“สุวรรณภูมิ”ดาบสองคมของธุรกิจการบินไทย...


ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

การเปิดตัวของสนามบินแห่งชาติ “สุวรรณภูมิ” ที่ให้มีเที่ยวบินพาณิชย์ทดลองขึ้น-ลง รวม 24 เที่ยวบิน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็ตาม

การพยายามสร้างความมั่นใจว่าสนามบินสุวรรณภูมิพร้อมให้บริการแล้ว ด้วยการกำหนดการให้สายการบินต่างๆ จัดเส้นทางที่มุ่งเข้ามาสู่สนามบิน เป็นเที่ยวบินพาณิชย์ที่มีการเปิดขายให้กับผู้โดยสารจริง เป็นเที่ยวบินเส้นทางในประเทศ มี 6 สายการบินที่ได้ร่วมในโครงการพิเศษนี้ ประกอบด้วย การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส โอเรียนท์แอร์ นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย พีบีแอร์ เฉพาะยอดผู้โดยสารมีมากกว่า 4 พันคน

หนึ่งในนั้นคือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ที่ให้โอกาสสื่อมวลชนร่วมเดินทางไปกับเส้นทางประวัติศาสตร์ ภูเก็ต-สุวรรณภูมิครั้งนี้ เพื่อสัมผัสกับสนามบินแห่งชาติแห่งใหม่ที่มีมูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท

แม้ว่าจะเป็นการทดลองเที่ยวบินพาณิชย์ครั้งแรก แต่จุดขายที่โดดเด่นและได้สร้างความประทับใจและความตื่นตาให้กับสนามบินสุวรรณภูมิ คือสถาปัตยกรรมรูปทรงแปลกตา อาทิ การใช้โครงเหล็ก กระจก หลังคาผ้าใบ เป็นแบบยุคใหม่ต่างจากของเดิมๆ รวมถึงขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าสนามบินดอนเมือง ถึง 6 เท่า

และการทดสอบก็ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แค่เส้นทางบินในประเทศ ไม่ได้เปิดใช้ในทุกส่วนของอาคาร จึงยังเป็นคำตอบสุดท้ายไม่ได้ว่าจะมีความพร้อมอย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่จนกว่าสามารถเปิดให้บริการได้จริงในวันที่ 28 กันยายน 2549

แน่นอน...การทดลองย่อมแตกต่างกับการให้บริการจริง และแผนการทดลองย่อมไม่ต่อเนื่องเหมือนวันปฏิบัติจริง ความขลุกขลักที่เกิดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคมอาจจะมีบ้างแม้จะไม่ชัดเจนก็ตาม ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด การทดลองที่เป็นเพียงการโชว์เฉพาะส่วนที่พร้อม ย่อมไม่สามารถเข้าถึงปัญหาได้อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันความสะดวกในการเดินทางเฉพาะผู้ที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือต้องนั่งแท็กซี่เท่านั้น ระบบขนส่งมวลชนที่ออกมาโปรโมตก็ยังมีไม่ทั่วถึง หรือมีจำนวนน้อยอยู่ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2550 ก็ทำให้ผู้เดินทางขาดความสะดวกไม่ใช่น้อย

ดังนั้นวาระแห่งชาติที่กำหนดเปิดให้บริการในวันที่ 28 กันยายน 2549 แม้จะทำได้จริงแต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของสนามบินแห่งใหม่นี้ที่จะนำไปสู่การเดินทางอันแสนสะดวกสบาย หรือมีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

ตรงกันข้าม การเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ของสนามบินสุวรรณภูมิจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้เหมือนเป็นดาบสองคม ถ้าระบบสาธารณูปโภค ระบบการให้บริการ รวมถึงปัญหาการจราจรขนส่งที่เข้าสู่สนามบินไม่มีความพร้อม ก็จะส่งผลให้เป้าหมายต่าง ๆ ที่วางไว้เพื่อชิงความเป็นศูนย์กลางทางการบินแห่งเอเชีย อาจเป็นเพียงแค่ฝัน ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างภาพขึ้นมา...แน่นอนผลตอบรับก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่วางเป้าหมายไว้...ซึ่งภาพรวมจะเป็นอย่างไรต้องรอวันเปิดใช้สนามบินจริงจึงจะพิสูจน์ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.