สงครามการตลาดเกาหลี VS ญี่ปุ่น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(7 สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพที่ปรากฏในวันนี้ดูเหมือนว่าเกาหลีพยายามวัดรอยเท้าญี่ปุ่นในสินค้าประเภทเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ฟ้า รถยนต์ ซึ่งที่ผ่านมาเกาหลีมีความพยายามอย่างยิ่งในการผลักดันแบรนด์สินค้าของตนให้ขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดที่สินค้าของญี่ปุ่นเป็นผู้นำอยู่

เพราะสงครามวันนี้ไม่ใช่สงครามที่รบกันด้วยอาวุธ แต่เป็นสงครามการค้าขายระหว่างประเทศต่อประเทศ สงครามการตลาดของสินค้าคอนซูเมอร์ โปรดักส์ และคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ โดยมีแบรนด์ของแต่ละชาติเป็นตัวแทนในการรบ เช่น พานาโซนิค โซนี่ ฮิตาชิ โตชิบา ฯลฯ เป็นตัวแทนของฝ่ายญี่ปุ่น ส่วนแอลจี และซัมซุง เป็นตัวแทนของฟากเกาหลี

ที่ผ่านมาสินค้าญี่ปุ่นอาจเป็นผู้นำในหลายตลาดของเมืองไทย และของโลก แต่ปัจจุบันสินค้าของเกาหลีหลายตัวสามารถสร้างยอดขายขึ้นมาแซงหน้าด้วยเทคโนโลยีที่ไม่ด้อยไปกว่าญี่ปุ่น วันนี้เครื่องซักผ้าแอลจีเป็นผู้นำตลาดเครื่องซักผ้าในไทย แทนที่ชาร์ป และมิตซูบิชิ ที่เคยครองตลาดนี้อยู่ก่อน ส่วนซัมซุงมีส่วนแบ่งตลาดทีวีสีเป็นอันดับสองรองจากโซนี่

การที่เกาหลีสามารถเป็นคู่แข่งของญี่ปุ่นได้นั้น ไม่ได้อาศัยเพียงกลยุทธ์ราคา ด้วยการขายสินค้าราคาถูกแต่อาศัยเทคโนโลยี และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ทำได้ดีไม่แพ้แบรนด์จากญี่ปุ่น จากเมื่อก่อนหลายคนอาจเบือนหน้าหนีเมื่อเห็นรูปทรง และดีไซน์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ซัมซุง แต่เพียงเวลาไม่นานนักภาพเก่าๆได้ถูกลบไปจากความทรงจำ เมื่อผู้บริหารไปว่าจ้างนักออกแบบชาวยุโรปมาให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูดี มีดีไซน์ ทั้งผลิตภัณฑ์ Audio visual และ Home Appliance ไม่ว่าจะเป็น ทีวีสีจอพลาสมา ทีวีสีจอแอลซีดี เครื่องซักผ้า ตู้เย็น รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ

ปัจจุบันบริษัทเกาหลีที่เป็นบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ของโลกที่เป็นผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ออกสู่ตลาด คือ ซัมซุง และแอลจี ทั้งสองบริษัทใช้เวลาไม่นานนักในการสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างตลาด และสร้างแบรนด์จนสามารถแข่งขันกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น อย่าง และพานาโซนิค ได้

ความตั้งใจของเกาหลีอยู่ที่การล้มญี่ปุ่นให้จงได้ และวันนี้ความสำเร็จดังกล่าวดูเหมือนจะประสบความสำเร็จไปบ้างแล้วในบางสมรภูมิ ยกเว้นรถยนต์เท่านั้นที่ยังห่างไกลจากญี่ปุ่นอีกหลายก้าว แต่ใครจะหยั่งรู้อนาคต ในเมื่อความมุ่งมั่นที่จะคว่ำญี่ปุ่นให้อยู่หมัดนั้นยังมีอยู่ทั่วทุกอณูความรู้สึกนึกคิดของชาวเกาหลี

ข้อมูลจากนิตยสารแบรนด์เอจ ฉบับเดือนมิถุนายน 2545 ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจถึงสาเหตุที่ชาวเกาหลีต้องการเอาชนะญี่ปุ่นให้ได้นั้น มาจากแรงจูงใจที่ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สองต่อเนื่องมาจนเสร็จสิ้นสงครามเกาหลี เกาหลีถูกทำลายยับเยินทั้งวัตถุ และจิตใจ เกาหลีต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ คือเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ เมื่อหลังสงครามนั้นประชาชนยากจนมาก รัฐบาลเกาหลีต้องมาดูงานการพัฒนาชนบทในไทย และนำแบบอย่างสหกรณ์หุบกะพงไปสร้างเป็นหมูบ้านพัฒนาชุมชน

สิ่งที่พลิกผันเรื่องการเกษตรให้เกาหลีใต้เข้มแข็งคือ เรื่องการสร้าง “กรีนเฮาส์” (โครงเหล็กคลุมด้วยพลาสติกใสให้แสงแดดผ่านเข้าไปสังเคราะห์แสงได้) ใช้ชาวนาฟรีคนละ 3 หลัง เพื่อปลูกผัก และพืชผลทางการเกษตรในฤดูหนาว แต่หลังจากมีกรีนเฮาส์แล้วเกษตรกรสามารถปลูกสาลี่ องุ่น และโสมได้ ทำให้การเกษตรเข้มแข็ง ชาวนาฐานะดี ประเทศมั่นคง จากนโยบายนี้ทำให้เกาหลีใต้ใช้เวลาเพียง 3 ปี พัฒนาแบบก้าวกระโดดเท่ากับประเทศอื่นๆ ใช้เวลาพัฒนาประเทศถึง 20 ปี

แต่สิ่งที่ทำให้เกาหลีสามารถพัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า คือ ประธานาธิบปี ปาร์ก จุง ฮี และระบบเศราฐกิจแบบแชโบล (Chaebol) โดยระบบนี้ก่อตั้งโดยญี่ปุ่นในเกาหลี ระหว่างทศวรรษที่ 1920-1930 ในช่วงที่เกาหลีถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น เพื่อสร้างให้เกาหลีมีระบบเศรษฐกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ และเป็นฐานทางเศรษฐกิจให้แก่ญี่ปุ่น

ภายใต้ระบบนี้การผลิตสินค้าจะเป็นของเอกชน แต่ถูกควบคุมและกำหนดประเภทสินค้าที่จะผลิตโดยรัฐบาลกลาง และรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อ

หลังสงครามเกาหลี เมื่อปาร์ก จุง ฮี ขึ้นครองอำนาจในเกาหลีตั้งแต่ปี 1961 ระบบแชโบลได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเกาหลีให้เป็นชาติอุตสาหกรรมก้าวหน้า การปรับปรุงดังกล่าวทำให้แชโบลเป็นระบบที่แข็งแกร่งและตอบสนองนโยบายรัฐบาลมากขึ้น มีแชโบลเกิดขึ้นในเกาหลีถึง 40 แชโบล แต่ละแชโบลจะมีบริษัทแม่ ซึ่งมีกลุ่มบริษัทหลายสิบบริษัทที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกันขึ้นกับบริษัทแม่ซึ่งจะถูกควบคุมโดยระบบครอบครัว

รัฐบาลกลางยังได้คัดเลือกแชโบลขึ้นเป็น ซูเปอร์แชโบล เพื่อให้เป็นบริษัทผู้นำด้านอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมเหล่านี้รัฐบาลจะเข้าไปสนับสนุนเต็มที่ในทุกด้าน เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพส่งออกแข่งกับคู่แข่งขันในตลาดต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น และประเทศในกลุ่มยุโรป

ปัจจุบันมีซูเปอร์แชโบล อยู่ 4 บริษัท คือ ซัมซุง ฮุนได โกลด์สตาร์ (LG) และแดวู ทำให้เกาหลีซึ่งมีขีดความสามารถของประชากรสูงที่สืบทอดความสามารถกันมาแต่ยุคโบราณ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ชั่วเวลาประมาณ 30 ปี เกาหลีสามารถผลิตสินค้าอย่างทีวีจอพลาสมา เครื่องเล่นดีวีดี มอนิเตอร์สำหรับจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และอื่นๆ ที่ล้วนเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคในโลกดิจิตอล สามารถแข่งกับสินค้าญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกาได้ ที่สำคัญยังสามารถเอาชนะสินค้าญี่ปุ่นได้ในหลายสมรภูมิ

ส่งผลให้เมื่อเกาหลีได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในเอเชียเมื่อปี 1997 เกาหลีกลับฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียง 3 ปี หลังจากนั้นบริษัทที่เป็นซูเปอร์แชโบล ในเกาหลีอย่างแอลจี ซัมซุง ฮุนได มียอดขายที่เติบโตสูงเป็นเลขสองหลักสวนกระแสเศรษฐกิจโลก จะมีปัญหาก็เพียงแดวู ซึ่งที่สุดบริษัทแดวูในส่วนอุตสาหกรรมก็ถูกเจเนอรัลมอเตอร์จากอเมริกาเข้าควบกิจการ

เนื่องจากรายได้จากซูเปอร์แชโบลเหล่านี้มีสัดส่วนสูงถึง 40% ของรายได้ประชาติของเกาหลี ทำให้เกาหลีเริ่มมีความสามารถในการใช้หนี้ให้กับไอเอ็มเอฟที่กู้มาแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ก่อนประเทศอื่นในเอเชียที่เผชิญวิกฤตมาด้วยกัน และหลังจากนั้นระบบแชโบลมีการปรับปรุงอีกครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจยุคใหม่มากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.