หลังฉากเอเยนซี ดีมาร์ไม่ใช่พระเจ้า !


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

การปรับปรุงรูปเล่มของหนังสือพิมพ์ธุรกิจต่าง ๆ ในระยะนี้ ล้วนตกอยู่ในสายตาของเอเยนซีโฆษณา ซึ่งไม่ว่าในยุคใดสมัยใดก็ยึดถือเรตติ้งของบริษัทดีมาร์ จำกัด และคำว่า "ลูกค้า คือ พระเจ้า"

สมชาย มีหิรัญ ผู้จัดการฝ่ายสื่อบริษัทลีโอ เบอร์เนทท์ ให้ความเห็นว่า การปรับปรุงรูปเล่ม มิได้ทำให้เอเยนซีเปลี่ยนแผนโฆษณาทันที

"คอยดูดีมาร์ ให้ความสำคัญกับดีมาร์กว่า 50% แล้วดูเรื่องอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ"

ทั้งนี้เพราะดีมาร์เป็นบริษัทสำรวจเรตติ้งสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุด แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า หนังสือที่มียอดผู้อ่านสูง หรือมียอดจัดจำหน่ายสูง ไม่จำเป็นต้องได้โฆษณามากเสมอไป

แหล่งข่าวในวงการเอเยนซี ซึ่งทำหน้าที่ด้านวางแผนสื่อให้ความเห็นว่า ปัญหากลุ่มเป้าหมายของหนังสือก็เป็นเรื่องสำคัญ ยกตัวอย่าง หนังสือในเครือบริษัทคู่แข่ง จำกัด (มหาชน) ถูกเอเยนซี มองว่า กลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษา ไม่ค่อยมีกำลังซื้อ ในขณะที่วัฏจักรรายวัน ซึ่งจั่วหัวมียอดจำหน่ายสูงสุด ก็ยังได้โฆษณาน้อยอยู่ เพราะถูกเอเยนซีมองว่า เป็นหนังสือสมัครงาน สยามกีฬารายวันที่มียอดผู้อ่านอยู่ในระดับท็อปไฟท์ของหนังสือพิมพ์รายวัน แต่ก็ได้โฆษณาไม่มากเช่นเดียวกัน เพราะถูกมองว่า เป็นหนังสือของคนหนุ่มสาวที่ไม่มีกำลังซื้อ และยังไม่ใช่ระดับตัดสินใจ

"อันที่จริง วัฏจักรมีการปรับปรุงด้านรูปเล่มและข่าวขึ้นมามาก แต่ความเชื่อของลูกค้า ก็มีผลต่อการวางแผนของเอเยนซี ก็รู้กันอยู่ว่า ลูกค้าคือพระเจ้า"

ลูกค้ามีผลต่อการวางแผนสื่อของเอเยนซีอย่างไร ?

สมชายให้ความว่า โดยทั่วไปลูกค้าก็ยังให้ความเชื่อถือการวางแผนของเอเยนซี ไม่ค่อยปฏิเสธเมื่อเอเยนซีกำหนดสื่อให้ แต่แหล่งข่าวในลินตาสกลับให้ความเห็นว่า ปัจจุบันลูกค้าโดยเฉพาะที่เป็นเครือบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในการวางแผนสื่อโฆษณาถึง 40%

"อย่าลืมว่า ลูกค้าฉลาดขึ้นทุกวัน คนเก่ง ๆ จากเอเยนซีไปทำงานกับลูกค้าเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ คือ ลูกค้าก็มีข้อมูลเช่นเดียวกับเอเยนซี เพราะฉะนั้น เวลาที่เราวางแผนโฆษราไป ประมาณ 40% ลูกค้าจะเข้ามาขอเปลี่ยนแปลง เจ้าของเงินเป็นผู้อนุมัติ ไม่ใช่เอเยนซี"

ยกตัวอย่าง รูปธรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับลินตาส เอเยนซีวางแผนสื่อไปให้ลูกค้าว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่แบรนด์นี้ ควรลงโฆษณาในผู้จัดการรายสัปดาห์ ฐานเศรษฐกิจ คู่แข่ง ลูกค้าก็อาจจะขีดทิ้ง แล้วเปลี่ยนเป็นฐานเศรษฐกิจ ประชาชาติ ข่าวสด ก็ได้ ใครจะไปทำไม ?

ก็มันเงินของเขา ! ไม่มีเอเยนซีรายใดหรอกที่จะอยากจะขัดใจลูกค้าจนเสียแอคเคาท์ก้อนโต ๆ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนสื่อที่ทำให้แอคเคาท์ก้อนใหญ่หลุดไปถือว่า ประวัติเสียทีเดียว

อาจจะมีคนสงสัยว่า ทำไมโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงไปลงโฆษณาในข่าวสด ซึ่งแม้แต่เอเยนซีก็มองว่าเป็นตลาดล่าง หนังสือธุรกิจจำนวนไม่น้อยกลับไม่ได้โฆษณาโทรศัพท์เคลื่อนที่

เหตุผล คือ นี่เป็นเรื่องของเทคโนโลยีซึ่เงริ่มเป็นคอนซูเมอร์โปรดักส์ ดังนั้น การโฆษณาในหนังสือที่เป็นตลาดมวลชน และมียอดผู้อ่านสูง ย่อมจะดีกว่าโฆษณาในหนังสือพิมพ์และนิตยสารธุรกิจบางฉบับที่ยอดผู้อ่านไม่มากนัก

"ตรงนี้ บางทีพนักงานขายโฆษณาก็ไม่เข้าใจ เขาจะอ้างว่าเรตติ้งเขาสูง ดีมาร์ก็รับรองแล้ว ทำไมจึงไม่ได้โฆษณาเสียที แต่เขาไม่ดูองค์ประกอบอย่างอื่น"

ประชาชาติธุรกิจ นับเป็นตัวอย่างที่ดี คือ มียอดผู้อ่านสูงเป็นอันดับสามในตลาดหนังสือพิมพ์ธุรกิจกระดาษขาว แต่กลับได้โฆษณาใกล้เคียงกับฐานเศรษฐกิจ

จากการสำรวจของคู่แข่งดาต้าแบงก์ครึ่งแรกของปี 2539 ประชาชาติธุรกิจมีรายได้โฆษณารวม 361,321,000 บาท ส่วนฐานเศรษฐกิจมีรายได้ 430,786,000 บาท ในบางเดือน คือ พฤษภาคม ก็ปรากฏว่า ประชาชาติมีรายได้จากโฆษณามากกว่าเสียอีก

ณรงค์ จุนเจือศุภฤกษ์ กรรมการผู้จัดการของประชาชาติธุรกิจ เคยสอบถามเอเยนซีว่า การสำรวจของดีมาร์จะเกิดผลอะไรต่อประชาชาติไหม ?

"เราก็บอกเขาว่า ถ้าเกิดเอเยนซีเขาให้โฆษณาตามอันดับเรตติ้งของดีมาร์ ประชาชาติก็คงมีปัญหาบ้าง แต่เอเยนซีไม่ได้ดูแค่ตัวเลข" แหล่งข่าวในโอกิลวี่กล่าว

ความน่าเชื่อถือของสื่อก็นับว่ามีผลอย่างยิ่งต่อการได้โฆษณา ความน่าเชื่อถือนี้มีอยู่สององค์ประกอบ คือ

1) การตอบรับของผู้บริโภค หลังจากมีการโฆษณาในสื่อนั้น ๆ โดยเฉพาะบริษัทเรียลเอสเตท มักจะมีการสอบถามผู้บริโภคว่า ได้รับทราบโฆษณาของตนจากสื่อเล่มใด แล้วทำเป็นสถิติไว้ รองลงมาก็เป็นสินค้าทางด้านอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ สินค้าราคาแพง เช่น รถยนต์

2) ความน่าเชื่อถือของข่าวสาร ถ้าหนังสือเล่มใดมีการนำเสนอข่าวสารที่ผิดพลาด หรือไม่เป็นธรรม อาจทำให้ลูกค้าปฏิเสธที่จะลงโฆษณาได้ ข่าวสารที่ต้องระมัดระวังสูงในการนำเสนอ คือ ข่าวการเมือง ข่าวโทรคมนาคม-คอมพิวเตอร์ ข่าวรถยนต์ ซึ่งการแข่งขันกำลังดุเดือดเข้มข้น

เป็นความจริงที่บางครั้งข่าวยอดนิยม ก็ไม่ได้โฆษณา หรือมีโฆษณาไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนในเรื่องหน้ากระดาษและทีมงาน ยกตัวอย่าง สายข่าวปริทรรศน์ ที่เคยกระเดื่องดังในผู้จัดการรายสัปดาห์

สมชาย มีหิรัญ อธิบายว่า "โดยส่วนตัวผมชอบอะไรที่มันเข้มมันข้น เช่น ปริทรรศน์ แต่เวลาที่จะลงโฆษณาก็ต้องระมัดระวัง เพราะข่าวในทำนองนี้เป็นประเด็นที่มีลักษณะก้าวร้าว (aggressive) บางครั้งลูกค้าก็ไม่อยากให้สินค้ามาลงคู่กับข่าวทำนองนี้ เพราะเขากังวลเรื่องภาพพจน์ของสินค้า"

ยกตัวอย่าง เกิดเอเยนซีลงโฆษณาสินค้ารถยนต์ประกบคู่ไปกับข่าวอุบัติเหตุรถยนต์สยดสยองเอเยนซีก็ต้องมีปัญหากับบริษัทรถยนต์แน่

ข่าวในทำนองปริทรรศน์ จุดประกาย วีคเอนด์ แม้จะเป็นตัวดึงผู้อ่าน แต่เอเยนซีก็คาดหมายได้ยากว่าในวันต่อไปหรือสัปดาห์ต่อไปจะมีการลงข่าวอะไร เป็นผลดีต่อสินค้าที่จะลงโฆษณาไหม เมื่อเป็นเช่นนี้ เอเยนซีจึงไม่วางแผนสื่อให้

องค์ประกอบอย่างอื่นที่จะทำให้ได้โฆษณา คือ คุณภาพการพิมพ์ ความถี่ในการวางแผน ลักษณะการดีไซน์ของหนังสือ บุคลิกหนังสือ

"ฐานเศรษฐกิจเคยสงสัยว่า ทำไมได้โฆษณาบ้าน-ที่ดินน้อยกว่าประชาชาติทั้งที่ยอดผู้อ่านสูงกว่า ตอนนี้จึงปรับแท่นพิมพ์ใหม่หมด เพื่อให้คุณภาพการพิมพ์ดีขึ้น แล้วจะคอยดูผลว่าโฆษณาบ้านที่ดินจะมากขึ้นไหม" สมชาย กล่าว

อันที่จริงทั้งลูกค้าและเอเยนซีล้วนต้องการลงโฆษณาที่เป็นลักษณะสดใหม่ จึงไม่อยากลงโฆษณาขาวดำ การที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้โฆษณาภายสีอยู่เป็นประจำก็สะท้อนได้ถึงการยอมรับของลูกค้าและเอเยนซี เนื่องจากบางครั้งโฆษณาชิ้นเดียวกันกลายเป็นเล่มหนึ่งได้ขาวดำ อีกเล่มหนึ่งได้ภาพสี ซึ่งก็แน่นอนย่อมได้เม็ดเงินมากกว่า

โฆษณาจำพวกเสื้อผ้า เครื่องสำอาง อาหาร มักจะลงในนิตยสาร เพราะกระดาษและคุณภาพการพิมพ์ดีกว่า จะลงโฆษณาในรายวัน ก็ในช่วงมีแคมเปญหรือเปิดตัวสินค้า

การโฆษณาประเภทแคมเปญหรือเปิดตัวสินค้าโดยส่วนใหญ่จะลงในรายวัน หรือไม่ก็ออกโทรทัศน์ทั้งสิ้น เพราะการมีความถี่สูงทำให้มีผลต่อตลาดได้ง่าย

ในแง่การแบ่งเซ็กชันก็ต้องดูว่าสินค้าอะไรกำลังทุ่มเม็ดเงินโฆษณามากและสินค้าอะไรที่กำลังถดถอย มีเม็ดเงินโฆษณาน้อย หรือกระทั่งไม่มีเลย สินค้าอะไรที่นิยมลงโฆษณาในสื่ออื่นมากกว่าสิ่งพิมพ์ เช่น โฆษณาด้านคอนซูเมอร์ส่วนใหญ่นิยมสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ หนังสือพิมพ์ธุรกิจกระดาษขาวจึงมีโอกาสน้อยที่จะได้โฆษณาในแนวนี้ การดีไซน์หนังสือจึงต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ กล่าวคือ ไม่ควรทุ่มหน้ากระดาษและกำลังคนไปในจุดที่ไม่อาจเรียกเม็ดเงินจากเอเยนซี แต่หากจะทำหนังสือเพื่ออุดมคติส่วนตัวก็เป็นอีกเรื่องนึ่ง

ภาพพจน์ของหนังสือนับว่าสำคัญมาก "อย่างสยามโพสต์ ผมไม่รู้ว่าเป็นหนังสือรายวันการเมืองหรือธุรกิจ ผู้จัดการรายสัปดาห์ตอนเป็นเล่มเล็ก เป็นจำพวกใส่สูททักซิโด้ กระดุมทอง เป็นข่าวเศรษฐกิจที่มีลักษณะอัปเปอร์คลาส" สมชาย กล่าว

การที่บุคลิกหนังสือไม่ชัดเจน เอเยนซีก็จะไม่แน่ใจว่าผู้อ่านเป็นกลุ่มไหน ทำให้มองข้ามไป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดทฤษฎีโฆษณาอะไรทั้งสิ้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.