ปตท.สผ.ลดเป้ายอดขาย 5 ปีลงชี้ "อาทิตย์-เจดีเอ" เลื่อนเสร็จนาน


ผู้จัดการรายวัน(4 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ปตท.สผ.ปรับเป้าการขายปิโตรเลียมลง เหตุโครงการโอมาน 44 ล่าช้า และนางนวลการผลิตหด ยอมรับโครงการอาทิตย์เลื่อนเสร็จ 8 เดือน ไปเป็น ม.ค. 51 และโครงการเจดีเอไทย-พม่าดีเลย์ไปเป็น ต.ค. 52 ด้าน ปตท. เร่งวางแผนจัดหาก๊าซฯ ให้เพียงพอป้อนโรงไฟฟ้ากฟผ. มั่นใจจะหาก๊าซฯ เพิ่มจากวันละ 3,000 เป็น 7,000 ล้านลบ.ฟุตได้ ยันแหล่งอาทิตย์เลื่อนไม่กระทบ

นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ปรับลดเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียม 5 ปี (2549-2553) ลง เนื่องจากมีบางโครงการได้ล่าช้าออกไป โดยในปีนี้ได้ปรับลดเป้าปริมาณการขายลงจากเดิม 1.79 แสนบาร์เรล/วัน เหลือเพียง 1.72 แสนบาร์เรล/วัน เนื่องจากโครงการโอมาน 44 ล่าช้าออกไป รวมทั้งแหล่งนางนวลมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมลดลง

ส่วนในปี 2550 ได้ลดเป้าหมายการขายจากเดิม 2.24 แสนบาร์เรล/วัน เหลือเพียง 1.88 แสนบาร์เรล/วัน ปี 2551 จากเดิม 2.36 แสนบาร์เรล/วัน เหลือ 2.22 แสนบาร์เรล/วัน ปี 2552 จากเดิม 2.40 แสนบาร์เรล/วัน เหลือ 2.26 แสนบาร์เรล/วัน และปี 2553 จากเดิม 2.38 แสนบาร์เรล/วัน เหลือ 2.33 แสนบาร์เรล/วัน

โดยยอมรับว่าโครงการอาทิตย์ต้องเลื่อนการผลิตก๊าซธรรมชาติ 330 ล้านลบ.ฟุต/วัน เข้าสู่ท่อก๊าซฯ เส้นที่ 3 จากกำหนดการเดิมเดือนเม.ย. 2550 เป็นเดือนม.ค. 2551 แทน หรือล่าช้าออกไปถึง 8 เดือน และคาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้ ส่งผลให้กระทบต่อกำไรของบริษัทในปี 2550 ส่วนการจะนำแท่นเจาะลอยน้ำมาใช้ในแหล่งอาทิตย์นั้น คงต้องพิจารณาความคุ้มค่า ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ ส่วนโครงการพื้นที่ร่วมพัฒนาไทย-มาเลเซีย (JDA) ในแปลงที่ B17 ก็คงต้องล่าช้าออกไป คาดว่าจะเริ่มผลิตก๊าซฯจำหน่ายได้ในเดือนต.ค. 2552 จากเดิมเดือนก.ค.2551 และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนการประมูลงาน โดยผู้รับเหมายังไม่ได้ส่งตัวเลขค่าก่อสร้างมาให้บริษัทฯ

นายมารุต กล่าวถึงต่อไปว่า จากการล่าช้าในโครงการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ทำให้บริษัทได้ปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมปีนี้ลง 6% เหลือ 5.9 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ตั้งค่าใช้จ่ายไว้ 6.3 หมื่นล้านบาท แต่หากพิจารณางบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหมดใน 5 ปีข้างหน้า (2549-2553) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.32 แสนล้านบาท เป็น 2.33 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในแหล่งอาทิตย์ โครงการที่เวียดนามและโครงการ S1 เป็นต้น

"ครึ่งปีแรกนี้ บริษัทฯ ได้ขุดสำรวจแหล่งก๊าซไปแล้ว 8 หลุม พบก๊าซและน้ำมัน 6 หลุม โดยปีนี้ตั้งเป้าหมายที่เจาะสำรวจให้ได้ 19 หลุม ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการได้ครบตามแผนหรือไม่ เนื่องจากขาดแคลนแท่นขุดเจาะและอุปกรณ์ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น "

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเงินสดในมือ 2.25 หมื่นล้านบาท เพียงพอที่จะลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต โดยบริษัทมีนโยบายที่จะจัดหาก๊าซฯ เพิ่มในพม่า และบังกลาเทศ รวมทั้งแหล่งนาทูน่าที่อินโดนีเซีย เพื่อนำก๊าซฯ ป้อนมายังไทย

วางแผนจัดหาก๊าซฯ ระยะยาว

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. ได้หารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกระทรวงพลังงาน ในการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว ซึ่งมั่นใจว่าจะจัดหาก๊าซฯ เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศที่จะเพิ่มขึ้นจาก 3,000 ล้านลบ.ฟุต/วัน เป็น 5,000 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ในปี 2553 และขยับเพิ่มเป็น 7,000 ล้านลบ.ฟุต/วันในอนาคตได้ โดยโครงการในอ่าวไทยและพม่าในขณะนี้มีเพียงพอป้อนก๊าซฯ 5,000 ล้านลบ.ฟุต

ส่วนที่เหลืออีก 2,000 ล้านลบ.ฟุต/วัน จะมีการจัดหาเพิ่มเติมทั้งจากโครงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี )โครงการต่อท่อก๊าซฯ จากแหล่งนาทูน่า ประเทศอินโดนีเซีย โครงการรับซื้อก๊าซจากพม่าเพิ่มเติมทั้งแหล่งเก่าและแหล่งใหม่ในอนาคต ในขณะเดียวกัน ปตท.สผ. ก็อยู่ในระหว่างการเจรจากับหลายประเทศ ทั้งบังกลาเทศ แหล่งพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา เพื่อพัฒนาปิโตรเลียมและส่งกลับมาใช้ในประเทศไทย

ส่วนการดูแลค่าไฟฟ้าในปีหน้านั้น ทางปตท. ได้ร่วมกับ กฟผ. ร่วมวางแผนการจัดหาพลังงานร่วมกัน โดยพยายามหาก๊าซฯ มาทดแทนน้ำมัน เพื่อทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำที่สุด ซึ่งกรณีโครงการอาทิตย์ดำเนินการจ่ายก๊าซฯได้ล่าช้าก็ไม่ได้สร้างปัญหาแต่อย่างใด เพราะ ปตท. ได้จัดหาก๊าซฯ เพิ่มเติมมาให้ ทั้งแหล่งภูฮ่อม แหล่งเจดีเอ แหล่งยูโนแคล รวมทั้งรับซื้อก๊าซจากพม่าเพิ่มอีก 50 ล้านลบ.ฟุต/วัน รวมแล้วมีก๊าซฯ ใหม่เข้าระบบประมาณ 200-300 ล้านลบ.ฟุต/วัน

นายวิเศษ จูภิบาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ จะร่วมเดินทางกับ ปตท.สผ. เดินทางไปบังกลาเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกัน โดยไทยสนใจจะเข้าไปสำรวจและผลิตก๊าซฯ ในบังกลาเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงแก่ประเทศในอนาคต


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.