|
KBANKเร่งสปีดสินเชื่อครึ่งปีหลังชูเอสเอ็มอีอัดแคมเปญกระตุ้นยอด
ผู้จัดการรายวัน(4 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"กสิกรไทย" แอ่นอกรับครึ่งแรกสินเชื่อรายใหญ่หด เร่งสปีดปล่อยกู้ในครึ่งหลังดันตามเป้า 12% ดึงเอสเอ็มอีกระตุ้นยอดสินเชื่อ อัดแคมเปญชูจุดขายอนุมัติภายใน 3 วัน มั่นใจ 3 เดือนปล่อยกู้ 3 หมื่นล้าน ระบุปรับอัตราดอกไม่กระทบลูกค้า
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK กล่าวว่า การขยายตัวของสินเชื่อรายใหญ่ในครึ่งปีแรกมีอัตราที่ชะลอลง โดยพบว่าขยายตัวเพียง 0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นทำให้ลูกค้าหลายรายหันไปออกหุ้นกู้แทนการมาขอสินเชื่อกับแบงก์แทน อย่างไรก็ตามในช่วงที่เหลือเชื่อว่าแบงก์จะปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เพิ่มขึ้นตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 12% เนื่องจากมองว่าอัตราดอกเบี้ยใกล้จะถึงจุดสูงสุดแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อว่าลูกค้ารายใหญ่จะหันกลับมากู้จากแบงก์เพิ่มขึ้น
"แม้ว่าครึ่งปีแรกจะทรงตัว แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ เพราะโดยปกติครึ่งหลังจะดีกว่าครึ่งแรก นอกจากนี้ธุรกิจส่งออกยังไปได้ และมีนักธุรกิจรายใหญ่มาขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา และเกษตรแปรรูป โดยในปีนี้เราตั้งเป้าการขยายตัวของยอดปล่อยสินเชื่อรวมประมาณ 6.9%"
ทั้งนี้ในครึ่งหลังของปีธนาคารจะเน้นปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้ครบวงจรมากขึ้น โดยล่าสุดได้เปิดตัวแคมเปญ "สินเชื่อ K SME...อนุมัติภายใน 3 วัน" วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้าบาท ตั้งเป้าภายใน 3 เดือน นับจากนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อ 3 หมื่นล้านบาท สำหรับลูกค้าใหม่และปัจจุบันที่มียอดขายไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยการออกแคมเปญดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีของแบงก์ขยายตัวอยู่ที่ 16%
"ขณะนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งระบบประมาณ 2-3 ล้านราย แต่แบงก์ต่างๆ กลับให้ความสำคัญค่อนข้างน้อย ซึ่งจากการเปิดแคมเปญนี้จะทำให้กสิกรไทยมีมาร์เก็ตแชร์ในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นอันดับ 1 เพิ่มจาก 20% ในปีนี้ เป็น 30% ภายใน 3 ปี "
สำหรับในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาธนาคารมียอดสินเชื่อของกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี รวมประมาณ 2.4 แสนล้านบาท จากลูกค้า 1.6 แสนราย ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีได้ยอดรวมไม่ต่ำกว่า 2.7 แสนล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศประมาณ 2.5 ล้านราย (แบ่งเป็นนิติบุคคล 5.0 แสนราย คิดป็น 36% ของ GDP ในประเทศ (2.7 ล้านล้านบาท) อัตราเติบโตของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 4.5 - 4.7% ต่อปี
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของแบงก์ยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาแบงก์มีมาตรการที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยในครึ่งปีแรกอยู่ที่ระดับ 1-2% ใกล้เคียงกับช่วงต้นปี แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมาจากภาวะเศรษฐกิจไม่ได้เกิดจากตัวลูกค้าเอง อย่างไรก็ตามหากธุรกิจใดยังพอไปได้แบงก์ก็ได้เข้าไปช่วยแนะนำกับลูกค้า โดยการปรับโครงสร้างธุรกิจให้มีความเหมาะสมกับฐานะทางการเงิน แต่หากธุรกิจใดไม่น่าจะไปไม่ไหวก็จะแนะให้ไป
อย่างไรก็ตามในส่วนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MLR ที่อยู่ในระดับ 8-8.5% ยังเป็นระดับที่ลูกค้าเอสเอ็มอีรับได้ ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารอยู่ที่ 7.75% ทั้งนี้ปัญหาของลูกค้า SME ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นแต่มาจากการที่ลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนหรือสินเชื่อได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|