|

ธปท.ชี้แนวโน้มเงินเฟ้อเข้าสู่ขาลง
ผู้จัดการรายวัน(3 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติชี้อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงเป็นแนวโน้มที่ดี และเชื่อจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีจากแรงกดดันหลายๆ ด้านที่ผ่อนคลายลง แต่ก็ยังคงจับตาตัวแปรหลักโดยเฉพาะราคาน้ำมันอยู่ สำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดนั้นจะต้องพิจารณาถึงเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญ
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงตัวเลขทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงเดือนกรกฎาคม 2549 มีการปรับลดลงว่า ถือเป็นแนวโน้มที่ดี และหากดูไส้ในก็จะพบว่า การปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 ตัว ไม่ใช่เกิดจากผลของปีฐานเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากแรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มอ่อนตัวลง ดังนั้นธปท.มองว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มลดลง
“หากดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราทั่วไปเพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือนมีอัตราที่ลดลงทั้ง 2 ตัว โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 0.2% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 0% ฉะนั้นแรงกดดันเรื่องอัตราเงินเฟ้อเริ่มที่จะผ่อนลง เป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น และเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อัตราแนวโน้มจะเริ่มลดลง”
นายบันฑิต กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่แสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงมีด้วยกัน 3 ปัจจัย ได้แก่ 1. การปรับขึ้นของราคาสินค้าตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้มีการปรับราคามาพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะเรื่องค่าขนส่ง ดังนั้น ภาวะที่ราคาสินค้าจะปรับขึ้นตามราคาน้ำมันในอนาคตจะลดลงเทียบกับช่วงที่ผ่านมา 2. ภาวะเศรษฐกิจที่ธปท.ประเมินว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะชะลอตัว สร้างแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปลดลง และ 3.แรงกดดันด้านอื่นๆ ซึ่งภาคธุรกิจคาดหวังอนาคตจะไม่สูง รวมไปถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่เกิดจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างก็จะไม่มาก
ทั้งนี้ ในอนาคตคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาวะการใช้จ่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อเศรษฐกิจทำให้ความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) เริ่มน้อยลง อย่างไรก็ตามกนง.จะติดตามดูอัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงอย่างชัดเจนต่อไปหรือไม่ในเดือนต่อๆ ไป รวมไปถึงตัวแปรหลักด้านราคาน้ำมันจะเป็นเช่นไร สิ่งเหล่านี้ต้องติดตามดูต่อไป
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินโยบายการเงินแบบเข้มงวดนั้น นายบัณฑิต กล่าวว่า กลุ่มประเทศหลัก 3 ประเทศ ยังคงมีทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอยู่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศเป็นสำคัญ
ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่มีการไหลเข้าออกมากในช่วงที่ผ่านมานั้น มองว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมากกว่าจะดูส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย โดยหากเป็นการลงทุนระยะยาวก็จะดูปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ถ้านักลงทุนคิดถึงส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยก็จะเป็นเพียงการลงทุนระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญต้องดูว่าอัตราดอกเบี้ยระดับไหน จึงจะเหมาะสมต่อเศรษฐกิจ
“แบงก์ชาติจะให้ความสำคัญเสถียรภาพเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดโลกมองไม่อ่อนตัวมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดความผันผวนเศรษฐกิจโลกได้ แบงก์ชาติจึงต้องดูแลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไม่สูงมาก ดุลบัญชีเดินสะพัดสมดุลหรือขาดดุลไม่มาก เงินสำรองระหว่างประเทศแข็งแกร่ง และมีหนี้ต่างประเทศที่ต่ำ ปัจจุบันเสถียรภาพเศรษฐกิจดีพอสมควร” นายบัณฑิตกล่าว
นอกจากนี้ จากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ไข้หวัดนกรอบใหม่ และสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ธปท.จะติดตามดูผลกระทบต่างๆ อยู่เสมอว่าจะมีต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ต่อเนื่องแค่ไหน ซึ่งขณะนี้ก็ยังจับตาดูอย่างใกล้ชิดต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|