วันที่หนึ่งของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เกรียงศักดิ์ แสงทองได้รับคำสั่งจากบริษัทแม่ย้ายไปทำงานประจำในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
ภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ที่ประเทศสิงคโปร์ หลังจากเป็นประธานกรรมการบริหารหรือ
CEO ของกลุ่มอินช์เคปในไทยสองปี แต่ผลงานที่ออกมาไม่เข้าตากรรมการ
สองปีที่เกรียงศักดิ์บริหาร ผลงานเด่นที่เกรียงศักดิ์กล้าเข้าไปทำ คือ การรีเอ็นจิเนียริ่งอินช์เคป
เป็นงานใหญ่ที่รุกก้าวเข้าไปเปลี่ยนแปลงทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย
เป็นธรรมดาที่สิ่งใหม่ย่อมเกิดกระแสต่อต้านจากคนเก่า ขนาดเจ้าของกสิกรไทย
บัณฑูร ล่ำซำ ซึ่งเป็นผู้นำกระบวนการรีเอ็นจิเนียริ่งมาใช้ยังต้องใช้กำลังภายในมหาศาล
กว่าจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือจนสำเร็จเป็นโฉมใหม่ได้ แล้วเกรียงศักดิ์เป็นใคร
เป็นเพียง "คนนอก" ที่เป็นมืออาชีพระดับอินเตอร์ที่อินช์เคปจ้างมา
คนใหม่อย่างเกรียงศักดิ์แม้จะเคยมีผลงานปรากฎในเอวอน แต่ก็เป็นเพียงบริษัทเครื่องสำอาง
แต่โครงสร้างองค์กรและสินค้าของอินช์เคปใหญ่และซับซ้อนหลากหลายกว่านั้นมากๆ
คนเก่าจึงยากจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่ได้พิสูจน์ฝีมือของเกรียงศักดิ์
ณ อินช์เคป
"สองปีที่ผ่านมา ผมเน้นในสี่ประเด็นหลัก ๆ หนึ่ง-รีเอ็นจิเนียริ่ง
สอง-สร้างกระบวนการทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพเหนือคู่แข่ง สาม-สร้างทีมเวิร์ค
และสี่-มองหาธุรกิจใหม่ ๆ จริง ๆ ไม่ใช่ผมเลือก แต่สถานการณ์มันบีบ การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้น
เป้าหมายเพื่อความอยู่รอดของอินช์เคป ถึงผมไม่มา อินช์เคปก็ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ดี
เพราะมันมีแม่บทและนโยบายที่กำหนดไว้" นี่คือคำบอกเล่าของเกรียงศักดิ์
ภายใต้แรงกดดันจากภายในและภายนอก เกรียงศักดิ์ยังสวมวิญญาณมืออาชีพระดับอินเตอร์ที่ยังคงลุยปรับโครงสร้างผู้บริหาร
และการบริหารผลิตภัณฑ์ไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น โดยเฉพาะการสานต่อภารกิจต่อจากปีเตอร์
แมคครีดี้ ประธานคนเดิมในโครงการสร้างกลยุทธ์บริหารสินค้าและปรับระบบการจัดส่งสินค้าที่ล้าหลังให้เกิดใหม่ภายใต้ชื่อ
"ลอจิสติกส์" โดยลงทุนมหาศาลใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้กับคลังสินค้าใหม่ที่บางปะอินของบริษัท
อินช์เคป คอนซูเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง (ไอซีเอ็ม) ซึ่งบริหารสินค้าที่อยู่ในมือไม่ต่ำกว่า
300 รายการ ยอดขายแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ
50% ของยอดขายโดยรวมของกลุ่มอินช์เคป
ฉะนั้น บริษัทไอซีเอ็มจึงเป็นหัวใจสำคัญที่เกรียงศักดิ์ยึดกุมเก้าอี้กรรมการผู้จัดการควบกับตำแหน่ง
CEO ในยุคต้น ๆ เพราะไอซีเอ็มจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงมากที่สุด จวบจนเกรียงศักดิ์มั่นใจว่า
กุมสภาพได้จึงแต่งตั้งมาร์ค เอช กริฟฟินที่ทำอยู่ที่ประเทศดูไบมารับตำแหน่งแทนในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
และสิงหาคมปีนี้ก็ได้ทาบทามซื้อตัวอนัคฆวัชร์ ก่อวัฒนกุล อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาดของค่ายคอลเกต-ปาล์มโอลีฟ
มาเป็นผู้จัดการใหย่ที่ไอซีเอ็มอีกด้วย
เป้าหมายรีเอ็นจิเนียริ่งที่เกรียงศักดิ์วางไว้ และต้องทำให้บรรลุ คือ ลดเวลา
ซึ่งเป็นต้นทุนที่แพงมาก เพราะในแต่ละกระบวนการจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้าทั้งในกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัดนั้น จะต้องทำให้เร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จากที่เดิมนั้นล่าช้าไม่ต่ำกว่า
20-30 วันหรือเป็นเดือนตั้งแต่รับออร์เดอร์ถึงจัดส่งสินค้า ทำให้ยอดขายหายไป
ผลกระทบจากรีเอ็นจิเนียริ่งบนพื้นฐานอนุรักษนิยมของอินช์เคป คือ "ได้อย่างและเสียหลายอย่าง"
เพราะกว่าที่เกรียงศักดิ์จะชัดเจนในเกมรุก ปัญหารุมเร้าที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงใหม่นี้ก็เกิดขึ้นตลอดสองปี
นับเนื่องจากการทยอยลาออกของคนเก่าและลูกค้าของอินช์เคปหลุดไป รายแรก คือ
กลุ่มบริษัท ที.เอ.เอส.กรุ๊ป เจ้าของโจ๊กสำเร็จรูปยี่ห้อ "ควิ๊กโจ๊ก"
และเครื่องดื่มดับกระหาย "เควนเซอร์"
รายที่สอง คือ บริษัทกระดาษธนธาร เจ้าของผลิตภัณฑ์กระดาษชำระ "ฟินน์"
"กรีนแอนด์คลีน" "แนปกิ้น" "ทัช" และ "พรีเมี่ยม"
ที่มีความสัมพันธ์ในฐานะคู่ค้ากันมานานนับ 17 ปีต้องยกเลิกสัญญาจัดจำหน่ายกับบริษัทอินช์เคป
คอนซูเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง แล้วไปจ้างดีทแฮล์ม ทำแทน เพราะเหตุจากการปรับระบบบริหารสินค้าใหม่ภายในอินช์เคปที่กระทบยอดขายให้ลดลง
30% เมื่อเทียบกับยุคก่อนปรับ ขณะเดียวกับบริษัทลูกค้าก็ทำใจยอมรับค่าใช้จ่ายใหม่ที่เพิ่มขึ้น
จากที่มีค่าใช้จ่ายในการจัดรูปการบริหารสินค้าใหม่ที่ลงทุนสูงมาก ซึ่งลูกค้าเก่าอย่างบริษัทธนธารอ้างว่า
ไม่สามารถรับได้กับค่าใช้จ่ายใหม่ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นอันสิ้นสุดกันไป
"ขณะนี้ บริษัทได้เปิดเกมรุกในสินค้าบางตัวแล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์ฟลูโอคารีน
จากเดิมที่บริษัทเน้นสร้างภาพพจน์เป็นหลัก ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป บริษัทได้เปลี่ยนแนวทางโฆษณาเพื่อผลักดันยอดขายมากกว่า
พร้อมกับขยายช่องทางจัดจำหน่ายสู่ร้านค้าปลีกมากขึ้น ส่วนสินค้าอื่นอยู่ระหว่างศึกษา
สำหรับผลการปรับโครงสร้างองค์กรจะออกมามีรูปแบบที่ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
อีก 5 เดือนถึงจะสรุป โดยขณะนี้บริษัทได้ทำแบบฟอร์มสำรวจและประเมินผลส่งให้กับลูกค้า
หากผลสรุปทุกคนพอใจก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่หากยังไม่เป็นที่พอใจก็ต้องแก้ไขต่อไป"
นี่คือสไตล์การบริหารแบบอเมริกันที่มืออาชีพระดับอินเตอร์อย่างเกรียงศักดิ์เล่าให้ฟัง
ปรากฏว่า การประเมินผลที่ลูกค้าและพนักงานผู้เกี่ยวข้องกับไอซีเอ็มสรุปออกมานั้น
ชี้ไปในทางที่ไม่น่าพอใจดังกล่าว และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเกรียงศักดิ์หลุดจากเก้าอี้
CEO ทำให้มาร์ค กริฟฟิน กรรมการผู้จัดการไอซีเอ็มต้องรายงานโดยตรงกับสำนักงานใหญ่ประเทศสิงคโปร์
ขณะนี้
ถึงตอนนี้การจากไปสิงคโปร์ของเกรียงศักดิ์ แสงทอง แม้จะถูกมองว่าถูกย้ายไปเพราะล้มเหลว
เพราะผลงานนั้นได้ถูกประเมินแล้ว แต่สำหรับมืออาชีพระดับอินเตอร์อย่างเกรียงศักดิ์
แสงทอง ย่อมต้องพิสูจน์ตัวเองในที่ใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้