AgrEvo ชื่อนี้มีความหมาย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2539)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการค้าที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจากยุคแห่งการปกป้องทางการค้า สู่ยุคการค้าเสรีที่ไร้พรมแดนตามข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากร และการค้า หรือแกตต์ ที่สมาชิกกว่า 150 ประเทศ รวมทั้งไทยต่างได้ให้สัตยาบันยอมผูกพันตนเองผ่านพ้นเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเป็นเสมือนหนึ่งแรงกดดันให้ผู้เล่นในธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนถึงธุรกิจอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ด้านการเกษตรโลกมีการประชันขันแข่งกัน เพื่อชิงส่วนแบ่งการตลาดอย่างถึงพริกถึงขิง และแน่นอนในเวทีนี้ย่อมหนีไม่พ้นวงจรปลาใหญ่กินปลาเล็กในที่สุด

การรวมกิจการ (Merger) เพื่อให้ขนาดกิจการขยายใหญ่ขึ้น เป็นหนทางหนึ่งในการอยู่รอด เพราะสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และศักยภาพในการแข่งขันให้มีมากขึ้น ซึ่งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเฮิกซ์ (Hoechst), บริษัทเชริง (Schering) ของเยอรมนี และรูซเซล ยูคลาฟ (Roussel Uclaf) แห่งฝรั่งเศส ได้ตัดสินใจผนึกกำลังกันเพื่อชิงความเป็นเจ้าในตลาดเคมีภัณฑ์ด้านการเกษตรที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากขึ้นทุกขณะ ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงทั้ง 3 เป็นบริษัทนี้มีตำแหน่งอยู่แถวหน้าของวงการ

อากรีโว (AgrEvo) คือ ชื่อใหม่ของบริษัทที่เกิดจากการผนวกกิจการของทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว พร้อมทั้งวางสถานะของตนเองเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางด้านเคมีภัณฑ์เกษตร และด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมโดยจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายในตลาดตั้งแต่ ผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์ควบคุมแมลงนำโรคและแมลงในบ้านเมือง ตลอดจนถึงผลิตภัณฑ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมด้วยการผลิตสารเคมีสังเคราะห์ เพื่อจำหน่ายต่อไปยังอุตสาหกรรมผู้ผลิตยาฉีดยุง ยาจุดกันยุง ยาไล่ยุงชนิดระเหยเสียบไฟฟ้า รวมถึงการผลิตสารเคมีชนิดเข้มข้นที่ใช้ในด้านสาธารณสุขอุตสาหกรรมบริการกำจัดแมลง อุตสาหกรรมแปรรูปไม้และการควบคุมแมลงในโรงเก็บผลิตผลทางการเกษตร ทั้งนี้ก็ด้วยความแตกต่างในความชำนาญของแต่ละบริษัทที่มีอยู่

ที่ผ่านมา เฮิร์ซ์ เป็นบริษัทที่ชำนาญในการผลิตสารกำจัดวัชพืชและกำจัดแมลงส่วนเชริง มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กำจัดเชื้อราและไรศัตรูพืช ขณะที่รูซเซล ยูคลาฟ เป็นผู้นำทางด้านการวิจัยค้นคว้าด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยผลิตสารสังเคราะห์ไพรีทรอยด์กำจัดแมลงศัตรูพืช และแมลงในบ้านเรือนซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของยาฉีดยุง ยาจุดกันยุง ยาไล่ยุงชนิดระเหยเสียบไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ผลิตสารเคมีชนิดเข้มข้น เพื่อนำไปใช้ด้านสาธารณสุข เช่น ป้องกันโรคไข้เลือดออกและมาลาเรีย เป็นต้น

"อากรีโว (AgrEvo) เป็นคำผสมระหว่าง Agricultural กับ Evolution ซึ่งหมายถึงวิวัฒนาการทางด้านการเกษตร เราเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรม และอนามัยสิ่งแวดล้อมชั้นแนวหน้าของโลก" Andrew McDowell กรรมการผู้จัดการเฮิกซ์ เชริง อากรีโว (ไทย) จำกัด กล่าวถึงที่มาของชื่อใหม่ของบริษัทแม่ ที่มีสำนักงานใหญ่ประจำอยู่ที่เบอร์ลิน เยอรมนี

อากรีโว ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 1993 และเริ่มดำเนินกิจการในปี 1994 โดยมีเฮิกซ์ ถือหุ้นในสัดส่วน 43% ขณะที่เชริง ถือครอง 40% และรูซเซลถือเพียง 17% อย่างไรกตาม การที่เฮิกซ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในรูซเซลถึง 60% จึงเป็นเสมือนหนึ่งว่า เฮิกซ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในอากรีโวเป็นสัดส่วนถึง 60%

ด้านสำนักงานในไทยก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่อย่างเป็นทางการว่า เฮิกซ์ เชริง อากรีโว (ไทย) จำกัด เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีทีมงานเดิมของเฮิร์ซ ์และเชริงร่วมกันบริหารงานในบริษัทนี้ที่มีทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท มีสายงานแยกเป็นฝ่ายยาปราบวัชพืช ยาปราบแมลง ยาป้องกันและกำจัดโรคพืช และเทคโนโลยีชีวภาพ

"การรวมกิจการของเราครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในอันที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ยาปราบศัตรูพืช และอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะเฉพาะอย่างมากขึ้น เพราะในตลาดต่างประเทศรู้จักเฮิกซ์และเชริงมานานแล้ว เพียงแต่ว่าชื่ออากรีโวของเรายังไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก แต่ตอนนี้เรากำลังรณรงค์ให้ชื่อของเราเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และการที่เรานำเอาเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้จะช่วยให้ชื่ออากรีโว ติดปากมากขึ้น" McDowell เปิดเผย

เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้แหลมคมยิ่งขึ้น เมื่อกลางปีนี้ อากรีโวได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท ดี.บี.เค. ที่มีความชำนาญในการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีเครื่องทำความร้อน (Heater) ที่ใช้กับแผ่นกระดาษชุบสารเคมีไล่ยุง (Vaporising Mat0 ด้วยระบบไฟฟ้าในสเปน และบริษัท พี.จี.เอส. ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio-Technology) อันเป็นประโยชน์ต่อการกำจัดศัตรูพืชและเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ด้วยสนนราคา 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 18,750 ล้านบาท ทั้งนี้ อากรีโวหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง 2 บริษัทนี้จะเป็นตัวจักรที่สำคัญในการสร้างรายได้เข้าบริษัท

"ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เราจะเน้นหนักที่ยาปราบศัตรูพืช เราคาดหมายว่า ในปี ค.ศ. 2005 มูลค่าตลาดรวมของตลาดเมล็ดพันธุ์พืชที่เพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีนี้ของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 199.16 พันล้านบาท เพราะเทคโนโลยีนี้จะช่วยผลิตพืชที่ต้านทานต่อแมลง โรคเชื้อไวรัสของพืชต้านทานต่อสารเคมีปราบวัชพืช และช่วยเพิ่มผลผลิตและเราก็มีเป้าหมายที่จะเข้าไปครองส่วนแบ่งในตลาดให้ได้ 12% ในปี 2009" วิชัย ชีวกนิษฐ์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ เฮิกซ์ เชริง อากรีโว (ไทย) กล่าวถึงก้าวต่อไปของบริษัทหลังจัดเตรียมทัพเสร็จสรรพ

ปัจจุบัน อากรีโว จัดอยู่ในกลุ่ม Top 3 ของธุรกิจเคมีภัณฑ์ด้านการเกษตร และอนามัยสิ่งแวดล้อมโลก โดยเป็นรอง Ciba Geigy และ Monsanto ทว่าในตลาดไทย อากรีโวรั้งในอันดับที่ 6 ด้วยส่วนแบ่งตลาดเพียง 5.7% ตามหลังบริษัท ICI หรือ Zeneca ของอังกฤษที่ครองความเป็นเจ้าด้วยส่วนแบ่งตลาด 23% ถัดมาเป็นบริษัทอเมริกัน Monsato, Ciba Geigy แห่งสวิตเซอร์แลนด์, Dupont สหรัฐอเมริกา และ Rhone Poulence แห่งฝรั่งเศส ทั้งนี้ เป็นเพราะราคาผลิตภัณฑ์ของอากรีโวมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งรายอื่น ซึ่งทางกรรมการผู้จัดการของอากรีโว (ไทย) ก็ยอมรับในจุดนี้ พร้อมทั้งให้เหตุผลว่า

"ในบรรดาผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่ทั้งหมด ผลิตภัณฑ์บางตัวอาจจะเหมาะกับบางประเทศ แต่ไม่เหมาะกับบางประเทศ สำหรับตลาดไทยเรามีสินค้าที่เหมาะสมหลายประเภท แต่ราคาจะแอพงมาก และเราก็ไม่สามารถลดราคาสินค้าของเราลงได้ ซึ่งก็หมายความว่า เราไม่สามารถเข้าไปสู่ตลาดรวมที่ใหญ่ได้ ซึ่งตลาดนั้นถูกครอบครองโดย Zeneca หรือ ICI กับ Monsanto เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงต้องเลือกตลาดที่จะเข้าไปมีบทบาท ซึ่งตลาดยาปราบวัชพืชเป็นตลาดที่เราเลือก เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่แห่งหนึ่งในไทย"

ทั้งนี้ ดร.ธวัชชัย สิชฌวัตน์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยี อากรีโว (ไทย) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงศักยภาพของตลาดยาปราบวัชพืชในไทยอีกว่า การที่พื้นที่ทางการเกษตร และแรงงานในภาคการเกษตรของไทยลดน้อยลง อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลที่เน้นหนักการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรม ตามแนวทางสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่หรือนิกส์นั้น จะทำให้การเกษตรกรรมของไทยในอนาคตมีความเข้มข้นและทันสมัยมากขึ้น โดยจะให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และวัสดุ รวมถึงเทคโนโลยีที่จะนำเข้ามาใช้มากขึ้น ขณะเดีวกันการหดหายของแรงงานในภาคการเกษตรจะทำให้หญ้ากลายเป็นปัญหาสำคัญ เพราะมีการเจริญเติบโตรวดเร็วมาก และจะเป็นผลดีต่อธุรกิจยาปราบศัตรูพืช โดยเฉพาะในส่วนของยาปราบวัชพืชในที่สุด

"เราพยายามที่จะผลิตสินค้าที่สามารถใช้ในปริมาณที่น้อยลงแต่พื้นที่เท่าเดิม เพราะในอนาคตเราคิดว่า ตลาดในแง่ของปริมาณ (Volume) จะลดลงแต่จะเพิ่มขึ้นในแง่มูลค่า (Value) อย่างเมื่อหลายปีก่อน เราใช้ผลิตภัณฑ์เพียง 1-2 กก.ต่อ พื้นที่ 1 เฮกเตอร์ แต่ปัจจุบันเราใช้ไม่กี่กรัมเท่านั้นเอง" McDowell กล่าวเสริมถึงแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับราคาสินค้าของอารีโวจะเริ่มต้นตั้งแต่ 4-500 บาทขึ้นไป ซึ่งค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนา (R&D) ถือเป็นต้นทุนสำคัญที่มีผลต่อราคา โดยในแต่ละปีบริษัทจะจัดสรรงบประมาณไว้สูงถึง 11-12% ของยอดขายทั้งหมด (Turnover) เพื่อให้หน่วยงานนี้ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและติดตามความต้องการของตลาดโลก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด ในปีนี้งบด้าน R&D ของบริษัทมีมูลค่าสูงถึง 6,200 ล้านบาท จากยอดขายรวมทั้งโลก 51,690 ล้านบาท

"การที่ราคาสินค้าของเราแพงมากส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนของกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน ต้นทุนโรงงานในการผลิต และที่สำคัญต้นทุน R&D ดังนั้น สินค้าที่เราออกมาขายทุกวันนี้เราได้คิดต้นทุนตรงนี้เข้าไปด้วยส่วนหนึ่งมิเช่นนั้นเราก็ไม่สามารถอยู่ได้" M.D. คนเดิม กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้บริษัทยังตกเป็นรองคู่ต่อสู้อยู่จนถึงทุกวันนี้ ทว่าความยิ่งใหญ่ที่ได้จากการรวมตัวกันครั้งนี้ ทำให้เขาหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นปีที่ 5 ในตลาดไทยได้ภายในปี 2000 และ Zeneca จะเป็นคู่ต่อสู้ที่สำคัญที่สุด

สำหรับผลประกอบการของอากรีโว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกสร้างรายได้ให้กับกลุ่มมากเป็นที่ 2 รองจากสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 17% ของรายได้ทั้งหมด โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย ไทย ขณะเดียวกัน บริษัทก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนหักภาษีให้ได้ถึง 10% ในปี 1997 ซึ่งปัจจุบันอากรีโวทำได้เพียง 6-7%

สำหรับผลิตภัณฑ์ของอากรีโวที่จำหน่ายในไทยจะนำเข้าจากโรงงานผลิตต่างประเทศแล้วนำมาแบ่งบรรจุที่โรงงานในไทย (Formulation) โดยส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากโรงงานผลิตในเยอรมนี บางส่วนมาจากโรงงานที่อังกฤษ บราซิล และสหรัฐอเมริกา

แต่ตราบใดที่ข้อตกลงแกตต์ และข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือ TRIPs (Trade related Intellectual Property Issues) ยังไม่นำมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง หนทางข้างหน้าของอากรีโวในตลาดไทยก็คงไม่ราบรื่นนัก ดังเช่น ความในใจของ McDowell ที่บ่งบอกถึงความหนักใจในเรื่องนี้

"แกตต์จะช่วยทำให้ความลำบากของเราผ่อนคลายไป เพราะตอนนี้เราถูกจำกัดอย่างเข้มงวดด้วย กม.ธุรกิจต่างด้าวทำให้กิจกรรมหลายอย่างที่เราทำได้แต่เราไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันการแข่งขันก็ไม่ค่อยเป็นธรรม เพราะมีการลอกเลียนแบบสินค้ากันมาก โดยมีการลักลอบใช้ข้อมูลซึ่งเป็นส่วนผสมที่สำคัญในสินค้าแต่ละชนิดที่ได้มีการจดทะเบียนไว้ (registration data) กับทางราชการ เช่น สินค้าของเราตัวหนึ่งได้รับความนิยมมาก แต่ปรากฎว่า มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมากกว่า 300 ยี่ห้อ และมีราคาถูกกว่าเราเสียอีก ต่างจากฟิลิปปินส์ที่มีความเข้มงวดกับข้อมูลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมาก ผมคิดว่า กว่าที่จะมีการนำข้อตกลงแกตต์มาปฏิบัติใช้อย่างจริงจังคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.