เอเพ็กซ์ประกันสุขภาพนำเข้าระบบ MANAGE CARE จากสหรัฐ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกันสุขภาพในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างจำกัดมาก เพราะสวัสดิการจากสังคมในด้านนี้เพิ่งเริ่มทำกันอย่างจริงจังก็ในโครงการประกันสังคมเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง และว่ากันตามจริงการบริหารตรงจุดนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

สำหรับภาคเอกชนนั้น ระบบส่วนมากที่นิยมใช้กัน คือ การทำสวัสดิการพนักงานกับโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง และมีการจัดสรรงบการรักษาพยาบาลให้พนักงานตามตำแหน่งงาน การบริการประกันสุขภาพของบริษัทเอกชนนั้น ปัจจุบันยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก อย่างไรก็ดี บริษัท เอเพ็กซ์ ประกันสุขภาพ ในเครือกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี เริ่มบุกตลาดประกันสุขภาพให้เคลื่อนไหวคึกคักอีกครั้งด้วยโครงการ Manage Care

พญ.นันทภัทร์ สุภาพรรณชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเพ็กซ์ประกันสุขภาพ เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "เอเพ็กซ์ไม่ใช่แค่เพียงบริษัทประกันสุขภาพ แต่เราดูแลให้ด้วย ลูกค้าสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด เพราะเรามีฮอทไลน์ให้คนไข้โทรฯ เข้ามาปรึกษาคณะกรรมการของเราจะให้ความเห็น ตอนคำถามข้อสงสัยต่าง ๆ เป็นเสมือนความเห็นที่สอง หรือ Second Opinion สำหรับคนไข้"

ทั้งนี้ เอเพ็กซ์ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบไปด้วยแพทย ์และพยาบาลผู้ทรงคุณวุฒิ ทำหน้าที่แบบ URC หรือ Utilization Review Committee เพื่อให้ความเห็นทางการแพทย์ในการตัดสินใจรับการรักษาพยาบาลของผู้ถือกรมธรรม์ประกันสุขภาพของบริษัท ซึ่งระบบนี้เป็นที่นิยมใช้ และถือเป็นมาตรฐานของการบริหารการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ถือกรมธรรม์ประกันสุขภาพในสหรัฐ

คณะกรรมการชุดนี้จะดูว่าการเข้ารักษาในโรงพยาบาลจำเป็นหรือไม่ ใช้ยาได้ผลหรือไม่ มีผลแทรกซ้อนอย่างไรในการรักษา คณะกรรมการจะดูแลติดตามผู้ป่วยจนรักษาตัวหายและกลับบ้านได้ ซึ่งการมีคณะกรรมการช่วยพิจารณาเช่นนี้จะอำนวยความสะดวกในหลายทาง กล่าวคือ ช่วยให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ถือกรมธรรม์ประกันสุขภาพของบริษัทได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยให้อัตราการใช้บริการลดลงในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีความจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ช่วยบริหารเตียงของโรงพยาบาลได้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ดี และส่งผลโดยตรงถึงค่าเบี้ยประกันของผู้ถือกรมธรรม์

หมอนันทภัทร์ กล่าวว่า ในสหรัฐใช้ระบบ URC กันมาก เพื่อมาช่วยดูแลคนไข้ ทำให้เตียงของโรงพยาบาลที่มีอัตราผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจำนวนมากเกิดว่างขึ้นได้ เป็นการใช้เตียงที่มีประสิทธิภาพได้ประโยชน์เต็มที่ ซึ่งในเมืองไทยก็มีโรงพยาบาลศิริราชกับจุฬาฯ ที่ใช้ระบบนี้ เธอมองว่า การบริหารอัตราการใช้เตียงของโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้รายได้ของโรงพยาบาลดีขึ้น ซึ่งมีผลให้อัตราการรักษาพยาบาลโดยรวมถูกลงด้วย

ทั้งนี้ หมอนันภัทร์ได้อาศัยประสบการณ์การทำงานแพทย์ในสหรัฐกว่า 8 ปี มีความคุ้นเคยกับระบบ Manage Care ในสหรัฐ มาปรับใช้ในประเทศไทย เธอเริ่มเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี โดยการแนะนำของนายแพทย์ บุญ วนาสิน เจ้าของโรงพยาบาลธนบุรี ซึ่งได้ซื้อบริษัท เอเพ็กซ์ ประกันสุขภาพ ไว้ในสัดส่วนกว่า 90% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดตั้งแต่เมื่อปี 2537-38 เอเพ็กซ์ก่อตั้งโดยบริษัท วิทยาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายแพทย์บุญก็เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ด้วยเช่นกัน

เอเพ็กซ์เป็นบริษัทที่ให้บริการขายกรมธรรม์ประกันสุขภาพอย่างเดียว ใบอนุญาตของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของใบอนุญาตประกันวินาศภัย ในข้อประกันภัยเบ็ดเตล็ด และบริษัทต้องขึ้นต่อกรมการประกันภัย บริษัทซึ่งให้บริการด้านกรมธรรม์ประกันสุขภาพอย่างเดียวมีรวม 6 ราย ก่อตั้งพร้อมกันตั้งแต่เมื่อ 18 ปีก่อน แต่ไม่ค่อยดำเนินงานอย่างแอคทีฟเท่าใด ผู้ครอบตลาดรายใหญ่สุดในตลาดที่มีมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาทในเวลานี้ คือ บริษัท บลูครอส ประกันสุขภาพ จำกัด ส่วนเอเพ็กซ์มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 3

ตลาดประกันสุขภาพนั้นว่าไปแล้ว มีมูลค่ามากกว่านี้ แต่จะไปแฝงอยู่ในตลาดประกันชีวิต ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาท หมอนันทภัทร์มีความหวังว่า การทำตลาดด้วยแผน Manage Care ซึ่งมีคณะกรรมการดูแลผู้ป่วยที่ถือกรมธรรม์ของบริษัท และการได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากแทพย์ และพยาบาลจะช่วยให้ตลาดประกันสุขภาพมีความเคลื่อนไหวคึกคักมากขึ้น

อัตราการเติบโตของตลาดประกันสุขภาพนั้น เฉลี่ยปีละประมาณ 20% - 30% ขณะที่อัตราค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% และกลุ่มคนที่สนใจเรื่องนี้มากก็คือชนชั้นกลางในเมือง และบริษัทซึ่งต้องมีสวัสดิการรักษาพยาบาลแก่พนักงาน ในส่วนของผู้มีรายได้น้อยก็จะรับสวัสดิการประกันสังคมจากรัฐบาล

ระบบ Manage Care ของเอเพ็กซ์นั้น เป็นกรมธรรม์ประกันสุขภาพที่มีความแตกต่างจากกรมธรรม์ของบริษัทประกันสุขภาพอื่น ๆ ตรงที่บริษัทมีการจัดเครือข่ายโรงพยาบาลธนบุรี เอเพ็กซ์เฮลท์คลีนิคและร้านขายยาเอเพ็กซ์ ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือให้บริการรองรับลูกค้า และมีคณะกรรมการ URC ให้คำแนะนำปรึกษาด้วย

การดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรเช่นนี้ หมอนันทภัทร์ เชื่อว่า จะช่วยควบคุมรายจ่ายอันเกิดจากกรมธรรม์ประกันสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี ระบบ Manage Care นี้จะสามารถใช้ได้เต็มรูปในอีก 4 ปีข้างหน้า เนื่องจากความพร้อมของเครือข่ายการรักษาพยาบาลยังมีไม่เต็มที่ ตอนนี้เธออยู่ระหว่างการขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของผู้ถือกรมธรรม์มีทั้งบริษัทและลูกค้ารายย่อย ส่วนมากยังอยู่ในกรุงเทพฯ

จุดที่กรมธรรม์ของหมอนันทภัทร์ต่างจากกรมธรรม์ประกันชีวิตทั่วไป คือ ความสามารถในการบริหารการรักษาพยาบาลที่จะทำให้ควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้กรมธรรม์ของเธอมีราคาถูกกว่า แต่สามารถรับการรักษาพยาบาลได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

เธอกล่าวว่า "บริษัทประกันชีวิตจะมีขีดจำกัดการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคแต่ละโรค แต่เอเพ็กซ์จะมีลักษณะเปิดมากกว่า เพราะเรามีการคัดเลือกผู้ที่ไม่จำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลออก เพื่อคุมเรื่องเบี้ยประกัน ดังนั้น กรมธรรม์บางอันเราสามารถจ่ายได้ถึง 500,000 บาท/ปี"

ทั้งนี้ หมอนันทภัทร์เปิดเผยว่า ในการเข้าพักรักษาตัวของคนไข้ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ๆ นั้น ในช่วง 3 วัแนรกของการพักรักษาตัวโรงพยาบาลจะมีกำไรในวันที่ 4-5 โรงพยาบาลจะเท่าทุน หากพักนานขึ้นถึงวันที่ 6-7 โรงพยาบาลจะเริ่มขาดทุน เธอจึงชี้ให้เห็นว่าการบริหารอัตราการใช้เตียงของโรงพยาบาลจึงเป็นประเด็นสำคัญ "หากมีการบริหารงานที่ดี turnover ดี ก็ทำให้ค่ารักษาพยาบาลโดยรวมถูกลงได้" เธอให้ความเห็นอย่างมีความหวังว่า หากมีความสนใจทำประกันสุขภาพกันมาก ๆ และใช้การจัดการที่มีประสิทธิภาพจะทำให้มูลค่าการคุ้มครองเพิ่มวงเงินได้สูงกว่านี้ ปัจจุบัน แผนที่เอเพ็กซ์มีอยู่สามารถคุ้มครองได้ประมาณ 200,000-300,000 บาท แต่หากแผนการขยายเครือข่ายของเธอสำเร็จและปริมาณผู้ถือกรมธรรม์เพิ่มสูงขึ้นเป็นหลักแสนคนขึ้นไป เธอจะสามารถจัดการคุ้มครองการรักษาพยาบาลได้เป็นวงเงินสูงคนละหลายล้านบาททีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.