลูกค้าระดับแมส เดินหน้าตอกย้ำแบรนด์วินเนอร์-เพิ่มเครือข่ายสาขาให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้า ด้านบิ๊กอินเด็กซ์ฯ ชี้ผลเปิดเอฟทีเอไทย-จีน ทำให้ยอดส่งออกท่อนไม้ยางพาราไปจีน-เวียดนามสูงขึ้น เหตุขายได้ราคาดี
นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด เปิดเผยถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศจีน (FTA) ว่า ได้มีผู้ประกอบการโรงเลื่อยหันไปส่งออกไม้ยางพาราในรูปแบบไม้ท่อนมากขึ้น ขณะที่จำนวนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปขายในประเทศเริ่มลดลง เนื่องจากการส่งออกไม้ท่อนมีต้นทุนต่ำกว่า โดยการส่งออกส่วนใหญ่จะไปประเทศจีนและเวียดนาม ทำให้ราคาไม้ยางพาราปรับสูงขึ้น 10-15%
นอกจากนี้ ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในไทยได้รับผลกระทบจากสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลง และแม้ต้นทุนวัตถุดิบจะสูงขึ้นจากปัจจัยทางด้านราคาน้ำมัน แต่ผู้ประกอบการไม่อยู่ในฐานะที่จะปรับราคาขายได้ เนื่องจากสภาพตลาดรวมไม่เอื้ออำนวยต่อการปรับราคา ซึ่งทางสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ได้มีการหารือในการแก้ไขปัญหา โดยเปลี่ยนวัตถุดิบประเภทไม้ในการผลิต โดยจะหันไปสั่งนำเข้าไม้จากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาทดแทนไม้ยางพารา อาทิ ไม้บีช, ไม้โอ๊ค และไม้เมเปิล ซึ่งแหล่งผลิตหลักอยู่ในประเทศยุโปรและอเมริกาฯ
"บริษัทยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าไม้ชนิดอื่นมาผลิตเฟอร์นิเจอร์แทนไม้ยางพารา เนื่องจากลูกค้ายังนิยมเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ยางพารา ราคาไม้ยางพารายังไม่ปรับสูงขึ้น แต่หากในอนาคตราคาไม้ยางพาราขยับสูงขึ้น บริษัทอาจนำเข้าไม้ชนิดอื่นแทน ที่ผ่านมา บริษัทมีการนำเข้าไม้โอ๊ก ไม้บิชมาเป็นส่วนประกอบ หรือห่อหุ้มเฟอร์นิเจอร์" นายกิจจากล่าว
เสริมฐานสาขา-สร้างแบรนด์วินเนอร์รับมือยักษ์ใหญ่ 'อิเกีย' บุกตลาดไทย
นายขวัญชัย กิจก้องขรจชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดบริษัท กล่าวถึงการเข้ามาทำตลาดของยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จากประเทศสวีเดนภายใต้ชื่อกลุ่มบริษัท อิเกีย นั้น คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานของบริษัทอินเด็กซ์ฯ เนื่องจากมีความแตกต่างในเรื่องของกลุ่มลูกค้า โดยตลาดหลักของกลุ่มอิเกีย จะเป็นตลาด Bบวก และ C ขณะที่กลุ่มลูกค้าของอินเด็กซ์ฯ จะเป็นกลุ่มลูกค้า Bบวก ขึ้นไป นอกจากนั้นความหลากหลายของสินค้าอินเด็กซ์ฯ ยังได้เปรียบคู่แข่งอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้าทุ่มตลาดของกลุ่มอิเกีย คือตลาด Bลบ ลงมา ซึ่งแน่นอนกลุ่มดังกล่าวจะชนกับตลาดของแบรนด์วินเนอร์ (ที่ทำตลาดระดับแมส) และผู้ประกอบการรายเล็กทั่วไป ทั้งนี้ บริษัทได้เร่งสร้างความพร้อมเพื่อรับมือการเข้ามาของคู่แข่ง โดยกำหนดแนวทางที่จะสร้างการรับรู้ในแบรนด์ผ่านการจัดกิจกรรมทางตลาด เพิ่มปริมาณสาขาแบรนด์วินเนอร์เฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้มีเครือข่ายที่ครอบคลุมกับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยได้เพิ่มสาขาแบรนด์วินเนอร์ไปแล้ว 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาปิ่นเกล้า พระราม3, ท่าพระ, บางใหญ่, เชียงใหม่ และเซ็นทรัลทาวเวอร์ เฉลี่ยใช้งบลงทุนต่อสาขาประมาณ 10 ล้านบาท และมีแผนเปิดสาขาเพิ่มอย่างน้อย 2 สาขาในปี 49 นี้ ประกอบด้วย สาขาพระราม2, พิษณุโลก และอุบลราชธานี ซึ่งส่วนใหญ่สาขาใหม่ของแบรนด์วินเนอร์ จะผูกติดแบรนด์อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ในขณะเดียวกันก็จะมีการเปิดเพิ่มในส่วนของห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ด้วย
"เป็นเรื่องที่ดีกับการเข้ามาทำตลาดในไทยของกลุ่มอิเกีย จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดขยายใหญ่มากขึ้น ซึ่งบริษัทไม่ได้มองว่าอิเกียเป็นคู่แข่ง แต่เห็นว่าเป็นบริษัทพันธมิตรทางการค้า เนื่องจากอิเกียเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งที่สั่งซื้อชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์จากบริษัท และไม่กังวลหากกลุ่มอิเกียจะลดการสั่งสินค้าหรือสั่งสินค้าเพิ่มจากบริษัทก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะบริษัทได้เริ่มขยายตลาดไว้รองรับแล้ว" นายขวัญชัยกล่าวและชี้ว่า
สินค้าของกลุ่มอิเกีย ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของการผลิตสินค้า เนื่องจากเป็นการสั่งซื้อชิ้นส่วนเพื่อประกอบขาย และทำตลาดในตลาดระดับล่าง ถนัดทำเฟอร์นิเจอร์แบบอายุใช้งานสั้น เนื่องจากคุ้นเคยกับรูปแบบการใช้เฟอร์นิเจอร์ในตลาดยุโรปและอเมริกา ที่ผู้บริโภคนิยมใช้เฟอร์นิเจอร์แบบชั่วคราว เมื่อมีรายได้สูงขึ้นก็จะเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ แต่พฤติกรรมการใช้เฟอร์นิเจอร์ในไทยแตกต่างออกไป เพราะลูกค้าไทยเน้นสินค้าที่มีอายุการใช้งานระยะยาว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|