|
แอสคอนผนึกทุนจีนประมูลรถไฟฟ้าเล็งเพิ่มทุน300ล้านบาทรับบิ๊กโปรเจกต์
ผู้จัดการรายวัน(1 สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
"แอสคอน" ผนึกบริษัทจีนร่วมวงประมูลงานรถไฟฟ้าของรัฐบาลรักษาการ คาดเพิ่มทุนอีก 200-300 ล้านบาท ล่าสุดดึงเทคโนโลยี Dual Track ใช้ในโครงการคอนโดฯ ณุศาศิริ ร่นระยะเวลาก่อสร้าง 6 เดือน ประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ 40 ล้านบาท ด้านณุศาศิริตบรางวัลเร่งงานก่อสร้าง 10 ล้านบาท
นายพัฒนพงษ์ ตนุมัธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASCON เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทได้มุ่งพัฒนารูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลาย และกระจายความเสี่ยงโดยเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้มากขึ้น โดยรุกเข้าประมูลงานก่อสร้างของภาครัฐ เช่น โครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั้งหมด รวมถึงงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น
ทั้งนี้ การก่อสร้างข้างต้นต้องมีการร่วมทุนกับพันธมิตร (จอยท์ เวนเจอร์) ที่เน้นเทคโนโลยีและความชำนาญงานในด้านนั้นๆ อาทิ ถนน ,อุโมงค์, สะพาน, อาคารสูง, ระบบบำบัดน้ำเสีย, รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (MRT) รวมถึงโครงการโรงผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นการพิจารณางานของภาครัฐบาล ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ขณะที่ในปีก่อนหน้า บริษัทจะรับงานเอกชนเป็นหลัก
โดยในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าที่รัฐบาลจะเปิดประมูล 3 เส้นทาง คือสายสีแดง สายสีม่วง สายสีน้ำเงิน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มขายแบบและกำหนดเงื่อนไขการประมูล (TOR) ในเร็วๆ นี้ ซึ่งบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการดังกล่าว โดยได้ข้อสรุปจะร่วมทุนกับพันธมิตรจากต่างประเทศจีน เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการก่อสร้างรถไฟฟ้ามาก และได้ก่อสร้างรถไฟฟ้าภายในประเทศจีนเป็นจำนวนหลายสาย อีกทั้งยังมีหัวเจาะขนาดใหญ่กว้างกว่า 8 เมตร สามารถทำงานได้เร็วขึ้น โดยวางแผนเข้าไปร่วมทุนประมาณ 5-10%
"ส่วนพันธมิตรจากประเทศเยอรมนีขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจา หากสำเร็จก็อาจจะเข้าไปประมูลอีกสาย หรือไม่ก็ร่วมทุนทั้ง 3 พันธมิตร ส่วนรูปแบบในการเพิ่มทุนยังไม่ได้สรุปว่าจะขายแบบเฉพาะเจาะจง (PP) หรือทั่วไป (PO) ซึ่งถ้าขายแบบเฉพาะเจาะจงอาจจะขายให้ต่างชาติหรือกองทุนต่างๆ การเพิ่มทุนดังกล่าวจะพิจารณางานในมือด้วย บริษัทจะได้รู้จำนวนเงินที่ต้องการเพิ่มทุน หากได้ข้อสรุปก็จะจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเข้ามาช่วย ส่วนเม็ดเงินที่คาดว่าจะต้องใช้เพิ่มประมาณ 200-300 ล้านบาท" นายพัฒนพงษ์กล่าว
สำหรับการซื้อสิทธิในการดำเนินการรับงานก่อสร้าง (licence) จากผู้รับเหมาชั้นหนึ่งทางด้านงานทางและอาคาร ที่จดทะเบียนไว้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว 1 ราย แต่ยังไม่โอนมาในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่มีโครงการที่จะเข้าประมูล ซึ่งในสัญญาต้องโอนภายในไตรมาส 3 นี้ โดยจะซื้อยกทั้งบริษัท คิดเป็นการซื้อใบอนุญาต (ไลเซนต์) ไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนหนี้สินและทรัพย์สินมีมูลค่าใกล้เคียงกันประมาณ 30 ล้านบาท
"เราไม่รีบโอนมา เพราะตอนนี้ยังไม่มีงานเข้ามาให้ประมูลถ้ามีเราก็จะรีบโอน เพราะถ้าโอนมาแล้วเราจะต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยธนาคารในส่วนที่เป็นหนี้ เดือนละกว่า 2 แสนบาท แต่กำหนดโอนภายในไตรมาส 3 นี้" นายพัฒนพงษ์กล่าว
สำหรับเป้าหมายการดำเนินงาน บริษัทตั้งเป้ากระจายช่องทางการรับงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยมีสัดส่วนการรับงานเอกชน งานรัฐ และงานโรงงานเป็น 40%, 40% และ 20% ภายใน 1-2 ปีนี้ตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและฝีมือการก่อสร้างของทีมงาน ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ดีจะช่วยร่นระยะเวลาการก่อสร้าง เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากอาคารที่ก่อสร้างได้เสร็จเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งสามารถลดภาระดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้เพราะสามารถเปิดขายโครงการและโอนให้ลูกค้าได้ ซึ่งเหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่มีผลกระทบทั้งจากดอกเบี้ย และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
โดยปี 2549 ตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตของมูลค่างานในมือเพิ่มขึ้น 50 % จาก 2,000 ล้านบาท ที่มีอยู่ ณ ต้นปี ให้เป็น 3,000 ล้านบาท โดยทยอยรับรู้รายได้ตามแผนงานไปกว่า 400 ล้านบาท และในเดือนมิ.ย. บริษัทฯ ได้งานก่อสร้างบ้านธนารักษ์ นนทบุรี มูลค่างาน 494.9 ล้านบาท และในเดือนก.ค.มีการเซ็นสัญญาก่อสร้างเพิ่ม 4 งาน ส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Back Log) ล่าสุดมีทั้งหมดประมาณ 3,800 ล้านบาท ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการยื่นประมูลและโครงการที่ยื่นประมูลแล้ว รวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานราชการ เนื่องจากงานโครงการภาครรัฐจะมีมาร์จิ้นมากกว่าภาคเอกชน ขณะที่มาร์จิ้นจากงานภาคเอกชนมีประมาณ 10% ประกอบกับงานภาครัฐมีการรับรู้รายได้ที่แน่นอน
ล่าสุดบริษัทได้นำเทคโนโลยีงานก่อสร้างระบบ Dual Track ที่ใช้กับงานก่อสร้างอาคารสูง โดยนำระบบดังกล่าวมาใช้กับโครงการณุศาศิริ สุขุมวิท-เอกมัย แกรนด์ คอนโด จำนวน 2 อาคาร สูง 28 และ 22 ชั้น ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากกว่า 50% โดยเทคนิคดังกล่าวจะทำให้งานก่อสร้างเสร็จเร็วกว่ากำหนดเวลาถึง 6 เดือน โดยทาง ณุศาศิริ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนจะใช้เทคนิคดังกล่าวกับโครงการ คอนโด วอเตอร์ มาร์ค
"การนำเทคโนโลยีดังกล่าวบริษัทต้องลงทุนเพิ่มอีก 20 ล้านบาท โดยณุศาศิริเป็นผู้จ่ายให้ และหากเราสร้างเสร็จเร็วกว่ากำหนด 6 เดือนจะช่วยณุศาศิริประหยัดดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายธนาคารถึง 40 ล้านบาท แถมณุศาศิริยินดีแบ่งกำไรที่ไม่ต้องจ่ายธนาคารให้บริษัทอีก 10 ล้านบาทด้วย" นายพัฒนพงษ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|