จุดเปลี่ยนราชการไทยหมุนตัวให้ทันทุกกระแส


ผู้จัดการรายสัปดาห์(31 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

- ความท้าทายใหม่ภาครัฐ 3 ปัจจัยดันหลังข้าราชการ วิ่งตามให้ทันโลกภายนอก
- "ก.พ." ปรับระบบงาน แปลงระบบเงินดึงคนใหม่ เสริมศักยภาพคนเก่า เดินหน้าเต็มกำลัง
- ผู้บริหารจริงใจ สร้างเยื่อใย ให้โอกาส หลักบริหารคนที่ไม่เคยตกยุค
- มองผ่านมุม 2 นักวิชาการ ความเหมือนและต่างราชการ-เอกชน

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เป็นตัวแทนของหน่วยราชการในการเลือกเฟ้นคนราชการยุคใหม่ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์

สเป๊กคนเก่งและเป็นคนดีของข้าราชการยุคนี้ ต้องมาพร้อมกับแนวคิดไม่ตกรุ่น ล้ำสมัยบ้างในบางคราว และหลายๆ ครั้งก็ต้องทันสมัย ปรับตัวตามได้ทุกกระแส

ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการ ก.พ. กล่าวว่า กระแสสังคมไทยที่มีผลต่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดมี 3 กระแส ได้แก่ 1. ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี 2. กระแสโลกาภิวัตน์บนโลกการแข่งขันไร้พรมแดน และ 3. กระแสบริโภคนิยม โดยกระแสดังกล่าวส่งผลกระทบใน 3 ระดับคือ ผลกระทบต่อการบริหารบุคคลในองค์กรธุรกิจ ผลต่อการบริหารบุคคลในหน่วยงานราชการ และกระทบต่อผลโดยรวมของประเทศ

สำหรับผลกระทบต่องานบริหารทรัพยากรบุคคลของหน่วยงานราชการ จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีปัญหามากยิ่งกว่าองค์กรธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนที่สัดส่วนของคนเก่ามากกว่าคนใหม่ และนานมาแล้วที่ผลตอบแทนของราชการต่ำกว่าผลตอบแทนของเอกชน แต่ค่านิยมในวงราชการที่ยังเหนียวแน่นคือเรื่องของความมีหน้ามีตาในสังคม และโอกาสสิทธิประโยชน์ที่มีมากกว่า

"อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคเอกชน มีผลให้งานในองค์กรเอกชนมีโอกาสก้าวหน้าเร็วกว่า ผลตอบแทนสูงมากกว่า คนรุ่นใหม่จึงไม่ได้ให้ความสนใจในงานราชการเท่าใดนัก"

ความสามารถของหน่วยราชการในการดึงดูดคนรุ่นใหม่เพื่อคัดเลือกคนเข้าทำงานที่ใช้เทคโนโลยีสูงและวิทยาการสมัยใหม่ จึงเกือบไม่มีเลย ไม่เว้นแม้แต่งานที่ไม่ใช้เทคโนโลยีก็ไม่สามารถดึงคนได้เท่า ผลก็คือ ในองค์รวมหน่วยงานราชการมีคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้อยกว่าองค์กรธุรกิจ และการปรับปรุงกระบวนการทำงานของราชการเพื่อตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้ทันนี้เอง มีผลให้ปริมาณคนรุ่นเก่าล้นเกินกว่าเนื้องาน และภาครัฐก็ต้องเริ่มมองหาทางลดกำลังคนลง

ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวอีกว่า ปัญหาของข้าราชการบางระดับถูกซ้ำเติมด้วยกระแสการบริโภคนิยม และความเจริญทางวัตถุ การเปลี่ยนแปลงค่านิยมของสังคมไทยอย่างรวดเร็ว ทำให้คนมีความต้องการในชีวิตมากเกินความจำเป็น ระบบการผ่อนชำระหนี้ในระบบราชการที่มีอยู่แล้ว เมื่อมีการปล่อยสินเชื่อสะดวกขึ้น ปัญหาหนี้สินของราชการไทยจึงเพิ่มสูงตามไปด้วย

ถึงเวลาที่จำเป็นจะต้องปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องกับตลาด การทำเช่นนี้นอกจากจะช่วยรักษาคนดีให้ติดกับหน่วยงานได้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในดึงดูดคนที่มีความรู้และความสามารถอันเป็นที่ต้องการด้วย รวมทั้งแก้ปัญหาที่คั่งค้างมานานของราชการไทยคือ หนี้สิน อาจจะไม่ได้ทั้งหมดแต่เป็นการลดภาระการผ่อนชำระได้ทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตามการปรับเงินเดือนของระบบข้าราชการอาจจะทำได้ไม่วูบวาบหวือหวาเท่ากับองค์กรเอกชน และหากคิดแต่เพียงว่าจะใช้เงินเดือนสูงๆ ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาก็คงไม่เพียงพอ เมื่อปรับเงินเดือน ก็ต้องปรับระบบการเลื่อนตำแหน่งที่เปิดโอกาสให้คนมีความเจริญก้าวหน้าได้เร็วขึ้น การใช้ระบบอาวุโสมิได้เป็นคำตอบที่ดีเสมอไปในระบบราชการสมัยใหม่ ความสามารถที่ควรคู่กับงานเป็นคำตอบที่ดีเสมอในทุกองค์กร การแก่ปีในอายุงานไม่ได้การันตีว่าคนแก่จะมีความชำนาญเสมอไป

สำหรับคนที่ตั้งใจเข้ารับราชการอยู่แล้วนั้น หากได้รับเงินเดือนที่สมน้ำสมเนื้อกับภาระที่ได้รับ สิ่งที่สำคัญที่จะซื้อความภักดีจากคนกลุ่มนี้ได้ก็คือ โอกาสในการเติบโตในการทำงาน คนเก่งที่เข้ามารับราชการความหวังก็เพื่อก้าวไปทำงานในระดับประเทศ มียศ มีศักดิ์ ดังนั้นการจัดตำแหน่งที่เหมาะสมกับงาน เพื่อให้เขาเหล่านั้นมองเห็นทางก้าวหน้าของตัวเองได้อย่างชัดเจน ก็เป็นตัวดึงดูดคนกลุ่มนี้ไว้ได้มากยิ่งกว่าเม็ดเงิน

"แน่นอนว่าการปรับค่าตอบแทนทางการเงินอย่างเดียวก็ไม่แน่ว่าจะสำเร็จ การให้โอกาสในการโชว์ศักยภาพในการทำงานได้เต็มที่เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องใส่ใจ ความมีเยื่อใยระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้อยู่ใต้บังคับ ที่สำคัญคือความจริงใจของผู้เป็นหัวหน้าซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยล้าสมัย การเป็นต้นแบบให้ลูกน้องได้เห็น จะเป็นการสืบทอดลงมาสู่ทุกระดับในองค์กร และผูกใจคนในองค์กรให้เกิดความรัก และมีภูมิต้านทานต่อการสูญเสียบุคคลที่มีความสามารถ"

อีกหนึ่งที่มีความจำเป็นต้องมีการปรับปรุงอย่างจริงจังในงานราชการ คือ ระบบงานและกระบวนการทำงาน หากเปรียบเทียบแล้วในองค์กรธุรกิจนั้น เมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ จะมีการปรับระบบและกระบวนการทำงานอย่างทันท่วงที แล้วจะสัมผัสได้ว่าการทำงานที่ทันสมัย จะทำได้ง่าย เสร็จไว และได้ผลเร็ว ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจร่วมงานด้วย สาเหตุที่องค์กรธุรกิจสามารถปรับตัวเรื่องนี้ได้ง่าย เพราะแก้ระบบได้โดยไม่ต้องรอผ่านกระบวนการกฎหมาย

"หน่วยงานราชการปรับระบบงานช้า เหตุผลเพราะกระบวนการกฎหมายหนึ่ง และแรงต่อต้านจากคนรุ่นเก่าที่ไม่ยอมรับระบบใหม่ด้วย"

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานต้องตั้งใจอย่างจริงจัง เพื่อปรับปรุงระบบและกระบวนการทำงานได้สำเร็จ ต้องใช้ความเป็นผู้นำผลักดันให้เกิดการปรับปรุงและใช้มนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการจูงใจคนรุ่นเก่ามิให้ต่อต้าน และชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องทำ และหากต้องการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามารับราชการในลักษณะที่ต้องใช้ความสามารถด้านเทคโนโลยี จะต้องมีระบบงานที่ดี แม้องค์กรจะไม่ได้คนที่ดีที่สุดมาทำงานก็ตาม ก็ยังสามารถทำให้งานเดินไปได้

การปรับระบบและกระบวนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่นั้น มีผลทำให้เกิดการลดขั้นตอนทำงานและลดงานของคนรุ่นเก่า การมุ่งพัฒนาเพื่อให้คนสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้จึงเป็นงานหนักของ HR

แต่ก็มิใช่ว่าคนทั้งหมดจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้ คนที่ปรับตัวไม่ได้ จึงกลายเป็นส่วนเกิน ราชการจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลข้าราชการเหล่านี้ สวัสดิการการรักษาพยาบาลหลังเกษียณก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องยังทำต่อไป ดูแลให้ได้รับเงินที่เพียงพอต่อการดำรงชีพตามอัตภาพ

และหากเป็นไปได้ควรให้ฝึกฝนทักษะพิเศษที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้มีทักษะในการรับงานเพื่อให้เป็นรายได้เพิ่มเติมได้อีกเมื่อปลดเกษียณออกไป สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นสิ่งท้าทายสำหรับผู้รับผิดชอบในหน่วยงานราชการอยู่ไม่น้อย

ทางด้าน ดร.สมภพ เจริญกุล ในฐานะกรรมการวางแผนพัฒนากำลังคน สำนักงานก.พ. ให้ความเห็นในอีกมุมหนึ่งของการพัฒนากำลังคนหน่วยงานราชการในยุคปัจจุบันว่า ต้องให้ความชื่นชม และยกผลประโยชน์ให้ทั้ง สำนักงานก.พ.และ ก.พ.ร. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความกระตือรือร้นมากที่พยายามทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการฝึกฝนคนของหน่วยงานราชการต่างๆ ได้อย่างเต็มสามารถ

ในปัจจุบันนี้หน่วยราชการเริ่มตื่นตัวเรื่องทรัพยากรบุคคลมากขึ้น ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับสังคม แนวโน้มต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างและระบบเงินเดือน

"ของพวกนี้จะปฏิวัติเสียทีเดียวก็ไม่ได้ ต้องค่อยๆ ปฏิรูป เพราะเรื่องคนเป็นเรื่องที่อ่อนไหว คนที่ใจร้อนทำไม่ได้ ในส่วนของนวัตกรรมเรื่องเทคโนโลยีเข้าไปปรับใช้ในการทำงานบ้างแล้ว เช่น E-learning เพราะข้าราชการมีทั้งประเทศ ให้ความสนใจเรื่องนี้มาก"

ความสามารถในการแข่งขันกับองค์กรเอกชนหลังจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานแล้ว หากหวังการทำงานที่คล่องตัวเฉกเอกชนหวังไม่ได้ 100 ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว หากเปรียบข้าราชไทยเป็นครอบครัว ก็เป็นครอบครัวขยาย ไม่ใช่ครอบครัวเดี่ยวเช่นเอกชน การตัดสินใจเป็นขั้นตอน

ความแตกต่างข้าราชการกับเอกชนอีกข้อหนึ่งคือ บริษัทจะเล็งผลที่เป็นกำไร เพื่อตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น แต่ข้าราชการจะเล็งแต่กำไรอย่างเดียวไม่ได้ เพราะหน้าที่ยังยึดกับการให้บริการประชาชน ซึ่งในบางหน่วยงานก็ไม่เกี่ยวกับรายได้ เปรียบเทียบไม่ได้เพราะภารกิจก็แตกต่างกัน

ทั้งหมดนี้จะปรับตัวทันหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหัวหน้าด้วยว่ามองการณ์ไกลแค่ไหน ให้การสนับสนุน แม้จะไม่คล่องตัวมากนัก แต่ศักยภาพของคนก็ต้องพัฒนา ระยะหลังก่อนที่จะมีการคัดคนเข้ามาระบบการรับคนของภาครัฐจะหนักแน่นมากขึ้น หาคนได้ตรงกับความสามารถได้ดีกว่า เป็นการกรองคนในระดับต้น ซึ่งกล่าวได้ว่าดีกว่าในบางองค์กรเสียอีก

เรียบเรียงจากงานสัมมนาเรื่อง บทบาทของงานบริหารงานทรัพยากรมนุษย์และกระแสสังคมไทย จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ โรงแรมแชงกรี-ล่า เมื่อกลางเดือน ก.ค ที่ผ่านมา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.