แบงก์เล็งปรับเป้าจีดีพีปีหน้าชี้การเมืองนิ่ง-ศก.โลกหนุน


ผู้จัดการรายวัน(31 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นักวิชาการชี้แบงก์ชาติปรับประมาณการเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป คาดอัตราเงินเฟ้อช่วงไตรมาส 3-4 ยังไม่ขยับลงมากนักจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง พร้อมเตรียมปรับประมาณการจีดีพีในปีหน้า คาดในช่วงปลายปีนี้-ปีหน้าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจน

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐกรอาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาอยู่ที่ระดับ 4-5% จากเดิมอยู่ที่ 4.25-5.25% ถือว่าปรับไม่เยอะ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งการปรับมาอยู่ในระดับดังกล่าวก็ไม่แตกต่างกับที่หลายฝ่ายและหลายหน่วยงานคาดการณ์เอาไว้เฉลี่ยที่ระดับ 4% อยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เศรษฐกิจในช่วงปีหน้า ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนเรื่องการเมืองมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ดีขึ้นกว่าปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าสิ่งที่ต้องจับตาดูเป็นอย่างมากมาจากปัจจัยจากต่างประเทศ ทั้งเรื่องราคาน้ำมัน และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีหลายประเทศจะลดความร้อนแรงเศรษฐกิจ อาจจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวลง แต่จะมีการชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่ และการส่งออกยังจะเติบโตได้ดีอีกไหนและจะกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างไรบ้าง

“สิ่งที่ต้องจับตาดูในช่วงปีหน้า คือ ราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและจีนจะมีวิธีการลดความร้อนแรงของการขยายตัวเศรษฐกิจมากเกินไปอย่างไรบ้าง ซึ่งประเทศสหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว ทำให้ในช่วงปีหน้าจะเป็นช่วงดูผลลัพธ์ว่าเศรษฐกิจจะได้รับผลการลดความร้อนแรงได้แค่ไหน”

นางสาวอุสรา กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) ตั้งแต่ต้นปีมีการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ระดับ 4.1% และปีหน้าอยู่ที่ระดับ 5.2% โดยปีนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ไว้ เมื่อดูภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันก็สอดคล้องกับความเป็นไปได้ที่ประเมินไว้ แต่อาจจะมีการทบทวนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า เพราะเศรษฐกิจน่าจะได้รับอนิสงค์จากปัจจัยต่างๆ ที่ดีต่อเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้และส่งผลให้ปีหน้าเติบโตได้ดีขึ้น ด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็เชื่อว่าจะหยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่จะมีขึ้นครั้งต่อไปวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ที่ระดับ 5.25%เท่านั้น

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการโครงการการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การที่ธปท.ปรับลดประมาณการณ์ดังกล่าวเนื่องจากเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในระดับที่สูงขึ้น โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับธปท.จะพิจารณาอัตราเงินเฟ้อเป็นหลักในการปรับประมาณการเศรษฐกิจโดยหากอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่สูงธปท.ก็อาจจะต้องคงอัตราดอกเบี้ยต่อไป

“เงินเฟ้อในครึ่งปีหลังไม่น่าจะปรับลดลงมามาก เชื่อว่าน่าจะทรงตัวแล้วโดยเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 5.5-6%โดยเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน เนื่องจากแบงก์ชาติจะดูแลเงินเฟ้อเป็นหลัก”

ทั้งนี้ จากปัจจัยทางการเมืองที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเชื่อว่าในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้บรรยากาศในการลงทุน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเริ่มกระเตื้องขึ้น แต่ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐานอาจจะส่งผลกระทบบ้าง ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มเห็นความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น ส่งผลให้มีการเตรียมขยายการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับประชาชนเริ่มมีความมั่นใจกล้าที่จะใช้จ่ายมากขึ้น

สำหรับปัจจัยภายนอกนั้นคาดว่าในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกหรือไม่คงต้องพิจารณาจากเศรษฐกิจก่อนเนื่องจากในปัจจุบันเศรษฐกิจของสหรัฐก็ยังอยู่ในระดับที่ดีอยู่ การใช้จ่ายของประชาชน ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยนั้นเชื่อว่าทั้งปีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ระดับไม่เกิน 4% โดยคาดว่าในไตรมาส4 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังบรรยากาศทางการเมืองชัดเจนขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นภาคธุรกิจที่จะเข้ามาช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี เพราะในไตรมาสนี้จะเป็นฤดูของการท่องเที่ยวซึ่งนักท่องเที่ยวจะเริ่มทยอยเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.