ไฟ "การเมือง" เรื้อรังเติมเชื้อความกังวล ฉุดเศรษฐกิจเหือดแห้ง นักลงทุนเชื่อมั่นไม่เต็มร้อย


ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตั้งแต่เกิดปัญหาการเมืองขึ้นมา เศรษฐกิจในประเทศเป็นอันต้องหยุดชะงักและชะลอตัวลงทันที เพราะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศวิตกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยปัญหาดังกล่าวไม่มีความแน่ชัดว่าจะเดินไปในทิศใด หากแต่วันนี้ปัญหาการเมืองได้คลี่คลายลง ความแน่ชัดเกิดขึ้น แต่เป็นเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้ว การเมืองยังมีปัญหาคาราคาซัง ละยังคงไว้ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเศรษฐกิจเช่นเดิม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯลงพระปรมาภิไธย ในพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ) กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15ตุลาคม 2549 ทำให้ปัญหาการเมืองที่เสมือนกำแพงยักษ์ขวางกั้นการพัฒนาประเทศก็ทะลายในทันที เสียงตอบรับกระแสข่าวดีทำให้ใบหน้านักลงทุนเปื้อนด้วยรอยยิ้มที่ประเทศสามารถผ่าทางตันได้อีกครั้ง หากแต่ว่ารอยยิ้มดังกล่าวกลับมายังมีเค้าความกังวลหลงเหลืออยู่ เพราะความไม่ชัดเจนในหลายประเด็น ตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการให้ ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองว่าจะเว้นวรรคหรือไม่อย่างไร

หรือแม้แต่การสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีข่าวว่าอาจจัดหาได้ไม่ทันจนส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป ทำให้ปัญหาด้านการเมืองที่ดูเหมือนคลายแล้ว กลับยังไม่ยุติเสียทีเดียว

สื่อหรือกระทั้งนักวิชาการต่างออกมาวิเคราะห์ความเป็นไปทางการเมืองว่า ทุกอย่างเหมือนยุติและปลดล็อคเป็นที่เรียบร้อย หากแต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ การปลดล็อคดังกล่าวยังคงแฝงไว้ด้วยความกังวล โดยเฉพาะปัญหาที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงมากสุดคือ ทักษิณ จะเว้นวรรคทางการเมืองหรือไม่อย่างไร

เพราะถ้าพรรคไทยรักไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งนายกฯครั้งนี้จะมีความสำคัญค่อนข้างมาก หากเป็น ทักษิณ คนเดิม แน่นอนว่าการเข้ามายืนในตำแหน่งดังกล่าวอาจนำมาสู่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกได้

นั่นเพราะ ทักษิณ คือชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองขึ้น และอาจซ้ำรอยเดิมได้หาก ทักษิณตัดสินใจเข้ารับตำแหน่ง การถอดปริศนาดังกล่าวถูกวิเคราะห์ไปต่าง ๆ นานา หากแต่ยังหาข้อสรุปที่ถูกต้องไม่ได้ และทักษิณ เองก็ยังไม่ได้แสดงท่าทีต่อเรื่องดังกล่าวชัดเจนนัก หากจะเห็นก็เพียงแต่การเรียกร้องให้คนในประเทศเกิดความสมานฉันท์

ส่วนคำตอบเว้นวรรคทางการเมืองหรือไม่นั้นยังไม่ชัดเจน ในขณะที่ฝ่ายพันธมิตรฯก็ออกมากดดันให้ทักษิณ ต้องยุติบทบาททางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้นปัญหาด้านการเมืองที่ดูยุติได้แล้วจึงยังไม่เรียบร้อยเสียทีเดียว ยังคงหลงเหลือเป็นเค้าให้เกิดความกังวลอยู่

คงไม่ดีแน่หากความกังวลยังค้างคาอยู่ในใจ เพราะหมายถึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจะยังไม่เชื่อมั่นว่าการเมืองที่เห็นทางสว่างจะเป็นแสงนำไปสู่ความชัดเจนในทุกเรื่องทุกประการ ดังนั้นแม้นักลงทุนจะตอบสนองกับข่าวการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ในด้านบวกก็ตาม หากแต่รัฐบาลรักษาการ ก็ยังไม่ควรวางใจและวาดฝันภาพที่สวยหรูไว้ล่วงหน้า เพราะศึกในครั้งนี้ยังไม่จบสิ้น

ต้องยอมรับว่าผลของการปลดล็อคทางการเมือง กระแสตอบรับเบื้องต้นวิ่งไปในทางบวกทันที เพราะความอึมครึมไม่แน่นอนที่มีอยู่ก็ชัดเจนขึ้นมาในระดับที่รู้ว่าทิศทางการเมืองไม้อับหนทางต่อไป และความรู้สึกที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ย่อมทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับมาได้ในระดับหนึ่ง

ทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบอกว่า อย่างไรก็ตาม จากนี้จนก่อนวันเลือกตั้งอาจยังตอบไม่ได้แน่ว่าจะเป็นอย่างไร คงต้องมีการแข่งขันชิงดีชิงเด่น กระนั้นก็ตามสุดท้ายการเลือกตั้งก็ต้องมีขึ้นตราบที่ประเทศไทยยังคงอยู่ในครรลองธรรมของประชาธิปไตย และผลในเรื่องนี้จะไม่สะเทือนกับธุรกิจและผู้ประกอบการในระยะยาว

สำหรับบทบาทของกระทรวงการคลังมองสถานการจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง คือการเร่งสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังจากล่าสุดได้เดินทางไปโรดโชว์ที่สิงคโปร์แล้วเห็นว่าปัจจัยหลักที่ทำให้นักลงทุนกังวลสุดคือปัญหาการเมือง เมื่อการเมืองได้ข้อยุติก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งออกไปทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้รับรู้ถึงทิศทางและความชัดเจนทางการเมือง

“ตอนที่ผมไปโรดโชว์ที่สิงคโปร์ คำถามที่แสดงถึงความกังวลส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเมือง มีนักลงทุนถามผมว่าจะมีการเลือกตั้งตามวันที่กำหนดแน่หรือ ผมก็ต้องตอบว่ามี แม้พระราชกฤษฎีกาในตอนนั้นยังไม่ออกมาก็ตาม โดยให้เหตุผลว่า เพราะความต้องการของประชาชนที่มองการเมืองต่างไปจากก่อนหน้าการยุบสภา จริงอยู่ที่ช่วงดังกล่าวอยากให้รัฐบาลออกไป แต่หลังจาก ยุบสภาแล้ว ประชาชนปรารถนาที่จะเห็นประชาธิปไตย และการเลือกตั้งที่สมบูรณ์”

ทนง เล่าต่ออีกว่า ตอนฟังความเห็นของนักลงทุนต่างประเทศ ใจจริงแล้วความต้องกรที่จะลงทุนยังมีอยู่ และยังไม่อยากถอนทุนหรือเคลื่อนย้ายทุนออก แต่เพราะความไม่มั่นคงทางการเมืองนี่เองที่ทำให้เกิดความกังวล และเป็นหน้าที่ที่ภาครัฐจะต้องไปให้ความกระจ่าง และตอบคำถามดังกล่าวให้นักลงทุนเข้าใจ แม้จะมีเสียงกระเด็นออกว่าจะให้คำตอบนักลงทุนได้ชัดเจนเรื่องการเมืองแค่ไหนก็ตาม

“ที่ผ่านมาการไปโรดโชว์ยังไม่มีกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน แต่เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องไปอธิบายให้นักลงทุนเข้าใจถึงสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ แต่เมื่อวันนี้สถานการณ์มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้รัฐสมควรยิ่งที่จะอธิบายและทำความเข้าใจกับนักลงทุน ควบคู่ไปกับการประคับประคองเศรษฐกิจและรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพต่อไป”

ในส่วนของอัตราการขยายตัว คลังยังคงมั่นใจกับตัวเลขทางเศรษฐกิจสิ้นปี 2549 ที่จะขยายตัว 4-4.5% จากการอัดฉีดงบ และการเร่งให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน งบเหลื่อมปีเพื่อเป็นเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน หากแต่เมื่อพ้นปี 2549 แล้วนั้นผลกระทบที่เกิดจากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2550 ถึง 6 เดือน จนทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบได้ตามปกติจะกระทบต่อเศรษฐกิจในปี2550 ซึ่งจะทำให้อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3.5% เท่านั้น

ทนง อธิบายว่า หลังจากจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้แล้ว งบประมาณปี 2550 น่าจะผ่านสภาประมาณเดือนมีนาคม 2550 แม้จะล่าช้าจนกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจก็ตาม แต่สถานการณ์ทั้งหมดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2551 ซึ่งตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไปอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะอยู่ที่ 5-6% และมองว่าอัตราการเติบโตดังกล่าวจะส่งผลไปถึงปี 2552 ด้วย โดยสาเหตุหลักมาจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจ

“และต่อไปภาคการลงทุนจะเป็นพระเอกนำทางเศรษฐกิจแทนภาคการส่งออก เพราะหลังจากที่การลงทุนหยุดชะงักด้วยปัจจัยทางการเมือง ภาคการส่งออกก็กลายเป็นพระเอกและเฟืองจักรสำคัญที่ต้องทำหน้าที่แทน แต่หลังจากได้รัฐบาลใหม่ งบประมาณใหม่ใช้ได้ภาคการลงทุนก็จะกลับมานำ”

ส่วนการเติบโตที่มองว่าจะเป็นเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือไม่นั้น ทนง มองว่า การขยายตัวของประเทศคงไม่หวือหวาเหมือน 2 ประเทศที่กล่าวมา เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ไทยเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางด้านเกษตรกรรม ต่างจาก สิงคโปร์และมาเลเซีย ดังนั้นถ้าจะหวังให้โตหวือหวาอย่างประเทศอื่นคงเป็นไปไม่ได้

สำหรับบทบาทของรัฐบาลชุดใหม่ที่ถูกเลือกขึ้นมานั้นมีหน้าที่หลักคือ ปฏิรูปการเมือง ดังนั้นการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจจะต้องเป็นเรื่องรอง และเข้าใจว่าการปฏิรูปทางการเมืองนั้นควรเสร็จ ภายใน 1 ปี หรือปีเศษก็ตาม รัฐบาลชุดนี้จะต้องยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ดังนั้นการเข้ามาทำหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่เป้าหมายไม่ได้ถูกเล็งไปที่เศรษฐกิจเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ปัจจัยการเมืองเป็นความเสี่ยงคงเดิม

การเมืองที่ชัดแต่ยังไม่100%จะเพิ่มความเชื่อมั่นขึ้นมาระดับหนึ่งก็ตาม หากแต่ความชัดเจนดังกล่าวยังคงไม่สว่างสุกใสจนเกิดเป็นความไร้ข้อกังวลใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งจนวันนี้ในส่วนที่เป็นปัญหาก็ยังไม่ได้ข้อยุติจนกว่าการเอกตั้งจะเสร็จสิ้น หากแล้วการจบของรัฐบาลชุดนี้ก็ต้องยุติบทบาทลงด้วยการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่อีกครั้งด้วยหน้าที่การทำงานที่จำกัดขอบเขตและเวลา ซึ่งจนถึงวินาทีดังกล่าวภาคเศรษฐกิจก็ยังคงโยงเกี่ยวเข้ากับการเมืองที่เป็นตัวแปรความเสี่ยงเช่นเดิม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.