|
ไอซีทีจี้กสทสาง 4 ปัญหาด่วน หวังดันทีโอที–กสทสู่ต่างแดน
ผู้จัดการรายวัน(7 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
รักษาการรมว.ไอซีทีโยนงานบอร์ดใหม่เร่งสาง 4 เรื่องด่วนคือ ไทยโมบาย ปรับหัวเหว่ย ร่วมทุนฮัทช์ และควบรวมกิจการ คาดปลายต.ค. ภาพรวมได้ความชัดเจน อยากเห็นรัฐวิสาหกิจรัฐกลุ่มสื่อสารเติบโตสยายปีกบริการลงทุนต่างชาติตามรอย บริทิช สิงเทล ส่วนควบรวมถกในระดับองค์กรให้ชัดก่อนเจรจากับทีโอที
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่าน น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้มอบนโยบายให้กับคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม หลังจากได้สรรหาผู้เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่แทนบอร์ดชุดเก่า ที่ได้ทำการลาออกทั้งชุดไปเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งบอร์ด กสท ชุดใหม่ ประกอบด้วย 1.นายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวง ไอซีที 2.นางมณีรัตน์ ผลิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงไอซีที 3. นายรองพล เจริญพันธุ์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 4.นายไกรสร บารมีอวยชัย รองปลัดกระทรวงยุติธรรม 5.นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง 6.นางแน่งน้อย ณ ระนอง อดีตบอร์ดชุดเก่า ในสมัย พล.ท.อนุสรณ์ เทพธาดา เป็นประธานบอร์ด 7.พล.ท.สมพล วีระศักดิ์ เจ้ากรมการสื่อสารทหารบก 8. นายศุภชัย จงศิริ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการคลัง 9.นายสุคนธ์ กาญจนหัตถกิจ อดีตผู้บริหารบริษัท ไพร้วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ และ 10.นายประจิณ เขจรนันท์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท
น.พ.สุชัย กล่าวว่า บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่บอร์ดชุดนี้ ตนเป็นผู้เสนอรายชื่อไปยังกระทรวงการคลัง โดยแต่ละบุคคลที่เข้ามานั้นเหมาะสมแล้วที่สุด เพื่อต้องการให้เข้ามาบริหารจัดการ กสท ให้สามารถแข่งขันพร้อมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมกับเร่งรัดใน 4 เรื่องให้เกิดความชัดเจนในข้อสรุปโดยเร็ว คือ
1. การเจรจาการดำเนินงานด้านการตลาดของโทรศัพท์เคลื่อนที่ซีดีเอ็มเอ ระหว่าง กสท กับบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอทีไวร์เลส มัลติมีเดีย หรือ ฮัทช์
2.เรื่องการพิจารณาค่าปรับกับบริษัท หัวเหว่ย จำกัด ที่ส่งมอบอุปกรณ์โครงข่ายโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอล่าช้า
3.เรื่องการซื้อขายหุ้นโทรศัพท์มือถือไทยโมบาย ระหว่าง กสท กับ ทีโอที ในสัดส่วนหุ้น 42% ให้มีข้อสรุปและเกิดข้อตกลง
4. การสร้างความสัมพันธ์ภายในองค์กรและการทำความเข้าใจด้านบริการ การแข่งขัน กับ ทีโอที เพื่อให้ทั้งสององค์กรสามารถสนับสนุน เกื้อกูล ในด้านการแข่งขัน การให้บริการ รวมถึงการสร้างความเข้าใจและข้อสรุปแนวทางด้านการควบรวมองค์กรกับ ทีโอที
“กรอบเวลาไม่ได้ให้ไว้ โดยอยากให้บอร์ดไปทำความเข้าใจและศึกษาให้ชัดเจน ในหลากหลายมุมมอง โดยคาดว่าภายในช่วงเดือนตุลาคม หรือ พฤศจิกายน เรื่องที่มอบหมายไว้เริ่มจะเห็นถึงความชัดเจนออกมาได้”
สำหรับนโยบายที่มอบหมายให้นั้น มี 4 เรื่อง คือ 1. มีความเป็นผู้นำองค์กร สามารถให้แนวทางนำพา กสท ไปสู่เป้าหมายและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น หากมีวิกฤตก็ต้องปรับให้เป็นโอกาสได้ 2.ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร ทั้งในแง่การให้บริการ การลงทุน 3. มีแนวทางพัฒนาองค์กร ทั้งการลงทุน การสร้างบริการ พัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ และ4.ต้องมีธรรมาภิบาล มีมาตรฐานตรวจสอบได้
รมว.ไอซีที กล่าวว่า นโยบายที่มอบหมายให้นั้น ต้องการให้ กสท เดินหน้าแข่งขันได้และสามารถขยายการให้บริการไปยังต่างประเทศ มีลักษณะเหมือนกับ บริทิช เทเลคอม ประเทศอังกฤษ บริษัท สิงเทล ประเทศสิงคโปร์ ที่สามารถให้บริการได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบอร์ดจะต้องให้นโยบายพร้อมข้อแนะนำกับฝ่ายบริหาร สามารถเดินหน้าตามแนวทางและเป้าหมายยุทธศาสตร์ ที่วางไว้ ซึ่งยังไม่รวมถึงการให้แนวทางในด้านการลงทุนใหม่ การสร้างตลาดบริการ เป็นต้น
“ผมมั่นใจบอร์ดที่เข้ามาเรื่องราวต่างๆ อาจจะคลี่คลายลงได้ ผมมีทัศนคติในด้านบวกมั่นใจว่า ทำได้ ปัญหาทุกอย่างนั้นมีทางออก ไม่ใช่มีอุปสรรคแล้วถอยหลัง”
สำหรับแนวทางการควบรวมนั้น ในเบื้องต้นต้องการให้ บอร์ด กสท ไปทำความเข้าใจกันภายในระดับองค์กร ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ระดับบอร์ด ฝ่ายบริหาร และ กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท เพื่อให้ทุกฝ่ายนั้นเข้าใจ กับก่อน ที่จะทำความชัดเจนร่วมกับ ทีโอที ต่อแนวทางการควบรวมว่าทุกฝ่ายนั้นมีความต้องการอย่างไร และ ต้องการให้มีการควบรวมหรือไม่ หากควบรวมจะดำเนินการในลักษณะใด เพื่อที่ทุกฝ่ายมีข้อมูลและมีความชัดเจนกับเรื่องนี้มากขึ้น
นายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงไอซีที หนึ่งในบอร์ดชุดใหม่ กล่าวว่า แนวทางที่ รมว. ไอซีที มอบหมายให้เร่งดำเนินการทั้ง 4 เรื่อง ระหว่างนี้จะขอให้ฝ่ายบริหารนำข้อมูลพร้อมรายละเอียดให้กับบอร์ดแต่ละคนทำการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องซีดีเอ็มเอ และ ฮัทช์ เพื่อทำความเข้าใจก่อนทำการพิจารณาเรื่องเร่งรัดให้เกิดข้อสรุป ซึ่งการทำหน้าที่ของบอร์ดชุดใหม่จะเน้นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเป็นหลัก
ส่วนการเจรจาซื้อขายหุ้นไทยโมบาย จะไม่เป็นปัญหาอย่างแน่นอน หากบอร์ดทั้ง 2 ฝ่ายหารือร่วมกันอย่างจริงจัง หากไม่สำเร็จซึ่งก็จะเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที จะเป็นผู้กำหนดอัตราการซื้อขายขึ้นมาเอง แต่การเจรจาร่วมกันครั้งนี้อาจจะมีทิศทางไปค่อนข้างดี เนื่องจาก รมว.ไอซีที ได้มอบนโยบายด้านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรทีโอทีและ กสท จึงอาจจะช่วยให้การเจรจามีความเข้าใจต่อกันมากขึ้น รวมถึงการนำไปสู่การเจรจาด้านการแบ่งธุรกิจบริการ การลงทุน เพื่อให้ทั้งสององค์กรสามารถเดินหน้าแข่งขันกันได้คล่องตัวมากขึ้นและมีการเกื้อกูลในแง่การให้บริการไปยังประชาชน
“ในเรื่องการตีมูลค่าหุ้นจริงๆแล้วไม่จำเป็นที่ต้องจ้างใครมาเป็นคนประเมินให้ เพราะทีโอทีกับ กสท สามารถตกลงกันเองได้ เพราะสุดท้ายถ้าตกลงไม่ได้ทางกระทรวงไอซีทีคลังก็เป็นผู้กำหนดราครกลางมาให้ทุกอย่างมันก็จบ ที่มันไม่จบเพราะผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายมันไม่ลงตัว”
ปลัดไอซีที กล่าวอีกว่า การควบรวมทีโอทีและ กสท ที่จะออกมานั้น ในระหว่างนี้ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน แต่ในเบื้องต้นจะต้องทำความเข้าใจกับพนักงาน จากนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้มา ซึ่งการรวมหรือไม่รวม ทุกฝ่ายจะต้องคุยทำความเข้าใจกันก่อนที่จะถึงในจุดนั้น ทั้งแบบโฮลดิ้ง รวมเป็นบริษัทเดียว หรือไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาการควบรวมได้ข้อสรุป จะช่วยส่งผลให้สามารถเพิ่มมูลค่าหุ้นขององค์กรได้ดีกว่าต่างบริษัทต่างนำหุ้นของตัวเองของกระจายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งตนก็คาดว่าการเข้ากระจายหุ้นนั้น คาดว่าจะผลักดันเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้อย่างสมบูรณ์ในช่วงไตรมาสที 2 ของปี 2550
“ตอนนี้มีนักลงทุนเข้ามาสอบถามในงานบางกอกไอซีทีเอ็กซ์โป ถึง 2 บริษัทนี้ ถึงความชัดเจนด้านการแข่งขัน และการลงทุน หาก ทุกอย่างได้ความชัดเจน การเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ไปได้สวย มีคนสนใจที่อยากจะเป็นพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมทุน สร้างบริการใหม่ๆ ให้บริการประชาชนได้ตามเป้าหมายที่คาดหวังซึ่งจะผลดีแก่ทั้งสององค์กร”
นายพิศาล จอโภชาอุดม รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า การแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ของ กสท นั้น ในภาพรวมเห็นว่า ผู้ที่มารับตำแหน่งใหม่มีความคุณสมบัติเหมาะสมทุกคน ซึ่งบอร์ดชุดใหม่ก็มาจากทั้งบอร์ดชุดเดิมและบุคลากรจากเอกชน ซึ่งก็จะสามารถช่วยพัฒนาธุรกิจและขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กสท ให้ดีขึ้นต่อไป โดยเฉพาะการสร้างบริการใหม่ การต่อยอดธุรกิจ การสร้างตลาดลูกค้า รวมไปถึงกลยุทธ์แข่งขันรับการแข่งขันเสรี
ส่วนหน้าที่ในเรื่องเร่งด่วน ที่ รมว.ไอซีที มอบหมายให้บอร์ดเข้ามาพิจารณาให้ข้อยุติ ขึ้นอยู่กับว่านโยบาย ของ บอร์ด จะเป็นแบบใด โดยฝ่ายบริหาร กสท ได้เตรียมพร้อมที่รับนโยบายเพื่อเดินหน้าดำเนินธุรกิจตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ นายพิศาล ยังได้ให้ความเห็นถึงกรณีการควบรวม และมีผลกระทบต่อธุรกิจที่มีอยู่ อย่างกรณีไทยโมบาย–ซีดีเอ็มเอ อีกด้วยว่า การควบรวมนั้นในระหว่างนี้ยังไม่สามารถตอบได้ซึ่งมีหลายแนวทาง โดยแนวทางที่จะควบรวมและส่งผลดีแก่ทั้งสองฝ่าย คือ การเป็นโฮลดิ้ง คือ กสท และ ทีโอที ดำเนินงานแยกกัน โดยไม่ลงทุนซ้ำซ้อน พร้อมกับเกื้อกูลบริการร่วมกัน มากกกว่าแข่งขันกันเอง
ส่วนธุรกิจ ไทยโมบาย ก่อนหน้านี้ บอร์ดได้เคยมีการเจรจามอบสิทธิให้ ทีโอที บริหารไปแล้ว ซึ่งการเจรจาหาตกลงมูลค่าหุ้นครั้งนี้คงจะไม่มีปัญหามากนักและคาดว่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งหาก ทีโอที ได้เข้ามาบริหารเต็มรูปแบบ และสร้างบริหารให้แข่งขันได้ ตลาดส่วนนี้จะไม่มีผลกระทบกันอย่างแน่นอน ถึงแม้จะมีการแข่งขันกันเองก็ตาม โดยต่างคนต่างสร้างตลาดหรือทำเซกเมนต์เป้าหมายที่วางไว้ก่อนหน้านี้
“การทำตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบซีดีเอ็มเอ จะไม่ไปแข่งขันกับธุรกิจไทยโมบายที่ ทีโอทีดำเนินงานอยู่แน่นอน เนื่องจากว่าการทำตลาดของซีดีเอ็มเอและไทยโมบายจะเป็นคนละลักษณะกัน โดยจะเน้นให้บริการในกลุ่มเป้าหมายที่ตนเองถนัด ซึ่งก็จะแบ่งในเซกเมนต์ที่ไม่เหมือนกัน ถึงแม้จะมีการควบรวมกันเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่ว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งต้องเลิกกิจการมือถือที่ทำอยู่ไป อย่างเอกชนรายใหญ่ ยังมีบริการมือถือ 2 ชื่อบริการไม่กลัวว่าจะมาแย่งลุกค้ากันเอง แต่มองว่าจะสามารถเพิ่มฐานตลาดให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายมากกว่า ซึ่งไทยโมบายกับ กสท ก็จะเป็นลักษณะนั้นเหมือนกัน”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|