ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการการปิโตจรเลียมแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2538
เลื่อน กฤษณกรี ก็มารับงานใหญ่ที่ท้าทาย ในบริษัทซันเอสเตทซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในเครือทานตะวันต่อทันทีในตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร
งานใหญ่ที่ว่า คือ การก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เนื้อที่ 63 ไร่ มูลค่าสูงถึง 17,000
ล้านบาทหรือโครงการ "สถานีกรุงเทพฯ" ซึ่งบริษัทซันเอสเตท ประมูลได้จากกรมธนารักษ์
เมื่อประมาณต้นปี 2538
งานนี้จะทำให้สภาพของพื้นที่บริเวณขนส่งหมอชิตที่จอแจแออัด เพราะได้ทำหน้าที่เป็นสถานีรถยนต์โดยสารต่างจังหวัดของบริษัทขนส่ง
จำกัด มานานนับกว่า 36 ปีแล้ว เปลี่ยนแปลงมีรูปโฉมใหม่เป็นสถานีศูนย์กลางการคมนาคม
และขนส่งมวลชนที่ทันสมัยสมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยแนวความคิดสำคัญ
คือ การจัดระบบรถ และการจัดระบบคนให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ส่วนประกอบของโครงการนี้ จะประกอบไปด้วยศูนย์กลางการคมนาคม และศูนย์อำนวยความสะดวก
280,000 ตารางเมตร และอาคารสำนักงานอีก 53,000 ตารางเมตร เป็นอาคารสูง 2
อาคาร
ในเรื่องของการจัดระบบรถโครงการนี้ จะต้องเตรียมรองรับโครงการพื้นฐานด้านการคมนาคม
และขนส่งที่สำคัญกว่า 9 ประเภท คือ BTSC, BUS, บขส., MRTA, โฮปเวลล์, รถยนต์ส่วนบุคคล,
แท็กซี่ และ MONORAIL
สำหรับแนวความคิดในการออกแบบระบบการจราจรนั้น มีการออกแบบในระบบสถานีปิด
คือ รถทุกคันไม่มีการจอดรอ สามารถจอดรถเพื่อการรับ-ส่งเท่านั้น โดยจัดที่จอดรถสำหรับ
บขส. แยกต่างหากจากตัวสถานี ใช้พื้นที่ถนนกำแพงเพชร 2 พร้อมทั้งวางแผนจัดทำถนน
3 ชั้น คือ 1. ระบบถนนยกระดับ และทางเชื่อมลอยฟ้า สำหรับรถ บขส. และรถยนต์
ซึ่งวิ่งเข้าวิ่งออก โดยใช้ RAMP ไม่มีการวิ่งในระบบพื้นดิน ดังนั้นในการจราจรระดับพื้นดิน
จะใช้เฉพาะรถโดยสารประจำทางเท่านั้น
ด้วยระบบดังกล่าว เลื่อนมั่นใจว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะไม่ทำให้การจราจรภาคพื้นดินบนถนนพหลโยธินมีปัญหาแน่นอน
ส่วนการจัดพื้นที่สำหรับสถานีขนส่ง บขส. นั้น ทำเป็น 3 ชั้น มีพื้นที่ประมาณ
100,000 ตารางเมตร แยกตัวสถานีรถขาเข้ารถขาออกอย่างชัดเจน
และที่สำคัญได้จัดสรรที่จอดรถที่สะดวกทันสมัยและปลอดภัยกว่า 8,000 คัน เพื่อทำโครงการ
PARK & RIDE
"ตอนนี้งานสำคัญของเราอยู่ที่การเร่งทำแบบโครงการโดยละเอียด พร้อม
ๆ กับหาที่ชั่วคราวให้กับทาง บขส. ย้ายออก ซึ่งตอนนี้ได้เตรียมไว้ 2 แห่งซึ่งในต้นปีหน้าก็คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที"
เมื่อได้ที่ดินแล้วทางบริษัทจะต้องย้ายสถานีขนส่งหมอชิตให้เรียบร้อยภายใน
3 เดือน หลังจากนั้นก็จะได้เริ่มงานเข็มเจาะและเปิดประมูลหาผู้รับเหมา ทั้งโครงการจะต้องเสร็จภายในระยะเวลา
48 เดือน นับจากวันที่ร่วมลงนามสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2539
ตัวรายได้หลักของซันเอสเตท 90% ที่จะได้ก็คือ ได้จากค่าเช่าพื้นที่ในศูนย์อำนวยความสะดวก
และในพื้นที่อาคารสำนักงาน และในพื้นที่ของที่จอดรถในระบบจอดแล้วจร ซึ่งแน่นอนว่า
ตรงนี้เป็นปัญหาของทางบริษัทเหมือนกันที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ
ที่มาจอดรถทิ้งไว้เพื่อไปใช้บริการของระบบขนส่งมวลชน
ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน บริษัทซันเอสเตทคาดการณ์ไว้ว่า จะใช้เวลาประมาณ
7-8 ปีก็จะถึงจุดคุ้มทุน
ซันเอสเตทมีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เป็นบริษัทในเครือทานตะวัน ซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่ที่ได้ก่อตั้งไปเมื่อ
21 กันยายน 2521 ประกอบกิจกรรมหลักในอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกและอสังหาริมทรัพย์
วันนี้เลื่อนคงต้องให้ความสำคัญในโครงการนี้มากเป็นที่สุด เพราะเป็นโครงการทางด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีลูกค้าแล้วแน่นอน
เพียงแต่งานหลักคือบริหารงานก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนเท่านั้น
เลื่อน เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า สาเหตุที่มารับงานที่นี่
ทั้ง ๆ ที่มีเพื่อนฝูงหลายคนชักชวนไปนั่งเก้าอี้ต่าง ๆ หลายบริษัทนั้น เป็นเพราะมองว่า
ถึงเวลาแล้วที่บ้านเราควรที่จะเอาความคิดใหม่ ๆ มาใช้ในการบริหารงานจราจรเสียที
ส่วนงานทางด้านอสังหาริมทรัพย์ตัวอื่น ๆ ของบริษัทซันเอสเตทนั้น ไม่ว่าจะเป็นตะวันนาเรสซิเด้นท์
ศรีสวัสดิ์คอนโดมิเนียม และโครงการบ้านจัดสรรอื่น ๆ ก็ยังดำเนินการต่อไปเพียงแต่จะทุ่มเทกำลังมายังโครงการสถานีกรุงเทพฯ
เป็นพิเศษเท่านั้น
เลื่อนอาจจะไม่ใช่เป็นผู้เริ่มต้นโครงการนี้ เพราะเขาเข้ามาร่วมงานกับบริษัทซันเอสเตทหลังจากที่ประมูลที่ดินได้จากกรมธนารักษ์แล้วประมาณ
5 เดือน แต่เขาจะต้องเป็นผู้สานงานต่อคนสำคัญ !