ถึงกาลอวสาน "ริงโทน" มือถือจุดเปลี่ยนดิจิตอลคอนเทนต์"


ผู้จัดการรายสัปดาห์(31 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

*ดิจิตอล คอนเทนต์มือถือถึงจุดเปลี่ยน ผู้ให้บริการปรับตัวผ่าทางตัน
*หมดอายุ "ริงโทน" ผู้บริโภคแห่รับเทรนด์ใหม่ เอ็มพี3
*ราคา ปัจจัยลบ กระตุ้นผู้ใช้ดาวน์โหลดเองแทนซื้อเพลงมีลิขสิทธิ์
*สามารถฯ ปรับบิสซิเนสโมเดลธุรกิจ "โมบาย มัลติมีเดีย" ก้าวสู่ คอนเทนต์ อินดิเกเตอร์ รับตลาดเปลี่ยน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยมีรายงานมูลค่าตลาดดิจิตอลคตอนเทนต์ทั่วโลกในปี 2549 ว่า จะมีมูลค่าถึง 165,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 6.62 ล้านล้านบาท โดยที่คาดการณ์ว่าในปี 2550 ตลาดดิจิตอลคอนเทนต์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 271,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 10.85 ล้านล้านบาท โดยมีความเชื่อว่า คอนเทนต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังมีอัตราเติบโตสูงสุดถึง 66% รองลงมาเป็นอี-เลิร์นนิ่ง 54% และเกม 20%

สำหรับตลาดดิจิตอลตคอนเทนต์ในประเทศไทยนั้น ทางด้านสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งชาติหรือ "ซิป้า" ได้เคยทำการคาดการณ์มูลค่าตลาดในปี 2552 จะมีถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของตลาดซอฟต์แวร์โดยรวม

จากมูลค่าตลาดโลกและตลาดในประเทศไทยดังกล่าว จึงทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างมองเห็นโอกาสที่จะก้าวเข้าไปครอบครองส่วนแบ่งตลาดดังกล่าวให้ได้แต่เนิ่นๆ แต่ทว่า สถานการณ์ตลาดดิจิตอลคอนเทนต์ไทย ณ เวลานี้ กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของตลาดดิจิตอลคอนเทนต์ในการก้าวผ่านทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะตลาดดิจิตอลคอนเทนต์บนมือถือ

"ปีที่แล้วรายได้จากบริการเสริมยังถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเพียง 14% จากรายได้รวม 80,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ในปีนี้คาดว่ารายได้ของบริการเสริมน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาท" สุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจสื่อสารไร้สาย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ "เอไอเอส" ได้กล่าวถึงรายได้จากบริการเสริมของเอไอเอส "โมบายไลฟ์" เอาไว้เมื่อไม่นานมานี้

สะท้อนให้เห็นว่า วันนี้รายได้หลักของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโอเปอเรเตอร์ยังมาจาก "เสียง" เป็นหลัก เนื่องจากขณะที่เอไอเอสเองมีความพยายามผลักดันบริการเสริมมากกว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นที่ให้บริการในตลาดเวลานี้ ก็ยังมีรายได้ไม่ถึง 20% ของรายได้รวม แล้วโอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ คงไม่ต้องพูดถึงรายได้จะเป็นสัดส่วนเท่าไร

ซึ่งทางเอไอเอสเคยประเมินมูลค่าตลาดดิจิตอลคอนเทนต์ในเมืองไทยทั้งตลาดเอาไว้ว่า น่าจะอยู่ระหว่าง 19,000-20,000 ล้านบาท โดยเอไอเอสมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 70% จากผู้ใช้บริการเสริมที่ใช้อยู่เป็นประจำ 2.3 ล้านคน

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดดิจิตอลคอนเทนต์ในประเทศไทยยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน หลังจากที่มีความพยายามเข้ามาสร้างกระแสการบริโภคดิจิตอลคอนเทนต์มากๆ เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว จะเห็นว่า มีผู้ให้บริการดาวน์โหลดคอนเทนต์กระโจนเข้าสู่ตลาดอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่แห่เข้าสู่ธุรกิจนี้เป็นจำนวนมากถึง 20 กว่ารายในตลาด

"ริงโทน" หรือเสียงเรียกเข้า เป็นบริการยอดนิยมที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้มากที่สุด รองลงมาเป็นบริการดาวน์โหลดโลโก้ วอลเปเปอร์และเกม ตามลำดับ

แต่ในวันนี้ เทคโนโลยีบนโทรศัพท์เคลื่อนรุ่นใหม่ๆ ได้พัฒนาขีดความสามารถสูงขึ้น สามารถเล่นเพลงเอ็มพี3 ถ่ายภาพเคลื่อนไหวที่มีคุณภาพสูงขึ้น สามารถเพิ่มหน่วยความจำให้กับเครื่องได้สูงขึ้น ประกอบกับทางผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายถึงฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่มีอยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ จนถึงขั้นร่วมมือกับศิลปินหรือทางค่ายเพลงนำเพลงมาใส่ในเครื่องมากขึ้น จนทำให้เกิดความต้องการบริโภคคอนเทนต์ที่เปลี่ยนไป มีตั้งแต่การดาวน์โหลดคอนเทนต์เองแทนการดาวน์โหลดจากผู้ให้บริการคอนเทนต์หรือคอนเทนต์โพรวายเดอร์เหมือนในอดีต

เมื่อผสมกับบิสซิเนสโมเดลที่ทางโอเปอเรเตอร์ได้ปรับวิธีการแบ่งปันรายได้จากดิจิตอลคอนเทนต์ เดิมโอเปอแตอร์จะมีรายได้ 20-30% ของค่าบริการเปลี่ยนมาเป็น 50% ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

"การปรับโมเดลแบ่งรายได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดิจิตอลคอนเทนต์บนมือถือไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น" แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมท่านหนึ่งสะท้อนภาพปัจจัยลบที่ทำให้ดิจิตอลคอนเทนต์ในประเทศไทยไม่เติบโตมากนักถึงแม้ว่าจะมีการมองว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญมาตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว

ประกอบกับการที่เจ้าของคอนเทนต์โดดเข้ามาเล่นตลาดโดยตรง อย่างบริษัท อาร์.เอส.โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ต่างตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อดูแลคอนเทนต์ที่อยู่ในรูปแบบดิจิตอลโดยตรง และได้มีการร่วมมือทางการตลาดโดยตรงกับโอเปอเรเตอร์ ส่งผลให้คอนเทนต์โพรวายเดอร์ต้องทำการปรับตัวอย่างหนักเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่แตกต่างจากคอนเทนต์ที่มาจากเจ้าของคอนเทนต์โดยตรง

"ผมเชื่อว่า คอนเทนต์ที่เป็นริงโทนจะตาย เนื่องจากวันนี้ ผู้บริโภคสามารถที่จะเลือกคอนเทนต์ที่เป็นเอ็มพี3 ได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดจากผู้ให้บริการอีกต่อไป เดี๋ยวนี้เค้าสามารถเก็บเพลงลงบนการ์ดบันทึกข้อมูลได้ง่าย" สรรค์ชัย เตียวประเสิรฐกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) สะท้อนสภาพตลาดดิจิตอลคอนเทนต์บนมือถือให้ฟัง

สรรค์ชัยยังบอกอีกว่า ยอดการดาวน์โหลดโลโก้และริงโทนลดความนิยมลงอย่างมากในปีนี้ และคาดว่า ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่จะเลิกดาวน์โหลดไปในที่สุด ส่งผลให้มูลค่าตลาดดิจิตอลคอนเทนต์ในปีนี้ลดลงจากปีก่อนถึง 15-20%

ราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดดาวน์โหวดเพลงหดตัวลง สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล ผู้บริหารจากสามารถ ไอ-โมบายได้กล่าวปัจจัยที่ทำให้ยอดดาวน์โหลดริงโทนลดลงอย่างน่าตกใจว่า เป็นผลมาจากการเกิดของค่ายเพลงที่เอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการขายเพลงดาวน์โหลดราคาแพงมาตลอด คิดราคาดาวน์โหลดเพลงละ 30-35 บาท แถมยังไม่เต็มเพลงอีกต่างหาก วันนี้สามารถเดินไปซื้อแผ่นผีราคาไม่กี่ร้อย ได้เพลงอยู่ในมือหลายร้อยเพลง ราคาต่อเพลงที่ได้มีไม่กี่สิบบาท ต่อให้ซื้อแผ่นซีดีถูกต้องมีลิขสิทธิ์ด้วย เฉลี่ยแล้วเตกเพลงละสิบกว่าบาท เมื่อเทียบกับราคาที่ผู้ให้บริการตั้งแล้วดูไม่สมเหตุสมผลที่จะต้องดาวน์โหลด

เมื่อสอบถามถึงทางออกของการให้บริการดิจิตอลคอนเทนต์ในเมืองไทยว่า ควรจะเป็นอย่างไร สรรค์ชัยขยายแนวคิดให้ฟังว่า ราคาขายเต็มเพลงน่าจะอยู่ที่ 12-15 บาทน่าจะเป็นราคาที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้สามารถ ไอ-โมบายกำลังผลักดันแนวคิดนี้อยู่ รวมถึงการติดตั้งซอฟท์แวร์ป้องกันการก็อปปี้ที่ทางค่ายเพลงลิขสิทธิ์นำมาใช้ในการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคส่งต่อเพลง ไม่ควรจะมี เพราะไม่สามารถป้องกันได้ ยิ่งทำให้ผู้ใช้หันไปดาวน์โหลดจากแหล่งให้บริการที่ไม่ถูกต้องเพิ่มขึ้น

"ไม่จำเป็นที่จะต้องป้องกันการก็อปปี้เลย หากเราต้องราคาให้เหมาะสม แทนที่จะผลักให้ผู้ใช้สนใจที่จะทำการใช้คอนเทนต์ที่ไม่ถูกต้องมากกขึ้น ซึ่งตอนนี้ สามารถ ไอ-โมบายได้ใช้แนวคิดนี้กับค่ายเพลงเล็ก 5 ค่ายเพลงแล้ว"

ปรับโมเดล รับทิศทางเปลี่ยน

ล่าสุด บริษัท สามารถอินโฟ มีเดีย จำกัด บริษัทผู้ให้บริการโมบาย มัลติมีเดีย บริษัทในเครือบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ทำการปรับโฉมครั้งใหญ่ ด้วยการเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น บริษัท สามารถ มัลติมีเดีย จำกัดแทน

ประกาศปรับโฉมครั้งใหญ่ ภายใต้ชื่อใหม่ และโลโก้ใหม่ ให้ดูทันสมัย พร้อมตั้งเป้ารุกธุรกิจด้าน Content อย่างครบวงจร เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำในการให้บริการด้าน ContentIntegrator ตั้งเป้าปี 49 ทำรายได้กว่า 600 ล้านบาทพร้อมเปิดตัว Mobile Applicationใหม่จากมันสมองของเด็กไทยในโครงการ Samart Innovation Awards

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ว่า วัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เพื่อให้ดูทันสมัยกระฉับกระเฉง ตอบสนองทุกความต้องการของคนรุ่นใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนจากการให้บริการ คอนเทนต์ โพรวายเดอร์ ก้าวสู่การเป็นคอนเทนต์ อินดิเกเตอร์หรือศูนย์รวบรวมข้อมูลที่ครบครัน และเจาะลึกเฉพาะเรื่องเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประเทศไทยพร้อมมุ่งสู่ตลาดต่างประเทศสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มบริษัทสามารถโดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้รับสินค้าและบริการที่ดีที่สุด

"ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ มีผลประกอบการที่ดีและยังทำรายได้อย่างต่อเนื่องจากธุรกิจการให้บริการข้อมูลในรูปแบบของเสียง "บัก1113 และ บัก1900 โดยเฉพาะคอนเทนต์ที่เกี่ยวอยู่ในกลุ่มบันเทิง เช่น กีฬา เกมหรือหมอดูที่ได้รับความนิยมมาก ส่วนบริการในรูปแบบข้อความและภาพหรือนอนวอยซ์จาก บัก2โมบาย และบัก ฮิตส์ ก็ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยังคงทำรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"

วัฒน์ชัย ยังบอกอีกว่า การปรับโฉมบริษัทฯ จะเป็นการสร้างความมั่นใจและมุ่งมั่นในการทำธุรกิจ โดยตั้งเป้าว่าธุรกิจคอนเทนต์ในปีนี้จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่อันดับ 1 จากภาพรวมของตลาดอยู่ที่ 2,800 ล้านบาทคิดเป็น 22% หรือประมาณกว่า 600 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงบอลโลกที่ผ่านมาสร้างรายได้ให้แก่บริษัทฯ เพียง 1 เดือนมากถึง 50 ล้านบาท"

สำหรับนโยบายทางด้านการตลาดในช่วงครึ่งปีหลังนั้น วัฒน์ชัยบอกว่า จะเริ่มเจาะกลุ่มลูกค้าในต่างจังหวัดมากขึ้น และมุ่งเน้นการเป็นคอนเทนต์ อินดิเกเตอร์ที่ครบครันมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของบริการ บัก1113 จะให้ข้อมูลเชิงลึกเฉพาะเรื่องมากขึ้นโดยจะเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลที่มากที่สุดและให้บริการที่หลากหลายมากกว่าที่ลูกค้าต้องการในรูปแบบของการเซิร์สเอนจิ้น

"เมื่อลูกค้าโทรเข้ามาบอกว่าอยากทานอาหารญี่ปุ่น แถวถนนสีลม เราก็มีข้อมูลให้ลูกค้าสามารถเลือกได้อย่างครบครันทั้งรายชื่อร้านอาหาร เมนู ราคา แผนที่ร้านรวมทั้งโปรโมชั่นของร้านอาหารต่างๆ ในช่วงนั้นและลูกค้าสามารถสั่งจองโต๊ะได้ทันที"

นอกจากนี้ยังมีบริการอื่นๆ ได้แก่ การจองตั๋วหนัง จองโรงแรม บริการเรียกแท็กซี่ ฯลฯ โดยมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของลูกค้า ภายใต้สโลแกน "บัก 1113 ผู้ช่วยให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น" จึงคาดว่าธุรกิจนี้จะโตขึ้นอีกถึง 30% ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2006 นี้

ส่วนบริการ บัก1900 วัฒน์ชัยกล่าวว่า ปีนี้นอกจากจะเน้นคอนเทนต์ในกลุ่มของกีฬา หมอดู เกมและความบันเทิงต่างๆ แล้ว เราได้พัฒนาให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้รวดเร็วมากขึ้นเช่น การบริการรายงานผลฟุตบอลแบบเรียลไทม์แบบลูกต่อลูก รวมทั้งคอนเทนต์ด้านจิตเวชในการเป็นที่ปรึกษาปัญหาต่างๆ ของลูกค้าครบวงจรซึ่งเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ขึ้นลงตลอดเวลา อาทิ สายด่วนเพศศึกษา สายด่วนสุขภาพ สายด่วนจราจร การดูดวง

"บริษัทฯ มีแผนจะขยายการลงทุนในธุรกิจคอนเทนต์ไปสู่ตลาดต่างประเทศ ขณะนี้ประเทศมาเลเซียเป็นประเทศที่เราพร้อมที่สุดที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจนี้ เนื่องจากบริษัท ไอ-โมบาย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดได้เข้าไปก่อตั้งบริษัทลูกในประเทศมาเลเซียภายใต้ชื่อ "บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย (มาเลเซีย) จำกัด" และมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งอย่างเทเลคอม มาเลเซียซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมาเลเซียโดยทางบริษัทได้นำเอาแอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์ใส่ลงไปในเครื่องโทรศัพท์ ไอ-โมบายโดยคอนเทนต์ที่นำไปใส่จะต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรม และความเหมาะสมของในแต่ละประเทศนั้นๆ

สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่คาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจด้านคอนเทนต์เติบโต วัฒน์ชัยบอกว่า การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นทำให้รูปแบบของการบริโภคอาจเปลี่ยนแปลงไป เห็นได้จากการที่บริษัทผู้ผลิตมือถือชั้นนำต่างๆ ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรองรับระบบโทรศัพท์ยุค 3จีหรือรองรับแอปพลิเคชั่นในรูปแบบของนอน-วอยซ์มากขึ้น อาทิ เอ็มเอ็มเอส ดิจิตอล วิดีโอ บรอดคาสติ้ง รวมถึงแนวโน้มของโมบาย อินเทอร์เน็ตที่มีความนิยมใช้มากขึ้นทำให้มือถือสามารถใช้งานได้มากขึ้นอย่างไม่มีขอบเขต ส่งผลให้บริการด้านข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้ใช้งานสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ และสามารถรับรู้ข่าวสารที่สำคัญได้อย่างทันท่วงทีสิ่งเหล่านี้จะส่งผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจด้านคอนเทนต์อย่างแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.