|
3 วิธีคิดองค์กรเชิงบวกกลับลำตั้งรับวิกฤต
ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
*- 3 แนวทางสู่วิธีคิดเชิงบวก สร้างภูมิคุ้มกันองค์กร
*- "ปลูกความพึงพอใจในเนื้องาน-จัดวางเป้าหมายที่ท้าทาย-ผลักพฤติกรรมเชิงบวก" เรื่องใต้จมูกที่ไม่ค่อยมีคนตระหนัก
*- ใครว่ารูปทรงของเรือจำกัดตัวอยู่แค่ทรงเหลี่ยม จะเป็นอย่างไร? ถ้าออกแบบองค์กรให้เป็นทรงกลม สามารถ "กลิ้ง" ไปในมหาสมุทรแทนที่จะ "แล่น"
*- ทุกโอกาสมีวิกฤติ ทุกวิกฤติมีโอกาส ต้องขาตั้งสู้รับมือทุกการเปลี่ยนแปลง
ในกระแสโลกาภิวัตน์ไม่มีใครรู้ว่าคลื่นยักษ์ทางเศรษฐกิจจะซัดกระหน่ำธุรกิจวันไหน? ฉะนั้นองค์กรที่ล่องลอยตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกราวกับน้ำขึ้นน้ำลง จะประคองตัวให้ตั้งลำอยู่ได้ จะต้องมีองค์ประกอบหลักๆ คือ กัปตัน ลูกทีม และสภาพของเรือที่แข็งแรง
แนวทางออกแบบองค์กรให้ทนแดดทนฝนทนมรสุม ถ้าเปรียบดังรูปทรงของเรือ ณ วันนี้ไม่แน่ว่าจำเป็นต้องเป็นทรงเหลี่ยมหรือทรงมนอีกต่อไป และไม่แน่ว่าต้องใช้กริยา "แล่น" เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เรือถึงจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้
จะเป็นอย่างไร? ถ้าเราเปลี่ยนรูปทรง "เหลี่ยม" ของเรือมาเป็นทรง "กลม"
และจะเป็นอย่างไร? ถ้าเราใช้อาการ "กลิ้ง" เพื่อทำให้เรือเคลื่อนที่ แทนการ "แล่น" อย่างที่แล้วๆ มา
สาธิต วิทยากร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่/รองผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกลุ่มธุรกิจในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า การออกแบบองค์กรเพื่อต้านกระแสคลื่นวิกฤตทางเศรษฐกิจที่สามารถเกิดได้ทุกเวลา องค์กรนั้นจะต้องเป็น Positive Organizational Behavior หรือองค์กรที่มีพฤติกรรมเชิงบวก ภายใต้ 3 ทฤษฎีที่ออกมาอกแอ่นรับแนวคิดดังกล่าว
1. Job Characteristic Model ของ Timothy A.Judge กล่าวไว้ว่า พนักงานจะต้องมีความพึงพอใจในงาน วีธีที่จะทำให้พนักงานพอใจทำได้อย่างไร? องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือ เนื้องานที่มีอิทธิพลมากกว่าการจ่ายค่าตอบแทนหรือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งสองสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยรองลงมา ตัวเนื้องานจะประกอบด้วย รู้จักว่างานของตนเองคืออะไร? มีความสำคัญต่อองค์กรอย่างไร? มีความหลากหลายในงานไม่ซ้ำซาก
พนักงานสามารถวางแผนงานของตนเองได้ และผลตอบรับของงานจากหัวหน้าได้ผลน่าพอใจ หากพิจารณาดูแล้วจะพบว่างานแต่ละงานมีความแตกต่างกัน แต่โครงสร้างการสร้างความพอใจในงานไม่ต่างกัน
2. Goal Setting Organization ของ Gray P.Latham หรือ การตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย คนที่มีเป้าหมายในการทำงานจะสามารถทำงานได้ดีกว่าคนที่ขาดเป้าหมาย การสร้างจุดหมายจะทำให้เกิดความท้าทายในงาน การทำงานก็ไม่ซ้ำซาก หากยิ่งได้รับคำชมจากหัวหน้าหรือบุคคลอื่นอยู่เรื่อยๆ ขั้นสุดท้ายพนักงานจะมีความมั่นใจในงานและมั่นใจในตนเอง ผลงานจะค่อยๆ ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น
ขณะที่ประเด็นของความมั่นใจ สามารถสร้างให้เกิดได้จาก 5 ตัวแปรสำคัญคือ 1. ได้รับการสั่งงานจากหัวหน้าที่ให้การสนับสนุน 2. ถ้ามีปัญหามีหัวหน้าที่คอยเคียงข้าง การมีคนอยู่ข้างๆจะทำให้ความอบอุ่นใจ 3 .มีการสอน 4 .มีแรงจูงใจ และ 5.ความมั่นใจในงานจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
เมื่อตัวแปรความมั่นใจมีหัวหน้ารวมอยู่ด้วย แล้วหัวหน้าจะสร้างความมั่นใจให้ลูกน้องได้อย่างไร? เมื่อตั้งเป้าที่ท้าทายให้ลูกน้องแล้ว หน้าที่ต่อไปคือทำตัวเองให้เป็นต้นแบบที่คนอื่นสามารถศึกษาได้ ทำงานให้เป็นแบบอย่างโดยเน้นกระบวนการที่มีขั้นตอนให้สำเร็จเป็นสเต็ป ย่อยงานชิ้นใหญ่ๆ ให้ง่ายขึ้น โน้มน้าวใจให้ลูกน้องมีความมั่นใจ ด้วยคำว่า 'เราทำได้ พี่เชื่อ'
"ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้และมีการตั้งเป้าให้พนักงานอยู่เรื่อยๆ การทำงาน ประสิทธิภาพรวมทั้งความมั่นใจของพนักงานก็ดีขึ้น"
องค์กรทั่วไปจะต้องมีการตั้งเป้าหมาย (Goal Setting) และความพึงพอใจของพนักงาน (Job Characteristic) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรที่ท้าทาย หากโลกในการแข่งขันธุรกิจดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีการต่อสู้ แข่งขัน การทำงานก็ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม องค์กรก็ไม่มีปัญหาที่จะต้องคัดคนออก แต่ในโลกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาตามแรงโน้มถ่วง
โดยการเปลี่ยนแปลงจะมี 3 แบบ ได้แก่ 1.Anticipated Change การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวังไว้แล้ว สามารถหาทางแก้ไขไว้ล่วงหน้าได้ 2. emergent Change การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดมาก่อน แต่ที่สุดแล้วการการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่เกิดขึ้นจะต้องปรับการเปลี่ยนสองการเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นโอกาส คือ 3. Opportunity Based Change ซึ่งถือว่าเป็นกรอบความคิดเชิงบวก
"เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ต้องคิดเสมอว่ามันมีโอกาสอยู่ในวิกฤต ทำอย่างไรให้กลายเป็นโอกาส บางคนเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการปรับตัวสู้การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็ไขว้เขว ทำให้ไปไม่ถึงจุดหมาย เป็นต้นเหตุให้ทั้งคนและองค์กรจมน้ำได้ง่ายๆ"
3. Positive Organizational Behavior (POB) ของ Fred Lutahns กล่าวว่าองค์ประกอบขององค์กรพฤติกรรมเชิงบวกมีอะไรบ้าง? ซึ่งก็ได้แก่ 1. Confidence คนในองค์กรจะต้องมีความมั่นใจในตนเอง 2. Hope มีความหวัง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ดี คนในองค์กรจะต้องมีความหวังว่าจะต้องมีวันที่ดีขึ้น และ 3. Resiliency การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง บางตำราเรียกว่าความอึดหรือความอดทน
สิ่งเหล่านี้ต้องอยู่ในหัวของพนักงาน คิดและทำให้เป็นนิสัย ซึ่งการทำเช่นนี้จะเป็นวิธีปรับความคิดให้ตรงกัน บางคนสามารถทนกับการเปลี่ยนแปลงได้ แต่บางคนทนไม่ได้ การปรับความคิดให้ทุกคนไปในทางบวก ทำให้มีเป้าหมายเดียวกัน และเดินสู่จุดหมายเดียวกัน แม้พฤติกรรมจะต่างกัน
หากมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากเป็นวิกฤต ลูกน้องจะต้องมีความอึด โดยหัวหน้าจะต้องมีวิธีและขั้นตอนสร้างความอึด โดยสร้างความสามารถในการเข้าสังคม การประเมินสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ความสามารถในการแก้ปัญหา รวมทั้งวางแผนงานของตัวเองไว้ล่วงหน้า และมีเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ชัดเจน หากมีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ พนักงานจะปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น
"หัวหน้าต้องเป็นคนออกแบบงานให้ลูกน้องเพื่อให้ลูกน้องที่ลูกน้องพึงพอใจในงาน ต้องตั้งเป้าหมายที่ท้าทายให้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ส่วนตัวลูกน้องก็ต้องได้รับการอบรมด้วยว่าทุกอย่างต้องคิดในเชิงบวก"
องค์กรที่มีพฤติกรรมเชิงบวกจะมีลักษณะที่เด่นชัด เช่นว่า ทุกคนในองค์กรมีความมั่นใจ มีความหวัง และสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ เข้าใจความหมายของการเปลี่ยนแปลง คิดเสมอว่าองค์กรเป็นวงกลม เมื่อเจอคลื่นซัดแล้ว องค์กรจะยังลอยได้ ไม่แข็งขืนต่อการเปลี่ยนแปลง แต่จะหาโอกาสที่จะเข้าไปรู้จักและเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ถ้าลูกน้องได้รับการฝึกหัดที่ดี หัวหน้ามีความเข้าใจ จะเป็นองค์กรที่ต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงได้ดี
สาธิต กล่าวว่า ไม่ว่าการแข่งขันในโลกจะรุนแรงเท่าใดก็ตาม องค์กรที่มีพฤติกรรมเชิงบวกก็สามารถอยู่ได้ แต่ต้องปลูกฝัง ฉีดภูมิคุ้มกันให้ลูกน้องในทุกระดับ ปรับปรุงคอนเซ็ปต์ให้อยู่ในหัวของทุกคนว่า ทุกอย่างจะต้องดีขึ้น พยายามใส่แนวคิดนี้เข้าไปเรื่อยๆ จนเป็นสิ่งคุ้นชิน จะทำให้พนักงานเตรียมพร้อมจะรับกับวิกฤตที่เกิดขึ้น เป็นภูมิคุ้มกัน ให้คนและองค์กรไม่อ่อนแอ
การทำให้องค์กรเป็นเรือทรงกลมหรือมีพฤติกรรมเชิงบวกนี้ เป็นเหมือนเรื่องเก่าๆ ที่มีอยู่แล้ว นำมาเล่าใหม่ เป็นเรื่องที่มีคนรู้อยู่แล้ว แต่อาจจะหลงๆ ลืมๆ ไปบ้าง เพราะผู้บริหารมัวแต่สนใจตัวเลขรายได้ จึงไม่ได้เช็คภูมิต้านทานขององค์กรว่าอยู่ในระดับที่ต้องการวัคซีนตัวนี้หรือไม่?จึงเป็นคำถามว่า ถึงเวลาออกแบบองค์กรให้เป็นทรงกลมหรือยัง?การใช้หลักคิดนี้เหมาะสมกับองค์กรในเมืองไทยมากน้อยแค่ไหน?และทำได้หรือไม่ในการพัฒนา HR ในอนาคต
สาธิต บอกว่า การนำคอนเซ็ปต์นี้มาใช้เป็นเรื่องที่องค์กรในเมืองไทยต้องให้ความสำคัญ เพราะบริษัทที่อยู่ในเมืองไทยส่วนใหญ่ยังละเลยการสร้างความพึงพอใจให้พนักงาน เน้นการสร้างผลประกอบการ ไม่สร้างความมั่นใจให้พนักงาน รวมทั้งขาดการตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย พนักงานจึงรู้สึกถูกทอดทิ้ง ขาดความมั่นใจ และไม่มีการคิดในเชิงบวก ดังนั้นการทำให้องค์กรมีพฤติกรรมเชิงบวกได้ต้องใช้คอนเซ็ปต์ทั้งหมดไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 แบบ
พฤติกรรมองค์กรเชิงบวก เป็นเครื่องมือสำคัญตัวหนึ่งที่สามารถพัฒนางาน HR ในอนาคตได้ดี เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจและนำมาปรับใช้ในองค์กร การนำคอนเซ็ปต์นี้มาใช้ในเมืองไทยคงต้องมานั่งพิจารณารายละเอียด เพราะเป็นเพียงหลักคิดกว้างๆ หากจะนำมาใช้คงต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะหนึ่ง แต่ถ้าทำได้สำเร็จ องค์กรไทยจะกลายเป็นลูกบอลที่ไม่กลัวลม โต้คลื่นได้อย่างเปรมปรีดา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|