"ยุ่น-ลอดช่อง"ดัชนีเชื่อมั่นทะยานลิ่ว"ไทย-กิมจิ"มุมมองเศรษฐกิจ"ดิ่งเหว"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(31 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"มาสเตอร์อินเด็กซ์" ในกลุ่ม "มาสเตอร์การ์ดเวิล์ดไวด์" สุ่มความเห็นผู้บริโภคแถบเอเชียแปซิฟิค 13 ประเทศ พบทัศนคติ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจมีทั้งบวกและลบ "ญี่ปุ่น-สิงคโปร์" รวมถึงเกาะฮ่องกง ดัชนีไต่ระดับอย่างน่าเหลือเชื่อ ขณะที่ "ไทย-เกาหลี" รวมถึงเกาะไต้หวัน ผู้คนกลับมองสวนทาง ทัศนคติต่อภาพรวมเศรษฐกิจเกือบจะเรียกว่า "ดิ่งนรก" แต่ก็ยังไม่ข้ามเขตแดน "วิกฤต"...

ผลสำรวจชิ้นนี้ของ มาสเตอร์อินเด็กซ์ เริ่มจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 15 พ.ค.-1 มิ.ย. 2549 ใน 13 ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิค รวมเวลากว่า 13 ปี โดยทำการสำรวจทุกกครึ่งปี เพื่อวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจจากความคิดเห็นของประชาชนเจ้าของประเทศในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยปีนี้พบว่าหลายประเทศมีทั้งทัศนคติด้านบวกและลบ

ดัชนีได้นำเอาตัวแปรที่ส่งผลกับภาวะเศรษฐกิจมาเป็นองค์ประกอบ อาทิ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ความไม่สงบของดินแดนตะวันออกกลาง ค่าเงิน โรคไข้หวัดนก และปัญหาการเมืองภายใน

นอกจากนั้น ยังมีการนำ 5 มิติหลักมารวมไว้ด้วย เช่น การจ้างงาน เศรษฐกิจ รายได้ประจำ ตลาดหุ้นและ คุณภาพชีวิต เพื่อประเมินผลจากคะแนน จากระดับปกติคือ 50 คะแนน มั่นใจ 100 คะแนน และ 0 คะแนนไม่มั่นใจ

หากแยกเป็นแต่ละประเทศ ญี่ปุ่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ ถือเป็นกลุ่มประเทศที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทะยานสูงสุด ญี่ปุ่นวิ่งมาที่ 68.9 เพิ่มจาก 63.0 คะแนน และเป็นครั้งที่มีผลออกมาเป็นบวก


ฝั่งของเกาะฮ่องกง กลายเป็นประเทศน่าจับตามอง เพราะแต้มสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 88.5 และยังจะสูงกว่านี้ ถ้าตัดเรื่องความกังวลเกี่ยวกับตลาดหุ้นที่จะได้รับผลกระทบจากตลาดหุ้นทั่วโลกออกไป และความเชื่อมั่นปีนี้ยังสูงเป็นประวัติการณ์นับจากสำรวจครั้งแรกในเดือนต.ค. 2536

ในดินแดนพญามังกร ความเชื่อมั่นลดลง จากเหตุผลสำคัญคือ ภาวะตลาดหุ้น และการจ้างงานที่ลดฮวบลง เห็นเด่นชัดคือ ในเซี่ยงไฮ้ ที่หล่นวูบจาก 37.5 มาเป็น 79.3 แต่คะแนนก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี(ดูตารางประกอบ)

เกาะมหัศจรรย์อย่างสิงคโปร์ ความเชื่อมั่นยังอยู่ในเกณฑ์ดีมาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีผลกระทบจากการแกว่งตัวของตลาดหุ้นทั่วโลก ที่ฉุดให้คะแนนเลื่อนลงเล็กน้อย แต่เทียบกับประเทศอื่น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งเศรษฐกิจ การจ้างงาน คุณภาพชีวิตและรายได้ประจำ

"ไทย" เป็นประเทศเดียวที่เข้าข่าย ดัชนีทรุดในลักษณะ "ดิ่งเหว"เป็นประวัติการณ์ เพราะผู้บริโภคขาดความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ คะแนนจึงร่วงลงมาที่ 28.06 จาก 47.9 และ60.4 ของปีก่อน (ดูตาราง) ต่ำกว่าช่วงวิกฤติการเงิน 2540-2541 ด้วยซ้ำ โดยครั้งนี้เป็นคะแนนต่ำสุดเป็นอันดับ 4 ในรอบสำรวจ 22 ครั้ง และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผลสำรวจที่ 57.4 อีกด้วย

ขณะที่ฝั่งออสเตรเลีย ผู้คนมีความเห็นในแง่ลบทุกด้าน ทั้งการจ้างงาน คุณภาพชีวิต ยกเว้นรายได้ประจำที่มีทัศนคติด้านบวก คะแนนจึงต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของตลาด

อินโดนีเซียความเชื่อมั่นเพิ่มเล็กน้อย ในมิติการจ้างงาน สภาพเศรษฐกิจ รายได้ประจำ และคุณภาพชีวิต แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

ในเกาหลี ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ผู้บริโภคมีทัศนคติด้านลบในทุกด้าน เหมือนกับไต้หวัน ทำให้ความมั่นใจหล่นวูบ ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสถิติเฉลี่ยที่ 53.1 อีกด้วย

มาเลเซีย ผู้บริโภคมั่นใจเล็กน้อย ความมั่นใจจึงร่วงลงมาจาก 6 เดือนก่อน และยังที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2544 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 75.1 ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันสูงขึ้น และการประกาศขึ้นค่าไฟที่ลดทอนความมั่นใจ

ในนิวซีแลนด์ดัชนีเพิ่มจาก 6 เดือนก่อน แต่ตัวเลขยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อย่างไรก็ตามทัศนคติต่อรายได้ประจำยังเป็นในแง่บวกที่ 85.8 แต่ด้านเศรษฐกิจและตลาดหุ้นกลับรูดมาที่ 25.2 และ 28.7 ตามลำดับ นอกจากนั้นการจ้างงานและคุณภาพชีวิตก็เป็นไปในแดนลบเช่นกัน

ฟิลิปปินส์ อาจจะต่างจากประเทศอื่นตรงที่ มีรายได้จากแรงงานในต่างประเทศส่งเข้าประเทศเป็นเงินดอลลาร์ และกลุ่มนี้ก็เป็นคนระดับฐานราก นอกจากนั้นการเมืองก็ค่อนข้างนิ่งขึ้น ผู้บริโภคจึงค่อนข้างข้างมั่นใจ ส่วนใหญ่มีทัศนคติบวกในทุกด้าน

ในรายของจีนไต้หวัน โดยรวมทัศนคติยังเป็นไปในด้านลบ แต่คะแนนจากตลาดหุ้นกลับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามดัชนีก็ต่ำกว่าปีที่แล้ว และติดอันดับ 5 ที่ต่ำสุดในรอบสำรวจ 27 ครั้ง โดยลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ย

ท้ายสุดเวียดนามวัดผลรวมได้ 89.6 อธิบายว่าผู้บริโภครู้สึกมั่นใจในทุกด้าน แม้ตัวเลขอยู่เกณฑ์ดี แต่ช่วง 6 เดือนความมั่นใจก็ลดลงเหมือนที่อื่นๆ....

มาสเตอร์อินเด็กซ์-ดัชนีวัดความเชื่อมั่นผู้บริโภค
- ออสเตรเลีย ไตรมาส 4 ปี 2548 49.8 ไตรมาส 2 ปี2549 46.5
- นิวซีแลนด์ ไตรมาส 4 ปี 2548 42.5 ไตรมาส 2 ปี2549 45.2
- ญี่ปุ่น ไตรมาส 4 ปี 2548 63 ไตรมาส 2 ปี2549 68.9
- เกาหลี ไตรมาส 4 ปี 2548 47.5 ไตรมาส 2 ปี2549 28.1
- จีน ไตรมาส 4 ปี 2548 82.3ไตรมาส 2 ปี2549 78.2
- ฮ่องกง ไตรมาส 4 ปี 2548 85.8 ไตรมาส 2 ปี2549 88.5
- ใต้หวัน ไตรมาส 4 ปี 2548 26.6 ไตรมาส 2 ปี2549 29.1
- ไทย ไตรมาส 4 ปี 2548 47.9 ไตรมาส 2 ปี2549 28.6
- มาเลเซีย ไตรมาส 4 ปี 2548 68.7 ไตรมาส 2 ปี2549 51.4
- สิงคโปร์ ไตรมาส 4 ปี 2548 74.8 ไตรมาส 2 ปี2549 73.9
- อินโดนีเซีย ไตรมาส 4 ปี 2548 39 ไตรมาส 2 ปี2549 42.4
- ฟิลิปปินส์ ไตรมาส 4 ปี 2548 28.9 ไตรมาส 2 ปี2549 51.9


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.