|
สถานีโทรทัศน์ไทย แก้เกมสู้ศึก 7 สี วิ่งหาเด็ก ไอทีวี พร้อมเป็นสถานีข่าว
ผู้จัดการรายสัปดาห์(31 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากเอเจนซี่โฆษณาและคนวงการสื่อสารการตลาดบ่นอุบว่ายอดตัวเลขโฆษณาผ่านอะโบฝเดอะไลน์ดิ่งเหว โดยเฉพาะเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์หดตัว เพราะลูกค้าระวังการใช้เงินสูงมาก ทำให้สถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเตรียมพลิกตำราแก้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว และภาวะทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ทั้งผุดรายการใหม่เมื่อขยายกลุ่มคนดูให้มากขึ้น หรือร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ในแถบอินโดจีนเพื่อชิงความเป็นหนึ่งและตอกย้ำความเป็นสถานีข่าวให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ล่าสุด ยักษ์หลับอย่างช่อง 7 สี ภายใต้การบริหารงานของสุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ยอดการโฆษณาของสถานียังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ แม้จะมีอัตราการเติบโตเล็กน้อย แต่ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ช่อง 7 มีอัตราการเติบโตถึง 7-10% และมีเรตติ้งเป็นอันดับ 1 โดยมีส่วนแข่งตลาดถึง 48% ของสถานีโทรทัศน์ไทยทั้งหมด แต่เพื่อรักษาอัตราการเติบโตนี้ต่อไปในครึ่งปีหลังนี้ ช่อง 7เตรียมจะขยายฐานคนดูในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นให้มีมากขึ้น โดยจะเน้นไปที่กลุ่มคนดูตั้งแต่ช่วงอายุ 4-14 ปี พร้อมผลักดันรายการที่มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมสูงจากผู้ชม เช่น ซีรีส์เกาหลี ละครช่วงไพรมไทม์ มาลงจอเพื่อรักษาแชมป์เรตติ้งอันดับ 1 ในวงการโทรทัศน์ไทย
"ช่วงครึ่งปีหลังช่อง 7 วางแผนงานโดยจะเน้นที่คุณภาพในการผลิตและคัดเลือกรายการให้มีเข้มงวดมากขึ้น เพราะเม็ดเงินจากการโฆษณาในตลาดมีน้อยลง หากสถานีโทรทัศน์ช่องใดเรตติ้งไม่ดี ก็จะถูกต่อรองราคาจากกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ทำให้ต้องโหมทำโปรโมชั่น แถมอีก 4-5 สปอต ต่อ 1 สปอตในช่วงไพรมไทม์ ทำให้ช่วงนี้กลายเป็นตลาดของผู้ซื้อเวลาโฆษณาอย่างแท้จริง" สมพงษ์ อัชานุเคราะห์ ผู้จัดการฝ่าย การตลาด บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุกล่าว
สำหรับสถานการณ์ในช่วงนี้ ทำให้พอคาดเดาถึงปีหน้าได้ว่า น่าจะรุนแรงกว่านี้ เพราะตัวเลขในเดือนกรกฎาคมนี้ แม้ว่าจะมีสปอตโฆษณาช่วงไพรม์ไทม์ของสถานียังเต็มอยู่ แต่ไม่ล้นเหมือนช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ รวมไปถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น รวมไปถึงภาวะทางการเมือง ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้จะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดด้วย ทำให้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ในปี 2550 น่าจะทรงตัวไม่มีการเติบโตใด ๆ สมพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม ช่อง 7 พร้อมสู้ศึกในสนามของรายการข่าว เพื่อโกยเรตติ้งรายการแนวนี้แข่งกับสถานีอื่น ๆ โดยจะปรับผังรายการข่าวเช้า ให้กระชับแน่น ฉับไว พร้อมปั้นผู้ประกาศข่าวหน้าใหม่ 4-5 คนขึ้นมาสร้างสีสันให้กับรายการ โดยปัจจุบันนี้สัดส่วนของรายการในสถานีแบ่งเป็น 70% เป็นรายการบันเทิง 20% เป็นข่าวและสาระ และสุดท้าย 10% เป็นรายการสำหรับเด็กและเยาวชน อนึ่ง การหันมาให้ความสำคัญกับรายการประเภทข่าวของช่อง 7 นี้ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของไอทีวีที่จับมือกับสถานีโทรทัศน์ข้ามชาติ เพื่อครองความเป็นสถานีข่าวอันดับหนึ่งของประเทศ
เป็นสถานีข่าวก็ได้ ! ไอทีวีปั้น 'MCTV'สู้
ด้านสถานีโทรทัศน์ไอทีวี หลังจากศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และให้ไอทีวี กลับไปกำหนดผังรายการให้เป็นการนำเสนอข่าว และสาระบันเทิง เป็นสัดส่วน 70 : 30 แม้ในขั้นตอนทางศาล จะยังอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ แต่ล่าสุด สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เหมือนกับยอมรับว่าแนวโน้มการตัดสินคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง หันไปเดินเครื่องพัฒนารายการข่าว โดยจับมือกับ 3 สถานีโทรทัศน์ แถมลุ่มแม่น้ำโขง กัมพูชา ลาวและเวียดนาม เปิดโครงการ Mekong Community TV (MCTV) เพื่อสร้างเครือข่ายการรายงานข่าวระดับภูมิภาคขึ้นเป็นครั้งแรก ตอกย้ำภาพความเป็นสถานีข่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
พันธมิตรที่ ไอทีวีเลือกจับมือด้วยแต่ละราย เช่น TV5 จากราชอาณาจักรกัมพูชา, LNTV (Laos National Television) จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, HTV (Ho Chi Minh City Television) จากสาธารณรัฐสังคมนิยมมเวียดนาม ล้วนแล้วแต่เป็นสถานีโทรทัศน์ของภาครัฐบาลและเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในแต่ละประเทศ เช่น ช่อง HTV ของเวียดนามนั้น เป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดสถานีหนึ่งของเวียดนาม และเป็นสถานนีที่มีเรตติ้งสูงสุดอีกด้วย โดยเนื้อหาทั้งหมดของช่องจะเน้นเกี่ยวกับ เศรษฐกิจ ธุรกิจและรายการบันเทิง พร้อมกับมีสตูดิโอการผลิตเป็นของตัวเองด้วย นอกจากนี้ยังมีเตรียมแผนที่จะพัฒนาตัวเองเข้าสู่ระบบดิจิตอลในอนาคตอีกด้วย
"วัตถุประสงค์หลักของการร่วมมือทำโครงการนี้ก็เพื่อ 1. สร้างความร่วมมือระหว่างสถานีโทรทัศน์ทั้ง 4 ช่อง 2.แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านข่าวกีฬา สารคดี การมือง วัฒนธรรมบันเทิง และสถานการณ์ต่าง ๆ 3.แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การฝึกอบรมบุคลากร 4. ร่วมมือกันสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์รูปแบบใหม่" ทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการผู้จัดการ ไอทีวี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการตั้ง MCTV
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาความต้องการบริโภคข่าวสารและสถานการณ์ต่าง ๆ ในแถบประเทศเพื่อนบ้านยังมีปริมาณน้อยอยู่ เพราะทุกสถานีโทรทัศน์ของไทยต่างให้ความสำคัญไปที่ข่าวทางประเทศซีกตะวันตกมากกว่า โดยก่อนหน้านี้มีแหล่งข่าวคนหนึ่งในไอทีวีกล่าวว่า แม้ว่าข่าวในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา สำหรับคนดูไทยจะยังมีความต้องการน้อยมาก แต่เชื่อว่าการนำเสนอข่าวเหล่านี้จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคต
ทุกครั้งที่ไอทีวีและอีก 3 สถานีโทรทัศน์ระดับชาติในแถบลุ่มแม่น้ำโขงมีการแลกเปลี่ยนคอนเทนต์กัน แบรนด์ของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีจะไปปรากฏบนสายตาคนดูกว่า 150 ล้านคนใน 4 ประเทศ ทว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวีนั้นจะนำเสนอข่าวสารรูปแบบต่าง ๆ ผ่านทางรายการไอทีวีฮอตนิวส์ โดยจะเปิดหรือเพิ่มเวลาข่าวของเพื่อนบ้านให้มากขึ้น รวมไปถึงข่าวภาคค่ำของไอทีวีด้วย
แม้หลายฝ่ายจะตั้งข้อสังเกตว่า การรุกเข้าจับมือกับ 3 สถานีโทรทัศน์ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง จะเป็นการเตรียมตัวขึ้นแรกของการปรับผังรายการ หากมีคำสั่งศาลชี้ชัดออกมา โดยเพิ่มสัดส่วนรายการข่าวและสาระ 70% บันเทิง 30% นั้น แต่แหล่งข่าวระดับบริหารของไอทีวีที่อยู่ในงานเปิดตัวความร่วมมือนี้ ยังปฏิเสธว่า "จริงๆ แล้วเรื่องการจับมือกับ 3 สถานีโทรทัศน์นั้น ทางเราได้พูดคุยหารือมาเป็นเวลา 1-2 ปีแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีปัญหากันอีก ดังนั้นจึงไม่ใช่แผนการ เตรียมรับมืออย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์กัน"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|