|
"วังขนาย"ทุ่ม600ล้านบ.ย้ายโรงงานน้ำตาลมหาวังปักฐานใหม่ที่มหาสารคามเดินเครื่องจักรปลายปีนี้
ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่มน้ำตาลวังขนายทุ่ม 600 ล้านบาท ย้ายโรงงานน้ำตาลมหาวัง จากกาญจนบุรี ปักฐานใหม่ที่มหาสารคาม เผยเหตุภาคตะวันตก พื้นที่ปลูกอ้อยลด โรงงานแย่งชิงวัตถุดิบรุนแรง มั่นใจพื้นที่ใหม่ เดินเครื่องเต็มศักยภาพผลิตที่ 15,000 ตันอ้อย/วัน คาดแล้วเสร็จทันปีการผลิต 49/50 เดินเครื่องผลิตได้ทันที เตรียมเกษตรกรปลูกอ้อยรองรับแล้วกว่า 80,000 ไร่ เชื่อสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลปีนี้สดใส ผลผลิตออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 55 ล้านตันอ้อย
นายบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย นายบุญญฤทธิ์ ณ วังขนาย กรรมการบริหารกลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทน้ำตาลวังขนายได้ย้ายโรงงานน้ำตาล มหาวัง จากพื้นที่อำเภอท่าม่วง จ.กาญจนบุรี มาตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โดยใช้เงินเงินทุนค่าก่อสร้างเพิ่มเติม ขนย้าย ติดตั้งเครื่องจักรในโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท
ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องจักร ดำเนินการคืบหน้าไปแล้วประมาณ 40% โดยมีศักยภาพการผลิตน้ำตาลที่ 15,000 ตันอ้อย/วัน คาดว่าการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรและงานด้านต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 49 นี้ และจะสามารถเปิดหีบอ้อยได้ทันปีการผลิต 2549/2550 นี้
สาเหตุที่กลุ่มน้ำตาลวังขนาย ต้องย้ายโรงงานน้ำตาลมหาวังเข้ามาในภาคอีสาน เพราะพื้นที่ตั้งโรงงานเดิม ในจ.กาญจนบุรี ต้องเผชิญกับการแข่งขันแย่งชิงผลผลิตอ้อยเข้าโรงงานสูงมาก จากการที่มีโรงงานน้ำตาลหลายบริษัท ตั้งโรงงานอยู่อย่างหนาแน่น ในรัศมีไม่เกิน 20 กิโลเมตร จะมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ ส่งผลให้พื้นที่ส่งเสริมปลูกอ้อยทับซ้อนระหว่างกัน จนเกิดปัญหาแย่งชิงผลผลิตอ้อยอย่างรุนแรง
อีกทั้งชาวไร่อ้อยภาคกลางและภาคตะวันตก ปลูกอ้อยโรงงานลดลงเรื่อยๆ ประชาชนนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ ด้านอื่น ซึ่งปัญหาการแย่งชิงอ้อยที่รุนแรง และพื้นที่ปลูกอ้อยในเขตส่งเสริมลดจำนวนลง ทำให้ผลผลิตอ้อยป้อนโรงงานน้ำตาลไม่เต็มศักยภาพการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลสูงกว่าที่ควรจะเป็น
"พื้นที่ภาคอีสาน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะต่อการลงทุนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เนื่องจากพื้นที่ขนาดใหญ่ มีโรงงานตั้งอยู่เพียง 14 แห่ง แต่ละโรงงานตั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร ทำให้แต่ละโรงงานมีพื้นที่ส่งเสริมปลูกอ้อยได้มาก ปัญหาการแย่งชิงวัตถุดิบอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลไม่รุนแรง ประสิทธิภาพการผลิตสูงกว่าพื้นที่ภาคกลางและตะวันตก"นายบุญญฤทธิ์กล่าวและว่า
กลุ่มวังขนายได้เตรียมการล่วงหน้ามาแล้วไม่น้อยกว่า 3-4 ปี โดยเข้าไปรวบรวมพื้นที่ตั้งโรงงานมากกว่า 1,000 ไร่ มีสมาชิกเกษตรกรในรอบรัศมีใกล้เคียงโรงงานปลูกอ้อยมากกว่า 1,000 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกรวมกว่า 80,000 ไร่ ล่าสุดปีการผลิต 2548/2549 ที่ผ่านมา ได้ผลผลิตอ้อยสูงเกือบ 1 ล้านตัน ขณะเดียวกันพื้นที่ส่งเสริมปลูกอ้อยของโรงงานน้ำตาล มหาวัง สามารถขยายเขตส่งเสริมปลูกอ้อยได้อีกมาก อีกกว่าเท่าตัว คิดเป็นปริมาณอ้อยสูงถึง 2 ล้านตัน โดยช่วงเตรียมได้จัดส่งอ้อยของชาวไร่ไปหีบที่โรงงานน้ำตาลราชสีมา
การย้ายฐานการลงทุนเข้ามาที่จังหวัดมหาสารคาม จะเสริมศักยภาพให้การผลิตน้ำตาล ของกลุ่มน้ำตาลวังขนายมีประสิทธิภาพ โรงงานสามารถผลิตน้ำตาลได้เต็มศักยภาพการผลิต ขณะเดียวกัน การตั้งโรงงานได้สร้างงานและรายได้ให้กับประชากรในพื้นที่รอบโรงงาน มีชีวิตความเป็นอยู่และฐานรายได้ที่สูงขึ้น เพราะปัจจุบันราคารับซื้ออ้อยโรงงาน เบื้องต้นสูงเกือบ 1,000 บาท/ตันอ้อย
การดำเนินงานช่วงนี้ ทางทีมงานบริษัท น้ำตาลวังขนาย ได้รุกเข้าไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ถึงประเด็นข้อสงสัยเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ผ่านการตรวจสอบแล้ว ทั้งได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับบำบัดน้ำเสียถึง 500 ไร่ มีระบบดักควันจากกระบวนการผลิต ถือเป็นโรงงานที่มีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง
สำหรับปีการผลิต 2549/2550 นี้ หากการติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จตามกำหนดที่ตั้งไว้ โรงงานน้ำตาลมหาวัง ที่อ.โกสุมพิสัย จะสามารถหีบอ้อยได้ทันที เพราะมีผลผลิตอ้อยที่ปลูกเตรียมไว้ สามารถขนเข้าหีบที่โรงงานน้ำตาลมหาวังได้ทันที
นายบุญญฤทธิ์ กล่าวถึงสถานการณ์ในอุตสาหกรรมผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายปีการผลิต 2549/2550 ว่า สถานการณ์ด้านการผลิตน้ำตาลปีการผลิตนี้ มีแนวโน้มสดใส ไม่น่าจะเกิดปัญหาผลผลิตอ้อยขาดแคลนและการแย่งชิงผลผลิตอ้อยเข้าโรงงาน เนื่องจากคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนปีนี้ ตกชุก จะทำให้อ้อยของชาวไร่ได้ผลผลิตสูงขึ้น
กอปรกับราคาผลผลิตอ้อยโรงงานเมื่อปีการผลิตที่ผ่านมา มีราคาสูงมาก ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ สนใจปลูกอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีผลผลิตอ้อยโรงงานออกสู่ตลาดประมาณ 55-60 ล้านตันอ้อย จากปีการผลิตที่แล้วที่มีอ้อยไม่ถึง 47 ล้านตันอ้อย ขณะที่อุตสาหกรรมน้ำตาลในตลาดโลก ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลดีต่อกลไกการรับซื้ออ้อยปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|