“กสท”เจรจา“ฮัทช์”ร่วมปีไม่มีข้อยุติ เหตุแบกหนี้4หมื่นล.จากบริการ25จว.


ผู้จัดการรายวัน(31 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

กสท เผยเหตุเจรจาฮัทช์ยื้อร่วมปี เกิดจากฝ่ายร่วมทุนอ้างแบกรับหนี้จำนวน 40,000 ล้านบาท จากการทำตลาด ซีดีเอ็มเอ 25 จังหวัด ใช้เป็นเกมขอต่อรองลดหนี้ ก่อนฝ่ายบริหารเร่งแผนเจรจาฮัทช์แล้วเสร็จก่อนเปิดนำร่องซีดีเอ็มเอบางพื้นที่ ตุลาคมนี้ หวังใช้บริการบนแบรนด์เดียวต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม เปิดเผยว่า ปัญหาการเจรจาระหว่าง กสท กับ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ที่ใช้เวลานานเกือบครบปี จนไม่สามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวบนผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันได้ เนื่องจากฮัทช์ไม่อยากแบกรับหนี้จำนวน 40,000 ล้านบาท จากการทำตลาด ซีดีเอ็มเอ 25 จังหวัด กรุงเทพฯ ไว้เองทั้งหมด จึงนำมาเป็นข้อต่อรองในการเจรจาเพื่อทำการตลาดซีดีเอ็มเอร่วมกับ กสท. ทั่วประเทศ

กสท. จะดำเนินการเจรจากับฮัทชิสัน ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนตุลาคมนี้ เพราะมีแผนเริ่มนำร่องเปิดบริการระบบซีดีเอ็มเอ ในบางพื้นที่ ก่อนเริ่มเปิดบริการเต็มรูปแบบในต้นปี 2550 หรือหลังทำการส่งมอบโครงข่าย จาก บริษัท หัวเหว่ย เพื่อให้ประชาชนได้จดจำและไม่เกิดข้อสับสนต่อบริการซีดีเอ็มเอ ทั้งในส่วน 25 จังหวัด และ 51 จังหวัด ด้วยการเปิดให้บริการ 2 ชื่อ (แบรนด์) โดยทั้งสองบริการอยู่ภายใต้การดูแล ของ กสท หากเทียบกับการให้บริการอยู่ภายใต้แบรนด์เดียวกันทั่วประเทศ

หากไม่สามาถเจรจาได้ตามกำหนดดังกล่าว กสท ก็จะเดินหน้าให้บริการซีดีเอ็มเอ นำร่องในเดือนตุลาคมนี้ จะใช้แบรนด์ของกสท เอง ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการพิจารณาไว้แล้วล่วงหน้า อาทิ แคท ซีดีเอ็มเอ, แคท ซูเปอร์ ซีดีเอ็มเอ เพราะหากยังรอจะทำให้ยืดเยื้อนานเกินไป อาจจะส่งผลต่อการลงทุนและรายได้ในการเข้ามาเสริมทดแทนธุรกิจโทรระหว่างประเทศ โดย กสท มีเป้าหมายให้บริการซีดีเอ็มเอ สร้างรายได้อยู่ในสัดส่วน 40% ของรายได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การหาข้อสรุปที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย หรือทางออกที่ดี ต่อการหาข้อสรุปที่ให้เกิดสามารถลงตัวได้ จะเป็นผลจากอุปสรรคในแง่ของความเป็นรัฐวิสาหกิจ และข้อสัญญาร่วมการงานที่ กสท จะต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐไว้ให้ได้มากที่สุด ถึงแม้ฮัทช์จะหาทางออกในด้านนำเงินไปชำระหนี้ไปบ้างบางส่วน และนำหนี้ที่เหลือมาไว้กับบริษัทใหม่ที่ถือหุ้นร่วมกันแล้วช่วยกันชำระก็สามารถทำได้ แต่ กสท อาจจะติดปัญหาว่าทำให้บริษัทเสียหาย ที่ไปแบกหนี้ช่วยฮัทชิสัน เพราะในสัญญาร่วมกันระบุว่าหนี้ที่เกิดจากการทำการตลาดนั้น กสท ไม่ต้องรับผิดชอบจึงส่งผลให้การเจรจาออกมายืดเยื้อและเกิดความล่าช้าล่าช้า

"หาก กสท ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจการเจรจาทำการตลาดซีดีเอ็มเอทั่วประเทศกับฮัทชิสันนั้นคงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการตกลงให้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐาน ตามข้อตกลงทางกฎหมาย การรักษาประโยชน์ของรัฐ การรักษาประโยชน์ของประชาชน ที่นำเอาเงินภาษีมาลงทุนและเปิดให้บริการเป็นทางเลือก"

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในข้อสัญญาทางฝ่ายฮัทชิสันได้ทราบดี ในแง่ของการเป็นผู้ร่วมการงาน และการลงทุน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การให้บริการในพื้นที่ 51 จังหวัด ทาง กสท ก็ได้เตรียมแนวทางให้ฮัทช์เข้ามาเป็นผู้ทำการตลาด เหมือนในส่วน 25 จังหวัด โดยได้มีการปรับรูปแบบให้ฮัทช์เกิดความคล่องตัวขึ้น และได้รับสิทธิประโยชน์ต่อการให้บริการร่วมกัน ซึ่งฮัทช์ไม่ควรนำเรื่องนี้มาเป็นข้อต่อรอง

สำหรับการทำเจรจากับฮัทชิสัน มีหลายข้อเสนอหรือการหาทางออกเพื่อให้สามารถหาข้อตกลงกันได้ เช่น การนำทรัพย์สินของทั้ง 2 บริษัท มาตีมูลค่า ซึ่งจะต้องเป็นคนที่เป็นกลาง แล้วนำมูลค่าดังกล่าวมาตีเป็นมูลค่าหุ้น เพื่อแบ่งเป็นสัดส่วนการถือหุ้นของแต่ละฝ่าย และแบ่งผลประโยชน์กันตามสัดส่วนหุ้น และเมื่อมีการลงทุนก็ต้องลงทุนตามสัดส่วนหุ้น หากฝ่ายใดไม่ลงทุนก็จะถูกลดสัดส่วนหุ้นลงตามปกติ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.