|

ธปท.ปัด NPL แบงก์เฉพาะกิจ
ผู้จัดการรายวัน(8 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติยอมรับหนี้เสียเพิ่มขึ้นแต่ยังคุมได้ หม่อมอุ๋ยระบุอย่านำหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้การดูแลของคลังมารวมกับแบงก์พาณิชย์ที่ ธปท.กำกับดูแล เผยไม่มีสูตรตายตัวสูงต่ำของหนี้เสียต่อจีดีพี
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นจำนวนมากว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน เพราะสถาบันการเงินเฉพาะกิจอยู่นอกระบบสถาบันการเงินมีการแยกการกำกับดูแลอย่างชัดเจนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง นอกจากนี้เมื่อเทียบสัดส่วนหนี้เอ็นพีแอลของสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับระบบธนาคารพาณิชย์
"แบงก์เฉพาะกิจมีการแยกการกำกับค่อนข้างชัดเจน คนละระบบกับแบงก์พาณิชย์ไทย สัดส่วนสินเชื่อและเอ็นพีแอลมีไม่มากเมื่อเทียบกับแบงก์พาณิชย์ไทย แบงก์เฉพาะกิจเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการปล่อยกู้ ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลโดยตรง ต้องไปถามกระทรวงการคลัง ไม่เกี่ยวกับธปท." ผู้ว่าการธปท.กล่าว
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบหนี้ในระบบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขณะนี้เท่าที่ดูจากตัวเลขมีอัตราการเพิ่มขึ้นจากอดีตที่ผ่านมามากพอสมควร ซึ่งหากเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ก็น่าเป็นห่วง ซึ่งคงต้องจับตาดูต่อไป อย่างไรก็ตามหากจะให้บอกระดับหนี้ที่เหมาะสมต่อจีดีพีว่าควรจะอยู่ที่ระดับใด คงไม่สามารถบอกได้ เพราะไม่มีสูตรที่ตายตัว
สำหรับ การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต ซึ่งก่อนหน้านี้ทางชมรมผู้ประกอบการบัตรเครดิตได้ส่งหนังสือเพื่อขอขึ้นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากปัจจุบันที่ 18% เป็น 20% นั้น นางธาริษา กล่าวว่า คงต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้รอบคอบอีกครั้ง แล้วจะประกาศให้ทราบพร้อมกัน
ขณะที่นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า จากการดูข้อมูลตัวเลขหนี้ระยะสั้นเมื่อเทียบกับหนี้ระยะยาวในขณะนี้ ถือว่าหนี้ระยะสั้นยังไม่น่ากังวลอย่างใด โดยล่าสุดหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ประมาณ 20% เศษเท่านั้น ซึ่งรวมสินเชื่อเพื่อการค้าแล้ว
ทั้งนี้ ธปท.ได้รายงานตัวเลขหนี้ต่างประเทศล่าสุด ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2549 มียอดคงค้าง 57,325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการนำเข้าหนี้ของภาคธุรกิจที่มิใช่ธนาคารเป็นสำคัญ โดยสัดส่วนหนี้ระยะสั้นคิดเป็น 31% และหนี้ระยะยาว 69% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมดซึ่งอยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อน
สำหรับหนี้รัฐบาลมียอดคงค้าง 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการซื้อคืนและรัฐบาลไถ่ถอนตราสารหนี้ระยะยาว ส่วนหนี้ภาคธนาคาร มียอดคงค้าง 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์นำเข้าหนี้สุทธิ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กิจการวิเทศธนกิจชำระคืนเงินกู้สุทธิ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่หนี้ภาคอื่นๆ มียอดคงค้าง 45,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการนำเข้าสินเชื่อการค้า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|