ต่างชาติแจง "3ปัจจัย"กระทบลงทุนญี่ปุ่นชี้ช่องดัน FTAกระตุ้นตลาด!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(31 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สุริยะปรับรูปแบบการขอรับการลงทุนพร้อมยกเครื่องการพัฒนาแรงงาน ด้าน BOI เชื่อเม็ดเงิน FDI ไม่หายตั้งเป้า 800,000 ล้านบาทเท่าเดิม ด้านต่างประเทศชี้ ปัจจัยนักธุรกิจถอยหนีลงทุนไทย ปัญหาการเมืองไม่แน่นอนอันดับ 1 รองลงมาคือแรงงานไทยสู้เวียดนามและ มาเลเซียไม่ได้ ญี่ปุ่นแนะไทยขยาย FTA กับอินเดียได้ลูกค้าญี่ปุ่นเพิ่มแน่

ไทยปรับกลยุทธ์ดึงนักลงทุน

สุริยะ จึงรุ่งเรือง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า จะมีการปรับปรุงรูปแบบการดึงดูดความสนใจนักลงทุนโดยการเลือกที่จะไม่แข่งเรื่องค่าแรงแรงงานให้ราคาถูกอีกต่อไป เพราะประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันเรื่องค่าแรงกับทางเวียดนามได้ ดังนั้นไทยจึงต้องสร้างจุดเด่นในเรื่องการผลิตแรงงานที่มีคุณภาพในระดับสูง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระดับสูงในอนาคต นอกจากนี้จะจัดทำโมเดลอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และเลือกส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยมีความได้เปรียบ ซึ่งตอนนี้ไทยได้เปรียบประเทศภูมิภาคในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และระบบคมนาคมขนส่ง ทางภาครัฐจึงต้องพยายามผลักดันจุดเด่นเรื่องเหล่านี้ให้โดดเด่นขึ้นมาให้ได้

อีกทั้งการให้สิทธิพิเศษของทาง BOI จะมีรูปแบบการให้สิทธิพิเศษที่มีความเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น โดยจะเน้นการส่งเสริมที่ส่งเสริมระบบอุตสาหกรรมทั้งระบบและก่อให้เกิดผลดีกับไทยมากที่สุดก่อน ดังนั้นในอุตสาหกรรมเดียวกันถ้าให้ประโยชน์ต่อประเทศชาติไม่เท่ากันก็จะได้รับการสนับสนุนแตกต่างกันไปด้วย รวมถึงการปรับปรุงสาธารณูปโภค ซึ่งจะต้องให้ความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะจากการาสอบถามความคิดเห็นนักลงทุนญี่ปุ่นยังมีความคิดเห็นว่านักลงทุนจากประเทศไทยน่าลงทุนอยู่

"ตอนนี้เราจะปรับตำแหน่งของประเทศ ไม่ใช่แค่ขายแรงงานถูกๆ แต่ต้องสร้างแรงงานให้กับอุตสาหกรรมระดับสูง ซึ่งรูปแบบอุตสาหกรรมที่จะได้รับการสนับสนุนในอนาคตก็จะเป็นอุตสหกรรมที่ใช้ความรู้ระดับสูง ด้วย ดังนั้นประเทศไทยจะไม่แข่งขันกันด้านราคากับเหล่าประเทศเพื่อนบ้านกันอีกต่อไป " สุริยะกล่าว

มั่นใจไม่มีย้ายฐานการผลิต

อย่างไรก็ตามสำหรับมุมมองของ สาธิต ศิริรังคมานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า แม้จะมีข่าวว่าทาง บ. ซีเกท และ บ.อินเทลได้ย้ายไปตั้งโรงงานใหม่ที่ประเทศเวียดนามและสิงคโปร์ นั้น สาธิต กล่าวว่า ไม่ถือว่าเป็นการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากระบบโรงงานนั้นจะมีรูปแบบการผลิตที่แตกต่างกันไป ซึ่งต้องใช้ความต้องการรูปแบบแรงงานที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย ดังนั้นสถานการณ์ของซีเกทและอินเทลจึงไมถือว่าเป็นการย้ายการผลิตแต่เป็นการเลือกการลงทุนใหม่

อย่างไรก็ตามทาง บีโอไอมั่นใจว่า ภายในสิ้นปีนี้ทางบีโอไอจะมีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างแน่นอน 500,000 ล้านบาท ไว้ทั้งนี้ในครึ่งปีแรก มีมูลค่าการขอรับการลงทุนอยู่ที่ 180,000 ล้านบาท ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง จะได้มีผู้เข้ามารับการขอการลงทุนจากกลุ่มอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี และอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัวสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วอย่างมาก ทำให้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายจะสามารถได้เป้าอย่างที่ต้องการ และในส่วนที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมเป้าก็คาดว่าจะได้เม็ดเงินเพิ่มขึ้นอีก 600,000- 700,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ได้อย่างแน่นอน นอกจากนั้นทางบีโอไอก็เตรียมที่จะปรับรูปแบบสิทธิประโยชน์ใหม่ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมบริการและโลจิสติกส์อีกด้วย

ญี่ปุ่นแนะไทยเพิ่ม FTA ไทย-อินเดีย

เท็ตซิจิ บันโน่ ประธานหอการค้าญี่ปุ่นกรุงเทพฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการที่จะยังอยู่ในเมืองไทยต่อไป 75% ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ และจะยังคงดำเนินงานต่อไป ในกลุ่มอุตสาหกรรม ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัท โตโยต้า นิสสัน แต่สำหรับ ผู้ประกอบการรายเล็ก (SME's) และนักลงทุนรายใหม่ ประมาณ 25% จะมีการชะลอการตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย อันเนื่องจากเหตุผลทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย พบว่านักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศมีแผนดำเนินกิจการส่งออกไปยังอินเดียมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมเครื่องจักรที่ใช้ในการขนส่ง อีกทั้งบริษัทที่มีแผนที่จะส่งออกในอนาคตก็มองตลาดอินเดียมากกว่าประเทศจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเคมีที่คาดว่าจะมีอัตราการส่งออกในอนาตตในสัดส่วงที่สูงมากขึ้น ดังนั้นถ้าไทยต้องการที่จะสร้างแรงดึงดูดใจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นมากขึ้น การขยายขอบเขตการทำสัญญา FTA ระหว่างไทยและอินเดียนั้นก็น่าจะสร้างแรงดึงดูดให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาในไทยได้อย่างดี

ชี้แรงงานไทยตัวฉุด FDI

มร.ปีเตอร์ จอห์นแวนฮาเลนประธานหอการค้าต่างประเทศ ในประเทศไทยกล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังเสื่อมลง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน มีความกระตือรือร้นสูงมากในการหาผู้ลงทุนต่างชาติเข้าประเทศของตนเอง ซึ่งนับว่ามีการแข่งขันกันสูงมากเมื่อเทียบกับ 3-4 ปีที่แล้ว ซึ่งปัจจัยลบของไทยมีตั้งแต่ ปัญหาการเมืองที่ยังไม่มีทิศทางที่แน่นอน ที่ผ่านมาเป็นรัฐบาลรักษาการมาโดยตลอดซึ่งทำให้กระทบต่อการดำเนินนโยบาย ที่สำคัญๆอย่าง เมกะโปรเจ็กท์และเอฟทีเอ ซึ่งทำให้นักลงทุนต้องชะลอการลงทุนออกไป การไม่คืบหน้าของทั้ง 2 โครงการเหล่านี้ทำให้นักลงทุนที่กำลังจะขยายการลงทุน และนักลงทุนหน้าใหม่ที่อยากจะเข้ามาลงทุนในเมืองไทย ต้องชะลอการลงทุนออกไป หรือมองหาฐานการผลิตจากประเทศอื่น เช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม

อย่างไรก็ตามคาดว่าปัญหาเรื่องการเมืองจะผ่านพ้นไปด้วยดี เพราะกำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม ปีเตอร์คาดว่า การได้รัฐบาลใหม่ จะช่วยเช้ามาลดความซับซ้อนในการทำงานเรื่องการส่งเสริมการลงทุนได้ ขณะนี้นักลงทุนจากต่างประเทศมีความสับสนในการเข้าหาเจ้าหน้าที่เพื่อรับการส่งเสริมการลงทุนว่าจะต้องไปที่ บีโอไอ กระทรวงพาณิชย์หรือว่า ทางสำนักตัวแทนการค้าไทย กันแน่

ส่วนปัญหาสำคัญรองลงมาซึ่งทำให้ทาง ซีเกท ไปตั้งโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สิงคโปร์ ก็เพราะเรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆประสบกับปัญหาการขาดแคลน วิศวกร โปรแกรมเมอร์มาก ในอดีตไทยเคยมีแรงงานที่มีความรู้และมีค่าแรงที่แข่งขันได้ แต่ตอนนี้ไทยขาดแรงงานที่มีความรู้อีกทั้งค่าแรงของไทยก็อยู่ในราคาที่สูงทำให้แข่งขันได้ยาก เมื่อเทียบกับเวียดนาม กระทั่งมาเลเซีย ดังนั้นนอกจากปัญหาเรื่องการเมืองแล้วปัญหาที่สำคัญอย่างมากในการย้ายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านของไทยก็คือ ปัญหาแรงงาน

"ตอนนี้ต่างชาติมองเวียดนาม มาเลเซียกันเพราะค่าแรงเขาถูกแถมแรงงานมีความรู้ภาษาอังกฤษมากกว่าไทย" มร.ปีเตอร์กล่าว

นักลงทุนอินเดียเชื่อการเมืองยังไม่วิกฤติ

สำหรับความคิดเห็นของนักลงทุนชาวอินเดีย ดีพาค มิททัล กรรมการและประธานบริหาร กลุ่มอุตสาหกรรมเบอร์ล่า กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการเมืองของไทยยังไม่ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนชาวอินเดียนัก เพราะชาวอินเดียส่วนใหญ่ลงทุนในเมืองไทยมานานและพอจะมองปัญหาออกและมั่นใจจะคลี่คลายได้ จึงได้มีการชะลอการลงทุนออกไปสำหรับโครงการใหม่ๆ แต่สำหรับการลงทุนต่อเนื่องก็คงจะมีการลงทุนต่อไปเพราะได้มีการศึกษาล่วงหน้ามาก่อนแล้ว 6-12 เดือน จึงคาดว่าถ้าการเมืองไม่มีปัญหา และมีการเลือกตั้งใหม่ นักลงทุนอินเดียก็จะตัดสินใจลงทุนได้ทันที

ปัจจุบัน นักลงทุนอินเดียมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่ผ่านมาได้มีการปิดตัวของโรงงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปแล้วหลายบริษัท อันเนื่องมาจากการขาดแคลนแรงงาน นอกจากนั้นโครงการเมกกะโปรเจกท์และ เอฟทีเอที่จะดึงนักลงทุนเข้ามาเพิ่มก็มีการชะลอตัวลงไป ทางนักธุรกิจอินเดียจึงหวังว่าจะเห็นภาพความชัดเจนขึ้นภายในปี 2549 นี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.