ระยะ 2-3 ปีหลังมานี้ การแข่งขันของธุรกิจบัตรเครดิตค่อนข้างเข้มข้นดุเดือดกันมากขึ้นทุกขณะ
ไม่ว่าจะเป็นที่ต่างประเทศหรือที่เมืองไทยเอง โดยเฉพาะการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการเข้มงวดกับสินเชื่อบัตรเครดิต
โดยกำหนดเงื่อนไขใหม่ว่าผู้ถือบัตรจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำปีละไม่น้อยกว่า
2.4 แสนบาท หรืออย่างน้อยเดือนละ 20,000 บาทนั่นเอง ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี
2539 นี้เพื่อเป็นการควบคุมการใช้จ่ายในประเทศ และเพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อด้วยนั้น
ทำให้ธุรกิจรายย่อยของธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศต่างได้รับผลกระทบจากนโยบายยังกล่าว
แต่ในส่วนของบัตรเครดิตอเมริกันเอ็กซ์เพรสนั้น ถือว่าไม่กระทบกระเทือนจากมาตรการดังกล่าวแต่อย่างใด
ในเรื่องนี้ โชค ณ ระนอง ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส
(ไทย) จำกัด ชี้แจงให้ฟังว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าบีบวกขึ้นไปอยู่แล้ว
คือ ต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำ 30,000 บาทขึ้นไป
"บางที่เราก็มีจุดลดหย่อนนะ คือ ไปดูองค์ประกอบอื่น ๆ แทน เช่น หากเงินเดือนประมาณ
25,000 - 28,000 บาท แต่มีอาชีพการงานมั่นคง เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก แบบนี้เราก็อนุโลมให้
เพราะการงานมั่นคง ไม่มีการย้ายงานบ่อยเหมือนเอกชนในสาขาอื่น"
โชค เล่าว่า สาเหตุที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้สูงขนาดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายของบริษัทแม่
แต่อีกสาเหตุหนึ่ง คือ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหนี้เสียให้เกิดน้อยที่สุด บริษัทไม่มีนโยบายที่จะขยายตลาดแบบรวดเร็ว
แต่มีปัญหาหนี้เสียตามมาด้วยมากมาย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องมาแก้ในภายหลัง สู้ให้ขยายตัวไปตามควรแต่ไม่มีปัญหาหนี้เสียจะดีกว่า
เพื่อจะเอาเวลาในการติดตามหนี้มาพัฒนาองค์กรในด้านอื่น ๆ
ผู้จัดการฝ่ายการตลาด อธิบายต่อไปว่า ปัจจุบันนี้อเมริกันเอ็กซ์เพรสมียอดสมาชิกทั้งหมด
100,000 ราย มีหนี้เสียประมาณ 1% เท่านั้น และคุมไว้ไม่ให้อัตราหนี้เสียโตกว่านี้
สำหรับในปีหน้าคาดว่า อัตราการเติบโตของสมาชิกบัตรตั้งเป้าไว้ประมาณ 20-30%
และถ้าเป็นไปได้ภายในปี 2540 นี้จะดันยอดสมาชิกให้เพิ่มถึง 150,000 รายให้ได้
สำหรับวิธีการขยายอัตราการเติบโตให้สูงถึงเพียงนี้ โชคยืนยันว่าจะไม่ใช่การลดรายได้ต่อเดือนให้ต่ำกว่า
30,000 บาทแน่ แต่จะใช้วิธีการส่งเสริมการตลาดอย่างอื่น ๆ เช่น การสะสมคะแนนการใช้
หรืออื่น ๆ
"ไม่แน่นะปีหน้าอาจจะเพิ่มก็ได้ว่า ผู้ถือบัตรเราเงินเดือนขั้นต่ำจะต้องสูงกว่า
32,000 บาทก็ได้ เป็นเพียงการพูดคุยกันแต่ยังไม่มีข้อสรุปนะ แค่แนวคิดเฉย
ๆ แต่ปีหน้าจับตาเอเม็กซ์ไว้ให้ดี เราอาจจะมีอะไรดี ๆ ออกมา" โชคกล่าวทิ้งท้าย
แต่ไม่ยอมขยายความ
"เรากลัวเรื่องหนี้เสียมาก เราจะมีเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อดูคุณสมบัติอย่างละเอียดที่สุด
การที่คนทำงานจะมีเงินเดือนประมาณ 30,000 บาทได้อย่างน้อยต้องทำงานมาระยะหนึ่ง
คือ 2-3 ปีถือว่าเป็นผู้ใหญ่มีความรับผิดชอบและมีวินัยในการใช้ชีวิตที่น่าพอใจ
สังเกตได้ว่าผู้ถือบัตรเอเม็กซ์จะเป็นวัยทำงาน อายุประมาณ 25 ปีขึ้นไป"
นั่นเป็นคำกล่าวของพงษ์ทิพย์ เทศะภู ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร
และยังเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับบัตรเครดิตของชมรมธุรกิจบัตรเครดิตด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง
พงษ์ทิพย์ บอกว่า มาตรการควบคุมคุณสมบัติของผู้ทำบัตรเครดิตของแบงก์ชาต
ิจะทำให้ฐานลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ไทยใกล้เคียงกับฐานลูกค้าของอเมริกันเอ็กซ์เพรส
แต่เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะบริษัทมั่นใจในเรื่องจุดแข็ง เรื่องบริการที่ดี
และมีการโปรโมชั่นที่สม่ำเสมอ
"ยิ่งการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ผู้ประกอบการก็ทำงานลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่มีโปรโมชั่นเยอะ
ๆ นี่แทบจะไม่คุ้มทุนกันเลย แต่ไม่ว่าจะไม่คุ้มทุนกันเลย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร
ทางบริษัทก็ต้องบริการลูกค้าให้ดีที่สุด"
ทางด้านของธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งรับผิดชอบในมาตรการนี้ชี้แจงให้ฟังว่า หลังจากที่บังคับใช้มาประมาณ
3-4 เดือนนั้น ผลของมาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าพอใจ
"จากมาตรการดังกล่าวที่ใช้มาตั้งแต่ต้นปีมานี้ ได้ส่งผลต่อปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมของบัตรเครดิตในไตรมาสแรกของปี
2539 นั้นมีจำนวนเพิ่มจากไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาเพียง 23% เท่านั้น
หรือคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่า 830 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใช้ได้ไม่มากเกินไป"
โดยรายละเอียดนั้นเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากการใช้จ่ายภายในประเทศของชาวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยว
และใช้จ่ายในประเทศไทยเป็นจำนวน 9.42 พันล้านบาท ขณะที่ในไตรมาสสุดท้ายของปี
2538 มียอดใช้จ่ายเพียง 7.60 พันล้านบาท
ส่วนการใช้บัตรเครดิตภายนอกประเทศในไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน
โดยมีปริมาณการใช้บัตรเครดิตจำนวน 2.82 พันล้านบาท และ 3.29 พันล้านบาทตามลำดับ
ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน กล่าวว่า อัตราการลดลงจากปริมาณการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรในประเทศหรือแม้แต่อัตราการเพิ่มของบัตรเครดิตที่ชะลอตัวลง
ก็ไม่ได้ทำให้รายได้ของธนาคารพาณิชย์ผู้ออกบัตรต้องลงตามไปด้วย ธนาคารผู้ออกบัตรยังคงมีอัตราการเติบโตของรายได้ใกล้เคียงกันก่อนที่จะนำมาตรการมาใช้
ซึ่งเชื่อว่ายอดใช้จ่ายและจำนวนบัตรจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้