|
'เกียรตินาคินฯ'คว้าหนี้บง.มหาสมุทรทุ่ม240ล้านบาทเพิ่มพอร์ตที่อยู่อาศัย
ผู้จัดการรายวัน(2 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กรมบังคับคดีเร่งขายหนี้ตกค้างของ 56 สถาบันการเงิน หวังลดความเสี่ยงให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ ด้าน "เกียรตินาคิน" ชนะประมูลลูกหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อพาณิชย์ของบง.มหาสมุทร จากกรมบังคับคดี ราคา 246 ล้านบาท ขณะที่บริษัทสำนักงานกฎหมายฯ คว้าหนี้เช่าซื้อของบง.เอกธนา ด้านกรมบังคับคดีฯ เตรียมขนหนี้ตกค้างของ 46 สถาบันการเงิน ขาย 16 ส.ค.นี้
แหล่งข่าวจากกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงความคืบหน้าความคืบหน้าการขายสิทธิ์เรียกร้องของ 56 สถาบันการเงิน ที่ถูกฟ้องล้มละลาย ตามนโยบายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ว่า ทางกรมฯได้มีการจัดการขายสิทธิ์เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง แต่ภาระหน้าที่ของทางกรมบังคับคดียังคงต้องดำเนินการต่อไป เพื่อนำรายได้จากการขายสิทธิ์เรียกร้องของลูกหนี้ให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งยังมีหนี้คงเหลือที่ต้องผลักดันออกไป โดยหนี้ในส่วนของบง.มหาสมุทรฯทางธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ชนะประมูลสิทธิ์เรียกร้องลูกหนี้ในส่วนของกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่อาศัยและเพื่อพาณิชย์ (กลุ่มที่ 1) และหนี้เช่าซื้อ รวมไปในราคาประมาณ 246 ล้านบาทเศษ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24% ของทุนทรัพย์ 1,771 ล้านบาท
ในส่วนของกลุ่มลูกหนี้เช่าซื้อ ได้มีการเปิดประมูลไปเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ได้แก่ บง.เอกธนา,บง.เอกธนกิจ ,บง.พรีเมียร์,บง.ไทยธำรงและบงล.ศรีมิตร โดยทางกรมฯ สามารถขายสิทธิ์เรียกร้องได้เฉพาะในส่วนของสองบริษัทเงินทุน ซึ่งทางบริษัทสำนักงานกฎหมายธนาสิทธิ์ จำกัด ชนะการประมูลเฉพาะในส่วนของสิทธิ์เรียกร้องเช่าซื้อของบง.เอกธนา ในราคา 7.2 แสนบาท หรือคิดเป็น 4% ของทุนทรัพย์ 22 ล้านบาทเศษ เนื่องจากลูกหนี้บางมีปัญหาในการท้วงหนี้ค่อนข้างเยอะ ซึ่งผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องมีการลงทุนเพื่อติดตามหนี้เหล่านี้อีกมากและต้องใช้เวลาที่นาน ขณะที่หนี้ของบง.เอกธนากิจ มีการจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ลูกหนี้จำนวน 6,000-7,000 ราย แต่ขายสิทธิ์ในกลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ 2,000 ราย ราคาขาย 2.4 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการประเมินทุนทรัพย์ที่ชัดเจน
"สำหรับ 3 บริษัทเงินทุนมีการงดขายออกไป เพราะมีลูกหนี้บางได้เสนอที่จะซื้อหนี้เฉพาะบางส่วน ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางของกรมบังคับคดีที่ต้องการจำหน่ายทั้งหมด ทั้งนี้ทางกรมฯ ตั้งใจว่าจะขายลูกหนี้ที่งดไปอีก 1-2 ครั้ง และหากยังคงเหลืออยู่คงต้องปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงปีงบประมาณ 2546 ถึงเดือนตุลาคม 2548 กรมฯสามารถขายสิทธิ์เรียกร้องตามมูลหนี้ที่อยู่อาศัยและเพื่อพาณิชย์และหนี้เช่าซื้อ 54 สถาบันการเงินได้แล้ว 13,098.542 ล้านบาท และได้นำรายได้จากการจำหน่ายทยอยชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ราคาขายเฉลี่ยที่ทำได้ระหว่าง 20-45% ถือเป็นตัวเลขที่สูงและทางกองทุนฟื้นฟูฯ ค่อนข้างพอใจ ขณะที่ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ ทางกรมฯ จะเปิดประมูลขายสิทธิ์เรียกร้องลูกหนี้ใน 46 สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นส่วนที่คงเหลือจากการประมูลในช่วงที่ผ่านมา จำนวน 300 รายเศษและรวมถึงลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้วไม่ปฎิบัติตามแผน
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกเหนือจากการจำหน่ายหนี้ในสถาบันการเงินต่างๆตามนโยบายแล้ว ทางกรมฯ ยังต้องรับผิดชอบลูกหนี้ที่มีมูลหนี้ตั้งแต่ 1 บาทถึง 25,000 บาท โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการท้วงหนี้แทนการจำหน่ายลูกหนี้ สาเหตุมาจาก ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกหนี้ดังกล่าวค่อนข้างสูง เช่น หากเป็นลูกหนี้ที่อยู่ปริมณฑลจะมีค่าใช้จ่ายต่อรายประมาณ 3,800 บาท ส่วนที่อยู่รอบนอกปริมณฑลประมาณ 7 ,000-8,000 บาทต่อราย หรือบางรายอาจจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 10,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่คุ้ม
"ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวทั้งเจ้าหนี้และกรมฯได้มีการหารือมานานแล้ว จึงมีมติให้งดการประมูล แต่ด้วยหน้าที่ของเจ้าพนักงานคงไม่สามารถจะเมินเฉยได้ เพียงแต่กระบวนการจะมีความต่างกัน โดยจะงดขายแต่มิใช่จะปล่อยให้สูญไปเลย ส่วนมากจะเป็นลูกหนี้เช่าซื้อประมาณ 2,000 ราย" แหล่งข่าวกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|