เปิดทาง 'ขนมไทย'จากเตาสู่ตลาดโลก


ผู้จัดการรายสัปดาห์(31 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

- จะทำอย่างไรให้ "ขนมไทย" เติบโตได้ในต่างแดน ?
- คำถามที่ภาครัฐและผู้ประกอบการกำลังตื่นตัวหาคำตอบ
- ผู้รู้เผยสูตรสำเร็จภาคทฤษฎีและปฏิบัติ หวังปูทางธุรกิจอย่างมีชั้นเชิง
- เมื่อแฟรนไชส์ไม่ใช่หนทางเดียว แล้วทางไหนที่เป็นทางเลือกที่เหมาะสม ?

เมื่อเร็วๆ นี้มีการพูดถึงขนมไทย อย่างเช่น ขนมครก หรือขนมเบื้อง จากแนวความคิดของปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่าน่าจะมีผู้ประกอบการไทยนำไปทำเป็นธุรกิจบุกไปขายชาวต่างชาติ อย่างเช่น ญี่ปุ่น ซึ่งชื่นชอบขนมแบบนี้ และเห็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศบุกมาโกยเงินคนไทยมากขึ้นทุกที จึงคิดจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนมไทยยกขบวนไปกวาดเงินจากต่างชาติเข้ามาในบ้านเรากันบ้าง

"ร้านขนมต่างชาติที่มาเมืองไทยขายไลเซ่นส์แพงมาก อยากปลุกกระแสขนมไทย แม้ว่าวันนี้ยังไม่อินเตอร์ แต่ช่วยกันทำให้คนไทยหันมาบริโภคแทนขนมฝรั่ง คนไทยมีฝีมือทำได้สวยและอร่อย เพราะฉะนั้น ต้องมาช่วยกันคิดว่าจะนำขนมไทยออกไปต่างประเทศจริงๆ ได้อย่างไรบ้าง"

และเตือนผู้ประกอบการที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ให้ตระหนักเรื่องเครื่องหมายการค้าว่า ถ้าโฆษณาชื่อบริษัทฯ แล้วต้องพ่วงเครื่องหมายการค้าเพื่อจะไม่ให้เสียโอกาส เช่น ร้านก.พาณิชย์ ขายข้าวเหนียวมูล สร้างชื่อเสียงมาจนดัง แต่จดทะเบียนการค้าและชื่อบริษัทเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนอื่นมาจดเครื่องหมายการค้าด้วยชื่อก.พาณิชย์ แล้วไปเปิดร้าน ร้านเดิมเกิดปัญหาแน่

นอกจากนี้ ยังมองในภาพกว้างเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยตระหนักถึงกฎหมายการค้าและป้องการการเสียประโยชน์ โดยการจดเครื่องหมายการค้า พร้อมทั้ง การใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วได้เกิดประโยชน์สูงสุด

แนะวิธีคิดอย่างมีระบบ

แต่การออกสู่ตลาดต่างประเทศต้องมีพื้นฐานธุรกิจที่ดีจึงจะไม่บาดเจ็บและประสบความสำเร็จกลับมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ประกอบการขนมไทยที่มักจะเป็นรายเล็กๆ แต่ถ้ามีความตั้งใจก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะพัฒนาศักยภาพ

"ผู้จัดการรายสัปดาห์" นำข้อแนะนำและตัวอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญจากงานเสวนา "แต่งตัวขนมไทยให้โกอินเตอร์" ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มานำเสนอ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ

สิทธิชัย ทรงอธิกมาศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาศักยภาพนักบริหาร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการธุรกิจและที่ปรึกษาบริษัทเอกชน แนะนำแนวทางการทำธุรกิจว่า ต้องตอบโจทย์ 3 ข้อ ให้ได้อย่างชัดเจนก่อน

สำหรับข้อแรก คือแนวคิดทางธุรกิจ (Business Concept) ซึ่งเรารู้ว่าแนวโน้มของโลกมุ่งไปสู่ความเป็นสากลหรือGlobalization แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการความเป็นเอกลักษณ์ด้วย ทำให้เห็นชัดว่าความเป็นชาตินิยมจึงมีความหมายมากขึ้นในปัจจุบัน และในแง่ของการตลาดจุดเด่นทางการตลาดหรือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขายได้

ข้อสอง การทำระบบ (Systematic) โดยการใช้ทักษะที่มีมาจากประสบการณ์ที่มีมากพอและสั่งสมอยู่ในตัว ซึ่งการทำระบบมาได้หลายทาง ทั้งจากการใช้รูปแบบวิธีการโดยมีเทคโนโลยี องค์ความรู้ หรือมุมมองที่มีกระบวนการทางธุรกิจ ทั้งกระบวนการผลิตและการขาย

"เราสามารถคิดหลักการว่าเมื่อเราต้องการทำให้เกิดระบบ เราสามารถคิดถึงสิ่งที่ไม่ต้องอาศัยความสามารถของมนุษย์มากเกินไปเพราะการเรียนรู้จะช้าลง แต่เราต้องนึกถึงการใช้เครื่องจักรในบางส่วน แต่จะปรับปรุงในกระบวนการขั้นไหน เช่น การเตรียมวัตถุดิบขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นการทำงานที่ง่ายกว่า ซึ่งยังคงเอกลักษณ์โดยไม่ต้องใช้คน"

จากระบบที่มีกระบวนการต่างๆ มากมายที่เรียนรู้ในขั้นตอนการผลิตซึ่งขึ้นอยู่กับความรู้ของแต่ละคน เป็นองค์ความรู้ที่ผู้ขายแฟรนไชส์เติมแต่งเข้าไป ซึ่งทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้

และข้อสาม ความสามารถในการทำกำไร (Profitability) อยู่ที่การจับคอนเซ็ปต์ของธุรกิจ ซึ่งต้องเรียนรู้วิธีการและกระบวนการของการลงทุนว่าจะต้องได้ปริมาณเงินกำไรที่มีมากพอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการขยายแบบแฟรนไชส์เพื่อโกอินเตอร์เท่านั้น แต่ยังมีแนวทางอื่น เช่น ถ้าสามารถทำให้ขนมบางประเภทเข้าไปเป็นออร์เดอร์ฟของร้านอาหารไทยทุกร้านในโลกได้ แค่นี้ก็มหาศาลแล้ว

เพราะฉะนั้น ที่สำคัญ คือ วิธีการในการเลือกทำโมเดลว่าต้องการจะดำเนินธุรกิจในรูปแบบไหน จะเป็นผู้ผลิต หรือเป็นเทรดดิ้ง หรือเป็นร้านค้า

"เรามีคอนเซ็ปต์มาจากตัวเอง มีระบบมาจากการเรียนรู้ แต่เราต้องอาศัยการปรับตัวหรือความสามารถในการแข่งขันเพื่อสร้างกำไรให้เกิดขึ้นได้"

อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่มีหลายแบบ เช่น ธุรกิจบางอย่างจำเป็นต้องมีรูปแบบเป็นร้านค้า ด้วยการจัดหาสินค้าเข้ามาจำหน่าย แต่มีอีกรูปแบบธุรกิจสำหรับผู้ผลิต คือ ผู้ที่เติบโตมาจากอุตสาหกรรมแต่เดิมอยู่แล้ว หรือผู้ที่มีแนวคิดจะทำเป็นอุตสาหกรรม ต้องเป็นเทรดดิ้งโมเดล

ยกตัวอย่าง ร้านรอยัลสวัสดี (Royal Sawasdee)ของบริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย มีลักษณะที่ผสมผสานกัน คือ การทั้งจ้างผลิต จัดหาสินค้าเข้ามาในร้านเอง และเป็นผู้ผลิตเอง มีทั้งสินค้าที่เป็นตราสินค้าของผู้ผลิตเองและการจ้างผลิตแล้วใช้ชื่อรอยัลสวัสดี เป็นโมเดลที่มีความหลากหลายในตัว ซึ่งหมายถึงสามารถทำให้เกิดการทำกำไรที่แตกต่างกัน

เมื่อดูภาพรวมร้านรอยัลสวัสดีเป็นเหมือนร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ถ้าภาครัฐจะส่งเสริมให้ส่งเสริมธุรกิจนี้มากๆ เพราะนี่คือตัวกลางที่เชื่อมให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ซึ่งผลิตได้แต่ไม่มีกำลังความสามารถในการขาย ทำให้ผู้ผลิตรายเล็กสามารถสร้างความแข็งแรงขึ้นมาก่อนเป็นการสร้างฐานเพื่อการเติบโต

ข้อสังเกต ขนมที่เติบโตเร็วต้องมีลักษณะของการเป็นสแน็กเพราะรับประทานได้มากและแทนอาหารได้ ถ้าเป็นขนมมีข้อจำกัดเรื่องการทานได้แค่เฉพาะหลังอาหาร นอกจากนี้ ตัวอย่าง ผู้ผลิตคุกกี้บางรายไม่สามารถขยายธุรกิจได้เหมือนธุรกิจแบรนด์ดัง เช่น ร้านมิสซิสฟิลด์ ก็สามารถขยายด้วยรูปแบบอื่น เช่น ร้านโอบองแปง ซึ่งขายทุกอย่างโดยที่ตัวเองเป็นเทรดดิ้งจากการนำสินค้าต่างๆ เข้ามา

ในขณะเดียวกัน ขนมไทยก็สามารถโกอินเตอร์ได้ โดยการจับกับแบรนด์หรือเครือข่ายของคนอื่นที่มีอยู่แล้ว เช่น ไปเป็นส่วนหนึ่งของร้านเครื่องดื่ม ซึ่งร่วมมือกันเป็นแฟรนไชส์ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบธุรกิจที่เลือกทำ อย่ายึดถือแค่คอนเซ็ปต์และระบบ แต่ต้องสามารถทำกำไรด้วย

สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ โอกาสทั้งหมดที่มีอยู่และเข้ามานั้น มีวิกฤตซ่อนอยู่ เนื่องจากเราอยู่ในการแข่งขันทางธุรกิจ โอกาสที่เราได้มาหมายความว่าเราต้องเข้าไปแข่งขันกับเขาด้วย สำหรับการขยายด้วยระบบแฟรนไชส์เป็นการสร้างคู่แข่งขันไปในตัว เพราะเรากำลังถ่ายทอดองค์ความรู้ไปด้วย เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะทำต้องมีการดำเนินการในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

จากคำถามว่า "ขนมครก" จะโกอินเตอร์ได้หรือไม่? ต้องดูว่า มี 3 องค์ประกอบหรือไม่ เมื่อแยกดู คอนเซ็ปต์ เมื่อมองว่ามีลูกค้า สามารถปรับรูปแบบขนม จากนั้น ทำระบบ เช่น สามารถทำกะทิโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ คงสูตรต่างๆ ได้ ขยายไปที่ไหนก็ได้ง่ายขึ้น แต่อย่าลืมเรื่องความสามารถในการทำกำไร เพราะถ้าร้านขนมครกขายเฉพาะขนมครก การทำกำไรจากขนมเพียงอย่างเดียว บิสิเนสโมเดลนี้จะอยู่รอดได้หรือไม่?

มาเปรียบเทียบดูว่า ทำไมร้านอย่างเช่น ดังกิ้นโดนัท ถึงอยู่รอดจนปัจจุบันมากว่า 50 ปี ? คำตอบ คือความสำเร็จมาจากรูปแบบขนมที่พัฒนาแล้วขยายออกมา ในขณะที่ โรตีบอย ซึ่งกำลังฮิตมาก แต่เท่าที่รู้คือ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ในประเทศที่ประสบความสำเร็จ ล้วนแล้วแต่ในช่วงเริ่มต้น วิเคราะห์ได้ว่าสิ่งที่เห็นในปัจจุบันคือความสำเร็จของเขายังเดินมาไม่หมด ข้างหน้าอาจจะเป็นความล้มเหลวซึ่งเกิดขึ้นแล้วในบางประเทศ สรุปได้ว่า ที่สำคัญ "ดังกิ้นโดนัท" มีความสามารถในการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ขณะที่ "โรตีบอย" ยังไปไม่ถึงจุดนี้

วิธีการมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทำไลเซ่นส์ การร่วมทุน หรือมาสเตอร์แฟรนไชส์ ผู้ประกอบการต้องรู้ความแตกต่างระหว่างอาหาร ขนม และของว่าง เช่น ผู้ประกอบการที่คิดจะขายทองหยิบทองหยอด โดยจะนำวิธีทำไปผลิตให้ลูกค้าเห็นแล้วยืนรอซื้อ ถ้ารอนานเกินไปสินค้าอย่างเดียว ให้ดูตัวอย่าง โรตีบอย ตอนแรกลูกค้ายืนคอยต่อแถวยาวและนานมาก แต่ตอนนี้เห็นได้ชัดว่าการรอคิวหายไป เพราะฉะนั้น ต้องมองให้ออกว่าโมเดลของธุรกิจนั้นๆ จริงๆ คืออะไร เพราะผลสำเร็จอยู่ในตัวเอง เมื่อของนั้นไม่สามารถพัฒนาได้ โมเดลของธุรกิจนั้นตอบอยู่แล้วว่าจะล้มในอนาคต

"สวัสดี" ชี้ทางเดิน

พีรวงศ์ จาตุรงคกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการประมาณ 400 ราย ซึ่งมีทั้งที่ผลิตสินค้าของตัวเองและผลิตให้กับรอยัลสวัสดี อย่างไรก็ตาม คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะนำพาธุรกิจของตนเองให้ก้าวไปสู่ตลาดสากลได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ประกอบด้วย

ข้อแรก การสร้างจุดเด่น โดยต้องเน้นความแตกต่าง มีเอกลักษณ์และรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งการจะสร้างจุดเด่นให้ได้นั้นก็เหมือนกับการที่ต้องมีคอนเซ็ปต์หรือแนวคิดที่แตกต่างเพื่อให้สามารถกำหนดตัวเองกับกลุ่มลุกค้าเป้าหมาย

ยกตัวอย่าง ร้านรอยัลสวัสดี ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารผู้โดยสารขาออก ระหว่างประเทศ สนามบินดอนเมือง เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ด้วยการสร้างจุดเด่นโดยการทำให้สิ่งที่ปรากฏออกมามีความเป็นสากลถึง 70% บวกกับความเป็นไทย 30% เน้นการนำเสนอความทันสมัยที่เป็นอินเตอร์ฯ มุ่งเจาะลูกค้าระดับพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นทั้งชาวต่างชาติและคนไทยที่มีกำลังซื้อสูง

สำหรับการใช้สีหลักของร้านเลือกใช้สีเขียวใบเตยเป็นสีเอกลักษณ์ เป็น theme ที่บ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของไทย ซึ่งขนมไทยโดยทั่วไปที่ใช้ชีเขียวมากมายอยู่แล้ว เช่น ขนมชั้น ขนมข้าวเหนียวแก้ว และวุ้น ทำให้สามารถสื่ออารมณ์ของความเป็นขนมไทยได้อย่างดี และสีขาวนวลของข้าวเป็นสีประกอบซึ่งหมายถึงความสะอาดมีอนามัยทีดีเพราะเป็นจุดอ่อนของขนมไทยที่คนจะรู้สึกว่าไม่ค่อยสะอาด

การใช้สีเป็นสัญลักษณ์ดังกล่าวเพื่อต้องการให้ความหมายว่าร้านรอยัลสวัสดีเป็นร้านขนมไทยที่สื่อความมีสุขภาพดี รู้สึกมีชีวิตชีวา มีความเป็นมิตร โดยชุดของพนักงานที่ร้านก็ใช้สีเขียว-ครีมมีความสอดคล้องกันไปด้วย เพื่อสร้างความแตกต่างให้เห็นชัดจากร้านขนมไทยแบบเดิมๆ

ซึ่งแต่เดิมคนทั่วไปที่คิดถึงขนมไทยมักจะคิดถึงสีเหลือง โดยเชื่อมโยงมาจากทองหยิบทองหยอด ทำให้อารมณ์ที่สื่อออกมาเป็นแบบนั้น และมักจะใช้เป็นเอกลักษณ์ของขนมไทย

"แต่การจะมาถึงจุดนี้ต้องคิดอย่างมีระบบ วิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าภาพรวมของตลาดเป็นอย่างไร และนำไปสู่การวิเคราะห์ตัวเอง ซึ่งกระบวนการเริ่มต้นต้องย้ำว่าคอนเซ็ปต์ต้องชัดเจน เพราะจะเป็นกลไกกำหนดสิ่งที่ตามมาคือการสร้างการเพิ่มคุณค่า ว่าจะทำได้อย่างไร จากสิ่งใดบ้าง"

ข้อที่สอง การเพิ่มคุณค่า โดยการเพิ่มคุณประโยชน์และบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมกับตลาดและลูกค้า รวมถึงตัวสินค้าที่มีคุณภาพ

"การเพิ่มคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มคุณประโยชน์ให้กับสินค้า เพราะเมื่อมีคอนเซ็ปต์ในเรื่องสุขภาพและอนามัย หรือ healthy & hygene สินค้าเราต้องเป็นอย่างนั้นด้วย ทำให้สินค้าขนมไทยที่นำเสนอต้องมีความสะอาด เก็บได้นานมากขึ้น มีบรรจุภัณฑ์ที่นอกจากจะดูสวยแล้วยังช่วยยืดอายุสินค้าได้ด้วย รวมทั้งความสะดวกทุกอย่าง ทั้งการเก็บรักษา การใช้งาน ทุกอย่างจะสอดรับไปหมดกับคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ ซึ่งหระบวนการคิดนี้เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญ"

ยกตัวอย่างเช่น มีการนำข้าวแต๋นน้ำแตงโมมาเพิ่มคุณค่าโดยการทำเป็นคานาเป้ เช่น ใส่หน้ากุ้งราดมายองเนส , หน้ากล้วยหอมราดช็อคโกแลต , หน้าผลไม้ต่างๆ ซึ่งเป็นการสอนวิธีกินใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค ได้เห็นถึงความแปลกใหม่และคุณประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น

ทั้งคุณค่าในการโภชนาการและในเชิงการสร้างสรรค์ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นทันตา และเชื่อว่าต่อไปผู้บริโภคจะนำไปดัดแปลงเองและสะท้อนกลับมาเป็นแฟชั่นใหม่ เป็นการรับประทานด้วยความสนุกอีกด้วย ทำให้ขนมไทยมีสีสันและมีชีวิตชีวามากขึ้น ธุรกิจจึงเกิดความสามารถในการทำกำไรจากการเพิ่มคุณค่า

และ3.การพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ทุกอย่างในธุรกิจ ซึ่งก็คือการสร้างระบบที่แตกต่างกันไป เช่นถ้าผุ้ประกอบการเน้นในการพัฒนาสินค้า อาจจะต้องพัฒนาให้เกิดความหลากหลาย เช่น ขนาด รูปลักษณ์ ที่เปลี่ยนแปลงให้โดดเด่น มีการใส่นวัตกรรม ทำให้ดูมีสไตล์แปลกใหม่ต่างจากที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ

ในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์แต่ละตัว เช่น เพิ่มรสชาติและรูปแบบหลากหลายให้ข้าวแต๋นจากเดิมมีรสเดียวหรือแบบเดียว หรือ การพัฒนาตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น สำหรับเด็กใส่สีสันมากขึ้น หรือคนสูงอายุต้องไม่แข็งเกินไป

ตลอดจนรวมทั้งระบบบริหารจัดการ และการบริการ เพราะบางอย่างเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การวางตำแหน่งทางการตลาดในกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน เช่น ลูกค้าที่ชอบรับประทานระหว่างเดินทาง การออกแบบขนมและบรรจุภัณฑ์ก็ต้องสอดรับ ซึ่งยังไม่มีใครพัฒนาขนมไทยที่มีลักษณะเป็นน้ำสำหรับรับประทานได้ในรถ หรือไอศกรีมสำหรับหิ้วกลับไปทานที่บ้านได้คนเดียว ซึ่งที่มีอยู่มีสำหรับหลายคน ซึ่งในจุดนี้ยังเป็นช่องว่างอยู่ ขึ้นกับว่าระบบที่จะทำจะตอบโจทย์ใหม่ๆ เหล่านี้หรือไม่

พีรวงศ์ สรุปข้อแนะนำผู้ประกอบการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น ให้ใช้หลักการตลาดพื้นฐาน 4 P คือ Product โดยตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะขายสินค้าอะไรให้ใคร และทำอย่างไรให้สินค้าขายได้ เพราะถ้าผลิตภัณฑ์มีความเข้มแข็งพอ Price ไม่ใช่ประเด็นปัญหา เพราะจะมีกลุ่มลูกค้ารองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการมุ่งไปที่การเพิ่มคุณค่าทำให้ในภาพรวมแนวโน้มราคาย่อมจะขยับขึ้น เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญตามมาคือ Place การขยายช่องทางจำหน่ายให้เข้าถึงผู้บริโภค ส่วน Promotion ในวันนี้การแข่งขันสูง ต้องไม่ทิ้งแน่ แต่ขอย้ำว่าน้ำหนักที่จะให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ตัวผลิตภัณฑ์

แม้ว่าในปัจจุบันขนมไทยจะออกไปในตลาดโลกบ้างแล้ว แต่เป็นเพียงจุดเล็กๆ

โดยภาพรวม ยังเห็นไม่ชัดถึงความพร้อมของผู้ประกอบการไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายเล็กๆ ที่จะก้าวไปสู่ตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน แต่การจุดประกายและแนะแนวทางน่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.