|
ผุดกองอสังหาฯหมื่นล้านบางกอกแอร์เวย์สหาเงินคืนหนี้
ผู้จัดการรายวัน(7 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
บลจ.นครหลวงไทยเข็นกองทุนรวมอสังหาฯสนามบินสมุยมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท ของบริษัทบางกอกแอร์เวย์ส คาดระดมเงินในปลายเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ เผยก่อนหน้าไปโรดโชว์ที่สิงคโปร์นักลงทุนให้การตอบรับท่วมท้น ชี้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนเนื้อๆ 8-9% ต่อปี ผู้จัดการกองทุนชี้เหมือนลงทุนในหุ้นปันผล ผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อ ขณะที่"บางกอกแอร์เวย์"เตรียมนำเงินที่ได้รับไปโปะหนี้สถาบันการเงิน เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
นางสาวอัจฉรา สุทธิศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นครหลวงไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ประเภทสนามบิน ซึ่งถือเป็นกองแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุย ซึ่งเป็นของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบองกอกแอร์เวย์ส โดยมีมูลค่าโครงการ 10,500 ล้านบาท โดยเป็นสัญญาเช่า 30 ปี และบางกอกแอร์เวย์เช่ากลับ และมีการแบ่งปันผลประโยชน์ในรูปของค่าเช่าและการแบ่งปันผลกำไรในรูปของ Profit Sharing โดยจะเปิดขายหน่วยลงทุนให้แก่นักลงทุนทั่วไประหว่างปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนนี้ คาดว่าจะให้ผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลเฉลี่ยประมาณ 8-9% ต่อปี
"การตั้งพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์สนามบินสมุยครั้งนี้ ทางสายการบินบางกอกแอร์เวย์สจะนำเงินไปใช้หนี้บางส่วน และนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ" นางสาวอัจฉรากล่าว
นางสาวอัจฉรากล่าวว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ได้เดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันเป็นอย่างมาก ขณะที่จากการสำรวจความต้องการของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศก็ได้รับความสนใจมากเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจการท่องเที่ยวมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของเกาะสมุย พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีสถานที่สวยงาม จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพบว่าในปี 2548 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักผ่อนที่เกาะสมุยกว่า 1 ล้านคน
"แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่การท่องเทียวในเกาะสมุยไม่ได้รับผลกระทบ เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้า" นางสาวอัจฉรากล่าว
กรรมการผู้จัดการบลจ.นครหลวงไทย กล่าวอีกว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุยน่าจะได้รับจากนักลงทุน เนื่องจากการลงทุนผ่านพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ คล้ายกับการลงทุนผ่านหุ้นปันผล เพราะสามารถจ่ายผลตอบแทนในรูปเงินปันผลให้กับนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนนี้ให้ผลตอบแทนสูงถึง 8-9% ต่อปี และอัตราเช่าพื้นที่สนามบินยังสามารถปรับราคาได้ ซึ่งทำให้สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้
ทั้งนี้ รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวามอสังหาริมทรัพย์ กอง 1 (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ กอง 1) โดยเปิดทางให้บลจ. สามารถลงทุนในสนามบินได้
โดยในการประชุมคณะกรรมการก.ล.ต.ครั้งที่ 4/2549 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2549 ได้มีมติอนุญาตในหลักการให้กอง 1 สามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทสนามบินได้ โดยมีเงื่อนไขว่า สนามบินนั้นต้องมีเที่ยวบินของหลายสายการบิน รวมถึงสายการบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติที่สามารถขึ้นลง ณ สนามบินดังกล่าวเป็นประชุม (regular flight) และในสัดส่วนที่เหมาะสม
แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวม กล่าวว่า ปัญหาที่ทำให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ประเภทสนามบิน ไม่สามารถจัดตั้งได้ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีปัญหาในประเด็นที่มาของรายได้ เนื่องจากรายได้ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สนามบิน มาจากรายได้จากการใช้พื้นที่สนามบิน และการใช้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งไม่มีในหลักเกณฑ์ของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กอง 1 ที่ก่อนหน้าระบุชัดว่า จะสามารถจัดตั้งได้ต้องมีรายได้ชัดเจนมาจากรายได้จากค่าเช่า และอัตราเช่า ซึ่งจุดนี้หากก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับที่มาของรายได้ เชื่อว่าการจัดตั้งคงไม่ยากนัก เนื่องจากที่มาของรายได้จากสนามบินมีความชัดเจน แม้จะไม่ชัดเจนเหมือนกับอัตราเช่า หรือค่าเช่า ที่สามารถวัดมูลค่าได้ชัดเจนว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ในสัดส่วนเท่าไหร่
ปัจจุบันกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีจำนวน 8 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยในปี 2548 มีกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจำนวน 6 กองทุน มีมูลค่าทั้งสิ้น 17,177 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในปัจจุบันกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบลจ. 5 แห่งที่จัดตั้งกองทุน ประกอบด้วย บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) 3 กองทุนคือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน โดยทั้งสองกองทุนเป็นกองทุนประเภทโรงงานอุตสาหกรรม และ 3.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บ้านแสนสิริ
ขณะที่บลจ.วรรณ มี 2 กองทุนคือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก และกองทุนรวอสังหาริมทรัพย์ มิลเลี่ยนแนร์ บลจ.ยูโอบี (ไทย) มี 1 กองทุน คือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ยูโอบี อพาร์ทเมนท์หนึ่ง บลจ.ทหารไทย มี 1 กองทุนคือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทลโกรท และบลจ.เอ็มเอฟซี มี 1 กองทุนคือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ MFC นิชดาธานี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|