|
แฉเส้นทางผลประโยชน์”สุวรรณภูมิฯ”เปิดช่องแก้กฎหมายเอื้อนายทุน
ผู้จัดการรายสัปดาห์(31 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เปิดโปงกระบวนการงาบผลประโยชน์จากร่างพ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานคร แฉเส้นทางผลประโยชน์ แก้กฎหมายตามใจชอบ เอื้อกลุ่มทุนการเมือง –พรรคพวก เครือญาตินักการเมือง เผยมีเมืองไทยแห่งเดียวในโลกที่เอาเมืองไปล้อมสนามบิน ขณะที่ต่างประเทศย้ายสนามบินออกจากเมือง
เปิดโปงกระบวนการงาบผลประโยชน์ร่างพรบ.สุวรรณภูมิมหานคร ให้อำนาจกลุ่มทุนการเมือง-พรรคพวกล้นฟ้า เปิดทางแก้กฎหมายตามใจชอบ นักวิชาการหวั่นผังเมืองกรมโยธาฯ ถูกเปลี่ยน เอื้อประโยชน์ให้บางกลุ่ม ชี้เอาเมืองล้อมสนามบินไม่เหมาะสม
แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะยังอยู่ในภาวะสุญญากาศ แต่การทำงานของคณะรัฐมนตรีก็ไม่ใช่ว่าจะถูกชะงักลงไปทั้งหมด โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ยังถูกนำขึ้นมาพิจารณาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า โดยมารยาทรัฐบาลรักษาการมักจะไม่ค่อยอนุมัติโครงการขนาดใหญ่
แต่การยกระดับพื้นที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิยังถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพราะเป็นโครงการเร่งด่วน ต้องมีการควบคุม ก่อนที่การใช้ประโยชน์ในที่ดินจะไม่เหมาะสมหรือเติบโตแบบไร้ทิศทาง
ดังนั้น ร่าง “พรบ.สุวรรณภูมิมหานคร” จึงถูกหยิบยกขึ้นมาดำเนินการต่อ ท่ามกลางความเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย จากหลายส่วน ทั้งหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน ทั้งที่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง
รอกฤษฏีกาตีความ
โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะจัดตั้งบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเขตการปกครองพิเศษ ซึ่งผ่านการที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งร่างเพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา
สำหรับขอบเขตที่ ร่างพรบ.สุวรรณภูมิมหานครจะมีผลบังคับใช้ คือ บริเวณพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ ครอบคลุมเขตลาดกระบัง ประเวศ ของ กทม. และ อำเภอบางพลี กิ่งอำเภอบางเสาธง จ.สมุทรปราการ โดยจะมีการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นของตนเอง ไม่ขึ้นกับส่วนกลางหรือกระทรวงมหาดไทย เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการบริหารจัดการ ในฐานะที่จะมีบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่งในอนาคตไม่แพ้ กทม. ซึ่งเป็นเมืองหลวงแต่อย่างใด แต่ใครจะรู้บ้างว่าการแยกตัวออกเป็นเขตการปกครองพิเศษนั้น จะกลายเป็นช่องทางให้เกิดการคอร์รัปชั่นมโหฬารได้อย่างสบาย
ชี้ตั้งสภาที่ปรึกษาแทรกการเมือง
ร่างพรบ.สุวรรณภูมิมหานคร ได้ระบุไว้ว่า ให้มี “สภาสุวรรณภูมิมหานคร นายกสุวรรณภูมิมหานคร และสภาที่ปรึกษา” เป็นผู้บริหารจัดการ สำหรับ “สภาที่ปรึกษา” ถือว่าเป็นข้อที่น่ากังขาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่ง สัก กอแสงเรือง รักษาการสมาชิกวุฒิสภา กทม. กล่าวว่า “สภาที่ปรึกษา ไม่เคยถูกกำหนดให้มีขึ้นมาก่อนในการบริหารราชการท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือ พัทยา อีกทั้งยังมีที่มาจากการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีส่วนกลาง และมีอำนาจในการให้คำปรึกษา จนอาจกลายเป็นการแทรกแซงฝ่ายบริหาร เป็นช่องทางให้เกิดการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการแสวงหาประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากฝ่ายสภาที่ปรึกษา ฝ่ายบริหาร และฝ่ายรัฐมนตรีเป็นคนพวกเดียวกัน”
หากจะมองในแง่ของการใช้ประโยชน์ที่ดินก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะหากร่าง พรบ.สุวรรณภูมิมหานครมีการอนุมัติบังคับใช้ จะทำให้ฝ่ายบริหารสามารถยกเลิก แก้ไขกฎหมายต่างๆ ได้ทั้งหมด รวมทั้งสามารถกำหนดผังเมืองขึ้นใช้ได้เองด้วย โดยไม่ต้องอาศัยผังเมืองที่มาจากส่วนกลางกำหนด คือ กรมโยธาธิการและผังเมืองแต่อย่างใด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเมืองตามมามากมาย เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความแออัดของเมือง ไม่ต่างจากสิ่งที่ กทม. เป็นอยู่ในทุกวันนี้
แฉช่องทางตักตวงผลประโยชน์
สำหรับเนื้อหาของผังเมืองโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิที่วางแผนโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองนั้นกำหนดให้เป็น “เมืองน้ำ” สามารถใช้ประโยชน์พื้นที่ได้เพียง 30% ที่เหลืออีก 70% จะเป็นพื้นที่รองรับน้ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่ม ใช้ในการรับน้ำจาก กทม. ก่อนระบายออกสู่อ่าวไทย ซึ่งหาก อนาคต ร่างพรบ.สุวรรณภูมิมหานครมีผลบังคับใช้ แน่นอนว่าผังเมืองของกรมโยธาธิการฯจะต้องถูกยกเลิกไปด้วย หันมาใช้ผังเมืองฉบับที่ร่างขึ้นเอง กลายเป็นช่องทางที่จะเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนเข้ามากำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามอำเภอใจเพื่อตักตวงผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียต่อเมืองในแง่ของสิ่งแวดล้อม และปัญหาน้ำท่วมของ กทม. จากการที่มีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำในเขตสุวรรณภูมิ
ขณะที่ต่อตระกูล ยมนาค อดีตกรรมการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมฯ และอดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “พื้นที่หนองงูเห่าก่อนที่จะมีการพัฒนาเป็นสนามบิน เป็นพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) ตามโครงการพระราชดำริของในหลวง ไม่เหมาะที่จะนำมาสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ซึ่งจะเป็นการขวางทางน้ำ และทราบมาว่าหาก ร่างพรบ.สุวรรณภูมิมหานครมีผลบังคับใช้ ก็มีการร่างผังเมืองเฉพาะเตรียมเอาไว้แล้ว ซึ่งจะเป็นการยกเลิกการบังคับใช้ผังเมืองของกรมโยธาธิการฯ ทันที ซึ่งในความเป็นจริงผังเมืองของกรมโยธาธิการฯ เป็นผังที่ถูกออกแบบมาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการอยู่แล้ว ในขณะที่ผังเมืองสุวรรณภูมิเป็นผังที่ออกแบบมาเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน ตัวอย่างเช่น ด้านข้างถนนไฮเวย์อนุญาตให้มีอาคารพาณิชย์ได้”
ใช้เงินภาษีเพิ่มมูลค่าเพิ่มที่ดิน
“นอกจากนี้ ผังเมืองดังกล่าวยังมีการระบุให้แก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการให้กรมชลประทาน ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำการขุดแม่น้ำเจ้าพระยา 2 ความยาว 15 กิโลเมตร เพื่อเป็นทางระบายน้ำ โดยใช้งบประมาณถึง 84,000 ล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นการบุกเบิกที่ดินใหม่ริมแม่น้ำ คาดว่าหากมีการขายที่ดินดังกล่าวจะได้เงินถึง 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง แต่เป็นการทำเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ที่ดินของคนบางกลุ่ม” ต่อตระกูล กล่าวเสริม
ด้าน นวพร เรืองสกุล นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “ขณะนี้รัฐบาลกำลังผิดวัตถุประสงค์ว่าต้องการเมือง หรือต้องการตัวสนามบิน เพราะขณะนี้ดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างจะมุ่งไปสู่การสร้างพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิให้เป็นเมืองใหม่ล้อมรอบสนามบิน ผิดกับในต่างประเทศที่สนามบินจะต้องอยู่ห่างจากเมืองให้มากที่สุด เพื่อป้องกันปัญหามลพิษต่างๆ จากกิจกรรมของสนามบิน โดยมีระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมจากเมืองเข้าไปยังตัวสนามบินเท่านั้น ซึ่งจะทำให้การวางแผนระบบขนส่งมวลชนมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวเท่านั้น คือ ในเมือง”
แต่หากมีการพัฒนาเป็นเมืองล้อมรอบสนามบินแล้ว ความเป็นเมืองจะเป็นกลไกที่บังคับให้การวางแผนระบบขนส่งมวลชนจะต้องสามารถกระจายคนให้ไปสู่หลายๆ จุดหมายได้ หมายถึงการต้องตัดถนนอีกหลายสาย ซึ่งเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนมาลงทุนด้านสาธารณูปโภคมหาศาลเพื่อเอื้อประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าที่ดินของคนบางกลุ่มเท่านั้นก่อนที่จะมีการเปลี่ยนมือไปยังคนนอก แต่ประชาชนกลับเป็นฝ่ายสูญเสีย เพราะภาษีดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|